The Prachakorn

ความเปราะบางด้านเศรษฐกิจและการรับมือของครัวเรือนไทย-มุสลิมที่มีแรงงานกลับจากประเทศมาเลเซียช่วงวิกฤตโควิด-19


สุชาดา ทวีสิทธิ์

13 กุมภาพันธ์ 2567
201



ปัญหาฐานทรัพยากรในท้องถิ่นที่เสื่อมโทรมและไม่ได้รับการฟื้นฟู ทำให้การดำรงชีพวิถีเดิม เช่น ประมง ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ทำนา สร้างรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ อีกทั้งสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ทำให้ประชาชนทำมาหากินลำบาก ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ไปหางานทำในมาเลเซียเพิ่มขึ้นแต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ตามมาด้วยมาตรการปิดพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซียถึงสองรอบ ทำให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในมาเลเซียต้องเดินทางกลับบ้าน เมื่อปลายปี 2564 เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานว่า มีแรงงานไทยในมาเลเซียที่เดินทางกลับบ้านมากกว่าสามหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทย-มุสลิม ที่มีภูมิลำเนาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้1

สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมีโอกาสทำการศึกษาถึงความเปราะบาง ผลกระทบ ตลอดจนวิธีการรับมือ และโอกาสการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย-มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ที่มีแรงงานย้ายถิ่นกลับจากมาเลเซียในช่วงดังกล่าว2 โดยเก็บข้อมูล ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน 2565 ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่ายจากฐานข้อมูลแรงงานไทย-มุสลิมที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ ศอ.บต. ผสมผสานกับการค้นหาครัวเรือนที่เข้าเกณฑ์ในพื้นที่ ได้ครัวเรือนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 649 ครัวเรือน การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณใช้การสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือน และสมาชิกในครัวเรือนที่เป็นแรงงานกลับบ้านครัวเรือนละ 1 คน ด้วยแบบสอบถาม ส่วนการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกแรงงานหรือหัวหน้าครัวเรือน จังหวัดละ 20 คน รวมทั้งหมด 60 คน

ผลการศึกษาในภาพรวม พบว่า ปัจจัยทางประชากร ได้แก่ จำนวนปีการเข้าเรียนในระบบการศึกษาสายสามัญที่ไม่ใช่โรงเรียนปอเนาะของหัวหน้าครัวเรือน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุระหว่าง 0-17 ปี จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 61 ปีขึ้นไป จำนวนสมาชิกที่หารายได้เข้ามาในครัวเรือน การไม่มีงานทำของแรงงานกลับจากมาเลเซีย การพึ่งพารายได้จากเงินส่งกลับของแรงงานไปมาเลเซีย และการมีงานทำนอกภูมิลำเนาของแรงงานกลับบ้าน มีความสัมพันธ์กับภาวะความยากจนของครัวเรือน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ครัวเรือนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 80 พึ่งพาเงินที่แรงงานไปมาเลเซียส่งกลับบ้าน เมื่อแรงงานกลับมาช่วงโควิด-19 รายได้ของครัวเรือนก็ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จาก 22,659 บาท เหลือ 11,242 บาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย บางครัวเรือนพบว่า รายได้ที่เคยมีหายไปทั้งหมด ขณะที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19 ครัวเรือนที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 77

เกือบหนึ่งในสามของครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับซื้ออาหาร เพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้หญิงมีเงินไม่เพียงพอสำหรับซื้ออาหารในสัดส่วนที่สูงกว่าหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นผู้ชาย ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีเงินชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 50 โดยครัวเรือนในเขตชนบทไม่มีเงินใช้หนี้ในสัดส่วนที่มากกว่าเขตเมือง

ในระดับบุคคล พบว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของแรงงานที่กลับบ้านว่างงาน/ไม่มีงานทำ เหตุผลหลักมาจากต้องการรอกลับไปทำงานในมาเลเซีย แรงงานกลับบ้านเพศหญิงว่างงานในสัดส่วนที่สูงกว่าเพศชาย

ครัวเรือนรับมือกับรายได้ที่หายไปในหลากหลายวิธี ที่พบมากที่สุดคือการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง รองมาคือการนำเงินออมมาใช้ ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้ชายนำเงินออมมาใช้จ่ายในสัดส่วนที่มากกว่าครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเป็นผู้หญิง

ผลการวิจัยสะท้อนว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนส่งผลต่อเศรษฐกิจครัวเรือนอย่างมาก ครัวเรือนที่พึ่งพารายได้จากแรงงานข้ามพรมแดนเป็นหลักมีความเปราะบางต่อผลกระทบของภาวะวิกฤตลักษณะนี้มากทีเดียว การให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น โครงการให้เงินชดเชยรายได้จึงมีความจำเป็นแต่ควรปรับปรุงระบบให้ครัวเรือนของแรงงานไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ สามารถเข้าถึงสวัสดิการและโครงการเงินชดเชยรายได้อย่างทั่วถึง ส่วนในระยะยาวจำเป็นต้องฟื้นฟูฐานทรัพยากรในท้องถิ่น สร้างทางเลือกใหม่ด้านอาชีพให้หลากหลาย และขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ที่สำคัญควรทำให้ท้องถิ่นเป็นโครงข่ายทางเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแรง สามารถรองรับภาวะวิกฤตใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้


รูป: พนักงานสัมภาษณ์กำลังสอบถามข้อมูลจากแรงงานย้ายถิ่นกลับ
รูปโดย: พนักงานสัมภาษณ์ของโครงการฯ


1 เป็นสถิติของแรงงานที่มาขึ้นทะเบียนไว้กับ ศอ.บต. เพื่อขอรับความช่วยเหลือ ยังไม่รวม แรงงานไทย-มุสลิม ที่เดินทางกลับบ้านโดยไม่ผ่านด่านถาวร และไม่ได้ไปขึ้นทะเบียน ไว้กับ ศอ.บต.
2 โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th