The Prachakorn

สร้างรักแท้ด้วยทฤษฎีเกม


ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์

14 กุมภาพันธ์ 2567
326



คุณเคยอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องชั่งใจเลือกอะไรบางอย่างบ้างไหม คือ เราจะใช้หลักการในการตัดสินใจเลือกหรือ ไม่เลือก อย่างไร แล้วผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปอย่างที่คุณคาดหวัง แต่จะดีกว่าไหม? ถ้าหากการตัดสินใจของเราในแต่ละครั้ง ทำให้เราไม่นึกย้อนกลับมาเสียใจภายหลัง ผมอยากให้ลองใช้ game theory หรือทฤษฎีเกม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของตนเองในทุกๆ เรื่อง รวมถึงการตัดสินใจในเรื่องของความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดความสัมพันธ์ในรูปแบบที่คุณต้องการ หรือการเลือกคู่ที่ตรงกับความต้องการของตนเอง

ทฤษฎีเกม เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดระหว่างบุคคล ซึ่งได้ผสมผสานหลักคิดจากศาสตร์ต่างๆ ทั้งคณิตศาสตร์ จิตวิทยา และปรัชญา มาประยุกต์เป็นกระบวนการคิดในการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ตัดสินใจยากลำบาก ซึ่งการตัดสินใจอย่างไตร่ตรองนั้นจะทำให้เราได้รับประโยชน์แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ได้รับผลตอบแทนน้อยก็ตาม ตามทฤษฎีนี้ ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ลำบากใจของนักโทษ (the prisoner’s dilemma) ซึ่งเป็นตัวอย่างสุดคลาสสิคในการอธิบายเกี่ยวกับการคิดเชิงกลยุทธ์ตามทฤษฎีเกม สถานการณ์ที่ว่านี้ ยกตัวอย่างกรณีการสืบสวนเพื่อให้ได้รับคำสารภาพจากผู้ต้องหาภายในห้องสืบสวน ภายในห้องที่ถูกจับแยกผู้ต้องหาคนละห้อง สถานการณ์นี้เราไม่รู้เลยว่าอีกฝ่ายจะเลือกสารภาพหรือเงียบ ผู้ต้องสงสัย 2 คนที่ก่อคดีก่อคดีอาชญากรรมต้องตัดสินใจเลือกว่าตนเองจะสารภาพ หรือ เลือกที่จะเงียบดี   ถ้าต่างฝ่ายต่างเงียบ ทั้งคู่จะได้ประโยชน์จากการพ้นผิดหรือแค่จำคุกในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าทั้งสองต่างสารภาพ นักโทษทั้งสองก็จะถูกจำคุกเป็นเวลานาน แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งเงียบ อีกฝ่ายสารภาพ คนที่เงียบจะถูกจำคุกไปอีกนาน ส่วนคนที่สารภาพจะรอดคุก

ในสถานการณ์เช่นนี้ กลยุทธ์ที่ดีที่สุด ถ้าหากผู้ต้องหาร่วมมือกันวางแผนกันมากก่อน กล่าวคือ แทนที่ต่างฝ่ายต่างเงียบหรือไม่รับสารภาพทั้งคู่ หรือทางเลือกที่ตัดสินใจเลือกคำตอบเดียว แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้ต้องสงสัยต่างกลัวว่าอีกฝ่ายจะสารภาพถ้าหากตนเองเงียบ และต่างไม่มั่นใจว่าอีกฝ่ายจะไม่สารภาพหรือปิดปากเงียบ ดังนั้น การตัดสินใจที่มีเหตุผลที่สุดจากมุมมองผลประโยชน์ส่วนตนคือ การรับสารภาพ แม้ว่าผลลัพธ์ภาพรวมที่ออกมาจะไม่ดีก็ตาม ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนักโทษแบบที่ว่ามานี้ บุคคลจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดถ้าหากเป็นคนที่หักหลังอีกฝ่ายหนึ่งแทนที่จะให้ความร่วมมือกัน ทฤษฎีเกมดังกล่าวถูกนำไปใช้ในสถานการณ์ทางสังคมหรือในชีวิตของบุคคลในทุกๆ ด้าน ขึ้นอยู่กับความต้องการผลลัพธ์ของแต่ละฝ่าย

