The Prachakorn

แนวโน้มการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์ของประเทศไทย ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

15 กุมภาพันธ์ 2567
170



บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลงโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์ของประเทศไทย ระหว่างปี 2557 และปี 2565 ซึ่งเป็นงานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ที่เปรียบเทียบและประเมินความถี่ของการโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพทางโทรทัศน์ โดยบันทึกรายการโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์สองแห่งที่มีเรตติ้งสูงสุด ในเดือนมีนาคม ปี 2557 และเดือนพฤษภาคม ปี 2565 โดยในแต่ละเดือนเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 7.00-9.00 น. และเวลา 15.00-19.00 น. และวันจันทร์ถึงวันศุกร์บันทึกรายการโทรทัศน์ตั้งแต่ 15.00-19.00 น. และวิเคราะห์โฆษณาที่ปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าว แบ่งโฆษณาออกเป็น 2 ประเภท คือ โฆษณาที่ไม่ใช่อาหาร และโฆษณาอาหาร จากนั้นแบ่งโฆษณาอาหารออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (เกรด A) อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพปานกลาง (เกรด B) และอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมาก (เกรด C)

ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2557 จากโฆษณา 1,128 เรื่อง มีโฆษณาอาหาร จำนวน 475 เรื่อง ซึ่งเป็นโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมาก (เกรด C) จำนวนมากถึง 405 เรื่อง เฉลี่ยการโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมาก (เกรด C) จำนวน 6 เรื่องต่อชั่วโมง ขณะที่โฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพปานกลาง (เกรด B) เฉลี่ย 0.2 เรื่องต่อชั่วโมง และโฆษณาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (เกรด A) เฉลี่ย 0.8 เรื่องต่อชั่วโมง ในขณะที่ปี 2565 มีโฆษณาทั้งหมด 2,529 เรื่อง เป็นโฆษณาอาหาร 659 เรื่อง โดยเป็นโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมาก จำนวน 588 เรื่อง (เกรด C) เฉลี่ย 9 เรื่องต่อชั่วโมง โฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพปานกลาง (เกรด B) เฉลี่ย 0.7 เรื่องต่อชั่วโมง ขณะที่โฆษณาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (เกรด A) เฉลี่ย 0.4 เรื่องต่อชั่วโมง1 (แผนภูมิ 1-2)

แผนภูมิ 1: จำนวนประเภทโฆษณา ปี 2557 และ 2565

แผนภูมิ 2: จำนวนโฆษณาอาหาร 3 กลุ่ม ปี 2557 และ 2565

จากการศึกษา พบว่า โฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมาก (เกรด C) ออกอากาศเฉลี่ยต่อชั่วโมงถี่กว่าโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพปานกลาง (เกรด B) และโฆษณาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (เกรด A) เป็นอย่างมาก และจำนวนโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในปี 2565 ยังสูงกว่า ปี 2557 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพของทั้ง 2 สถานี ทั้งสองช่วงเวลาของการสำรวจ มีการโฆษณาถี่ที่สุดทั้งในวันหยุดสุดสัปดาห์ตั้งแต่เวลา 7.00-9.00 น. และวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ชมเป็นเด็กอายุ 6-14 ปี มากที่สุดอีกด้วย

ผ่านมาเกือบ 10 ปี การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มทางโทรทัศน์ของไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งมีการโฆษณาถี่ที่สุดในทั้งสองปีของการสำรวจ โฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมีความถี่ในการออกอากาศสูง และยังปรากฏในช่วงเวลาที่เด็กดูโทรทัศน์มากที่สุด ถึงแม้ว่า พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของเด็กในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ผลการศึกษาดังกล่าว ก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพจะยังคงนำเสนอสินค้าดังกล่าว ด้วยความถี่ที่สูงขึ้น และตรงกับสื่อที่เด็กเลือกเปิดรับสารมากที่สุด ดังนั้น เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กไทย กระทรวงสาธารณสุข จึงควรเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมความถี่ของโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกับการเปิดรับสื่อในปัจจุบันอย่างเร็วที่สุด


เอกสารอ้างอิง

  1. Jindarattanaporn., N., Kelly., B., & Phulkerd., S. (2023). A comparative analysis of unhealthy food and beverage television advertising to children in Thailand, between 2014 and 2022. Globalization and Health, in press. doi:https://doi.org/10.1186/s12992-023-01007-7

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th