นับจากวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ คือช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยาวนานถึง ๗๐ ปี ๔ เดือน ๔ วัน ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในรัชสมัยของพระองค์นั้น ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางประชากร และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทางด้านประชากรนั้น เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศไทยเกิด ‘การเปลี่ยนผ่านทางประชากร’ อย่างแท้จริงในช่วง ๗๐ ปีเศษนี้
การเปลี่ยนผ่านทางประชากรเป็นสถานการณ์ที่อัตราเพิ่มประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่งเปลี่ยนจากอัตราเพิ่มต่ำจากการที่มีทั้งอัตราเกิดและอัตราตายสูง มาเป็นอัตราเพิ่มสูงเมื่ออัตราตายได้ลดลงขณะที่อัตราเกิดยังคงสูงอยู่ แล้วกลับมาเป็นอัตราเพิ่มต่ำอีกครั้งเมื่ออัตราเกิดที่เคยสูงได้ลดต่ำลงๆ จนกระทั่งอัตราทั้งสองต่ำอีกครั้ง สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ต่างกันก็ตรงช่วงเวลาที่เกิด ว่าเริ่มต้นเมื่อไรและใช้เวลาสั้นยาวเพียงไหนเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย ประชากรเปลี่ยนจากสภาพอัตราเพิ่มต่ำในช่วงต้นรัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๒๔๘๙ – พ.ศ. ๒๕๐๐) ผ่านช่วงอัตราเพิ่มสูง ซึ่งทำให้เกิด ‘การระเบิดของประชากร’ (population explosion) ในช่วงกลางรัชกาล (พ.ศ. ๒๕๐๐ – พ.ศ. ๒๕๕๐) แล้วคืนสู่สภาวะอัตราเพิ่มต่ำอีกครั้งในช่วงปลายรัชกาล (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐) ประชากรเกือบ ๑๘ ล้านคนเมื่อต้นรัชกาลที่ ๙ ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า ๓ เท่าตัว เป็น ๖๘ ล้านคนเศษ (รวมต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย) เมื่อปลายรัชกาลของพระองค์ นอกจากจำนวนประชากรที่เปลี่ยนแปลงแล้ว โครงสร้างประชากรเมื่อแสดงด้วยพีระมิดประชากรก็เปลี่ยนด้วยเช่นกัน คือ เปลี่ยนจากลักษณะเหมือนเจดีย์ (ฐานกว้าง ยอดแหลม) มาเหมือนตัวขุนของหมากรุกไทย (ฐานสอบ กลางป่อง ยอดป้าน)
เมื่อต้นรัชกาลที่ ๙ ภาวะเจริญพันธุ์ของคนไทยยังเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่มีการควบคุม เฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งๆ มีลูกกันมากกว่า ๖ คน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นปีแรกในรัชสมัยของพระองค์ จำนวนการจดทะเบียนเกิดมีอยู่ประมาณ ๔ แสนราย และยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จนถึง ๑ ล้านรายเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ อัตราเกิดในช่วงนี้ได้เพิ่มจากราว ๒๕ ต่อประชากรพันคนเป็น ๔๐ ต่อประชากรพันคนเลยทีเดียว ในขณะที่การตายแต่ละปีมีจำนวนแทบจะไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ช่วงเวลานี้เองที่ ‘ระเบิดประชากร’ เกิดขึ้น จนทำให้เกิดโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ภาวะเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติของคนไทยจึงเปลี่ยนเป็นภาวะเจริญพันธุ์ที่มีการควบคุม หลังจากปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา จำนวนเกิดที่เคยถึงล้านก็ค่อยๆ ลดลงจนต่ำกว่า ๘ แสนรายตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ และในปีสุดท้ายของรัชกาลที่ ๙ มีเด็กเกิดที่จดทะเบียนประมาณ ๗ แสนรายเท่านั้น