ทฤษฎีเกมสำคัญอย่างไร กับเกมแห่งความสัมพันธ์

จุดเน้นของทฤษฎีเกม คือ การจำลองของสถานการณ์โต้ตอบที่มีเหตุผลระหว่างผู้เล่นมากกว่าสองคนขึ้นไป ความสำเร็จของการเล่นเกมคือการเลือกการตัดสินใจที่ตนเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่ผู้เล่นอีกฝ่ายใช้     ในมิติของความรักความสัมพันธ์ ทฤษฎีเกมใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมคู่ความสัมพันธ์ เราสามารถนำมาใช้ในระยะการออกเดท เพื่อค้นหาคนที่ใช่ คัดกรองความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นคู่ครอง หรือหาคู่ความสัมพันธ์ที่มีเป้าหมายตรงกัน รวมถึงการสร้างเงื่อนไขให้คู่ปรับพฤติกรรมเพื่อสร้างสัมพันธ์รักที่ยืนยาวหรือที่เรียกว่าสร้างโอกาสให้เกิดรักแท้ขึ้นมา

ในเกมของความรักที่มีผู้เล่นสองฝ่าย วิธีที่ดีที่สุดในการเล่นเกมความสัมพันธ์โดยที่ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไรอยู่ คือ ต่างฝ่ายต่างทำตัวเป็นผู้ให้ หรือร่วมมือกันเพื่อที่ทั้งคู่เป็นผู้ชนะในเกม แต่ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับแต่ฝ่ายเดียว ไม่คิดที่จะเป็นผู้ให้ เกมก็จะจบลงเมื่อมีฝ่ายหนึ่งเลิกเล่น คืออาจจะเป็นฝ่ายที่เป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียวเพราะถือว่าเป็นการลงทุนในความสัมพันธ์ที่ไม่คุ้มทั้งในแง่ของเวลา อารมณ์ และสิ่งที่ใช้ในการสานสัมพันธ์ การยุติความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนอาจใช้ทฤษฎีเกมประเมินความสัมพันธ์ที่อาจเข้าข่ายอยู่ในระยะสั้น หรือมีแนวโน้มว่าทั้งคู่อาจมีโอกาสนอกใจกัน เมื่อเห็นว่าการนอกใจกันดูจะเป็นประโยชน์กับตัวเองมากกว่า เช่น เจอคนที่ดีกว่า หรือเข้ากันได้ดีกว่า แต่จริงๆ แล้ว ผมมองว่าทฤษฎีเกมสนับสนุนการมีคุณธรรมในความรักมากกว่า ในเรื่องของความต้องการให้คู่รักไว้ใจซึ่งกันและกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน และละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์ที่ดีขึ้นของทุกๆ คนทั้งสองฝ่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย   อย่างไรก็ดี เกมของความสัมพันธ์ ต่างจาก prisoner's dilemma ตรงที่คู่รักเลือกที่จะพูดคุยกันได้ การสื่อสารโดยใช้เหตุผลดำเนินชีวิตคู่เป็นหลักก็อาจเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้คู่รักของเราได้ ความรักที่เกิดผลลัพธ์ในชีวิตคู่อย่างเหมาะสมที่สุด (optimal outcome) ดังนั้นการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของการมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง

ที่มา https://www.livereal.com/relationships/game-theory-relationships/

เรื่องของความรักมีความซับซ้อนมากกว่าสูตรทางคณิตศาสตร์     

ทฤษฎีเกมแห่งความรักช่วยให้การตัดสินใจครองคู่กับใครสักคนเป็นไปอย่างรอบคอบ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้ไหลไปตามการเรียกร้องของหัวใจ หรือ ฮอร์โมน แต่ในโลกของความเป็นจริง ความรักความสัมพันธ์ยากที่จะคำนวณออกมาเป็นตัวเลข เพราะคนเราพยายามเลือกสรรสิ่งที่ดีให้ตนเองตลอดเวลา และความสัมพันธ์ที่ดีไม่ใช่แค่ความรักที่มีให้แก่กันแต่เพียงเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น รายได้และหนี้สิน ครอบครัวเครือญาติของแต่ละฝ่าย ตลอดจนความเข้ากันได้ในเรื่องเพศสัมพันธ์

การลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน เช่นเดียวกับการลงทุนในความรัก เพื่อให้ได้รับความรักกลับ  นักเศรษฐศาสตร์กล่าวถึง การลงทุนในความสัมพันธ์ว่าประกอบด้วย ระดับความพึงพอใจ การเปรียบเทียบกับทางเลือก และระดับการลงทุน หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น จำนวนทรัพยากรที่ใส่ลงไปในความสัมพันธ์ มีทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ยิ่งลงทุนมากเท่าไรก็จะยิ่งอยู่ในความสัมพันธ์ยาวนานขึ้น ลองนึกตัวอย่างดูว่า ผู้หญิงที่อายุมากบางคนจึงยังสามารถทนอยู่กับผู้ชายที่ติดเหล้าติดพนันได้ ผมไม่ได้ชวนให้ผู้อ่านตัดสินทันทีว่ากรณีที่ว่ามานั้นควรเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่บอกไป “ความรักเป็นเรื่องซับซ้อน” จริงอยู่ที่เรื่องเงินเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตของตัวเองและชีวิตคู่ ดูได้จากปัจจุบันที่ผู้หญิงทำงานหาเงินเองได้ อาจตัดสินใจจบความสัมพันธ์กับคู่ได้ง่ายเมื่อรักไปต่อไม่ได้ แต่ก็อาจไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ความรักสัมพันธ์กับเวลา เวลาเป็นอีกต้นทุนที่มีค่า แทนที่จะไปทำอย่างอื่น แต่เรากลับเลือกใช้เวลาไปทำกิจกรรมกับคนรัก ถือเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ส่วนต้นทุนจมลง อาจอยู่ในกรณีที่ความสัมพันธ์เดินมาถึงทางตัน เมื่อเราคบกับใครคนหนึ่งมานาน ไม่ได้หมายความว่าเราควรอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่า ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจะต่ำกว่าต้นทุนที่เรามี เราจึงมองระยะเวลาที่เสียไปสูงกว่าความสุขที่ได้รับจากการมีรัก สุดท้ายจึงน่าจะจบความสัมพันธ์ดีกว่าอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความสุข และต้นทุนเวลาที่เพิ่มขึ้นของคู่รัก จะกลายเป็นความเจ็บปวดเมื่อระยะเวลาที่คบหาเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน  ทั้งนี้ หน่วยที่ใช้วัดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผลตอบแทนที่แต่ละคนมองว่า จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการมีคนรัก หรือการให้คุณค่าก็มีความแตกต่างกัน

ท้ายสุดแล้ว แม้ทฤษฎีเกมอาจจะหารักแท้ได้จริง แต่ความสัมพันธ์คู่รักที่ต้องมีการต่อรองหรือใช้กลยุทธ์ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกอีกฝ่ายเลย นั่นหมายความว่า รักแท้ของคุณนั้น กำลังสั่นคลอน...

ที่มา https://www.clipartmax.com/max/m2i8d3Z5A0m2N4d3/


อ้างอิง    

  • Grace, L. A. (n.d.). How Game Theory Can Help You Be Smart About Relationships. Retrieved from livereal: https://www.livereal.com/relationships/game-theory-relationships/
  • Nash, J. (1950) The Bargaining Problem. Econometrica 18, 155-162.
  • TEAM, T. I. (2022, August 04). What Is the Prisoner's Dilemma and How Does It Work? Retrieved from hinvestopedia: https://www.investopedia.com/terms/p/prisoners-dilemma.asp

                                                           

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th