ตลอด ๗๐ ปีในสมัยรัชกาลที่ ๙ การตายที่เคยสูงมากเมื่อต้นรัชกาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตายจากโรคติดเชื้อ การตายทารกและเด็ก การตายมารดา เหล่านี้ได้ลดลงจากการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาโดยลำดับ อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยจึงยืนยาวขึ้นจาก ๕๐ ปีเมื่อต้นรัชกาล เป็น ๗๕ ปีเมื่อปลายรัชกาล นอกจากนั้น สาเหตุการตายก็ได้เปลี่ยนจากโรคติดเชื้อไปเป็นโรคไม่ติดเชื้อและโรคเรื้อรัง
ในปี ๒๔๘๙ ประเทศไทยมี ๗๐ จังหวัด ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในช่วงเวลานั้นอาศัยอยู่ในชนบท มีเพียงร้อยละ ๖ เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ณ เวลานั้น จังหวัดพระนครและธนบุรียังแยกเป็น ๒ จังหวัด และพื้นที่ของสองจังหวัดนี้ก็ยังไม่ได้เป็นเมืองทั้งหมด ความเป็นเมืองของประเทศไทยได้ขยายเพิ่มขึ้นตามระดับการพัฒนา เมื่อปลายรัชกาลที่ ๙ ประชากรเมืองของไทยมีเกือบร้อยละ ๕๐ (ตามสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. ๒๕๕๓) และมีอยู่ ๑๘ จังหวัดจากทั้งหมด ๗๗ จังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูงกว่าร้อยละ ๕๐ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทยเป็นจังหวัดเดียวที่พื้นที่ความเป็นเมืองครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด
บนผืนแผ่นดินไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงคนไทย ยังมีคนต่างชาติอาศัยรวมอยู่ด้วย เมื่อต้นรัชกาลที่ ๙ สำมะโนครัว พ.ศ. ๒๔๙๐ นับคนต่างชาติได้ ๕ แสนเศษ ซึ่งร้อยละ ๙๐ เป็นคนจีน นอกนั้นเป็นคนฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น อื่นๆ ในยุโรป และอื่นๆ ในเอเชีย ครั้นเมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การสื่อสาร คมนาคมไปมาหาสู่ทำได้ง่าย จึงมีคนต่างชาติเข้ามาอยู่บนแผ่นดินไทยมากขึ้น ซึ่งในช่วงปลายรัชกาลที่ ๙ นี้ก็ยังเกิดปรากฏการณ์การหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานข้ามชาติชาวพม่า กัมพูชา และลาว เพื่อทดแทนแรงงานไทยในงานประเภทที่คนไทยไม่อยากทำ มีการประมาณไว้ว่า ณ ปลายปี ๒๕๕๘ มีชาวพม่า กัมพูชา และลาวที่เป็นแรงงาน ๓.๕ ล้านคน และไม่ใช่แรงงานอีกราว ๑ ล้านคน อยู่ในไทย และหากรวมชาวต่างชาติอื่นๆ อีก ก็น่าจะมีไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านคนอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยในปลายรัชกาลที่ ๙
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรแล้ว ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่แพ้กัน เมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ราว ๓ ใน ๔ ของครัวเรือนไทยเป็นครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในขณะที่ปลายรัชกาลของพระองค์ สำ.มะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. ๒๕๕๓ รายงานว่าประชากรอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปที่ทำ.งาน ทำ.งานในภาคเกษตรเพียงร้อยละ ๔๔ ส่วนที่เหลือทำงานนอกภาคเกษตร และจากสำมะโนอีกเช่นกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ มีคนไทยอายุ ๑๐ ปีขึ้นไป ที่รู้หนังสือ (อ่านออกเขียนได้) เพียงครึ่งเดียว ในขณะที่ พ.ศ. ๒๕๕๓ ร้อยละ ๙๖ ของประชากรอายุ ๑๐ ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้
ทั้งหมดที่เขียนมานี้ เป็นประชากรและการพัฒนาฉบับย่อ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงพสกนิกรชาวไทย...
การเพิ่มขึ้นของประชากรในสมัยรัตนโกสินทร์