The Prachakorn

แรงงานเบอร์รี่ไทยในฟินแลนด์


ขวัญชนก ใจซื่อกุล

21 กุมภาพันธ์ 2567
813



สถานะแรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้การคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยแรงงานเบอร์รี่ไม่ได้รับการรับรองสถานะการเป็นลูกจ้างของนายจ้างฟินแลนด์

เชื่อว่าในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้ หลายคนคงมีโอกาสได้ยินคำว่า “เบอร์รี่เลือด” หรือ “Blood Berries” ผ่านตามสื่อต่างๆ  ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้พาผู้อ่านไปทำความเข้าใจปรากฏการณ์“เบอร์รี่เลือด” ดังกล่าวด้วยกัน

“เบอร์รี่เลือด” เป็นหนึ่งในคำที่ใช้กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนงานไทยที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่า (เบอร์รี่) ในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ เช่น การถูกนายจ้างหลอกหรือโกงค่าแรง สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ หนี้สินที่เกิดจากการเตรียมตัวเดินทางและค่าใช้จ่ายในประเทศปลายทาง หรือในบางกรณีพบว่ามีความเกี่ยวพันกับการตกเป็นเหยื่อของการกระทำในลักษณะการค้ามนุษย์ โดยในที่นี้จะพูดถึงในส่วนของแรงงานไทยที่เดินทางไปยังประเทศฟินแลนด์เป็นหลัก

แรงงานเก็บผลไม้ป่าหรือในที่นี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่าแรงงานเบอร์รี่ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากภาคอีสาน ซึ่งจะใช้เวลาในช่วงว่างเว้นจากการเพาะปลูก  ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนในการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ต่างประเทศ โดยมีความหวังที่จะคว้าเงินแสนกลับบ้านจากการเดินทางไปต่างประเทศในระยะสั้นๆ ความสำเร็จของแรงงานที่เดินทางไปก่อนหน้าเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้แรงงานเหล่านี้มีความหวังที่จะปลดหนี้สินและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้น หลายคนจึงเลือกที่จะกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสมัครงานและค่าเตรียมตัวก่อนเดินทาง นับเป็นการเดินทางที่แบกความฝันไว้บนบ่าพร้อมๆกับหนี้สินที่ก่อไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มออกเดินทาง

Bloody Berry
ที่มา https://theisaanrecord.co/2023/10/31/bloody-berry/

แม้แรงงานส่วนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในต่างประเทศ โชคดีที่ได้เจอนายจ้างและสภาพการทำงานที่ดี ได้เงินก้อนใหญ่กลับบ้านอย่างที่หวัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานอีกหลายคนต้องพบกับความผิดหวัง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้เงินแสนกลับบ้านแล้ว หลายคนยังต้องเดินทางกลับประเทศไทยมาพร้อมหนี้สินอีกด้วย ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ประกอบอาชีพค้าขายอยู่ในตลาดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ทั้งสองเล่าว่าตัดสินใจเดินทางไปเก็บเบอรี่ที่ฟินแลนด์ในปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากหมดหวังกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยหวังว่าจะนำเงินที่ได้จากการไปเก็บเบอร์รี่มาตั้งตัวเพื่อย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิดในภาคอีสาน ทั้งคู่เริ่มต้นจากการกู้ยืมเงินจากญาติพี่น้องจำนวนหลายหมื่นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเดินทาง และแม้สภาพการทำงานในประเทศฟินแลนด์จะเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยและยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด สภาพการทำงานที่ต้องทำงานวันละไม่ต่ำกว่าสิบชั่วโมงทุกวันโดยไม่มีวันหยุด แต่ทั้งสองก็ไม่ปริปากบ่นเมื่อนึกถึงเงินก้อนใหญ่ที่จะได้รับในวันที่เดินทางกลับประเทศไทย ทว่าเหตุการณ์ไม่เป็นดังหวัง ภายหลังหักค่าใช้จ่ายในระหว่างการพำนักในประเทศฟินแลนด์ ทั้งค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเครื่องบินรถ  ทั้งสองเหลือเงินกลับปประเทศไทยเพียง 70 ยูโร หรือราว 2,600 บาทเท่านั้น

แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์ส่วนหนึ่งได้ยื่นเรื่องร้องเรียนแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวยังคงยืดเยื้อและแรงงานจำนวนหนึ่งยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น มูลเหตุหนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือเรื่องของสถานะของแรงงาน (อุกฤษฎ์ มูสิกพันธุ์ และคณะ, 2556; Jaisuekun & Sunanta, 2024)   แรงงานเบอร์รี่ไม่ได้รับการรับรองสถานะการเป็นลูกจ้างของนายจ้างฟินแลนด์ เนื่องจากมีสถานะการเข้าเมืองในรูปแบบนักท่องเที่ยว (tourist visa) อีกทั้งการเก็บเบอร์รี่ป่าในประเทศฟินแลนด์ถือเป็นสิทธิประโยชน์ของบุคคลทั่วไปภายใต้หลัก Every man’s right” โดยไม่จำกัดเฉพาะพลเมืองฟินแลนด์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้แรงงานเบอร์รี่ไทยจึงไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายของฟินแลนด์ (อุกฤษฎ์ มูสิกพันธุ์ และคณะ, 2556)

แม้จะมีเรื่องราวร้องเรียนจากแรงงานเก็บเบอร์รี่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทุกปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ยังมีแรงงานไทยหลายพันคนเดินทางไปเสี่ยงโชคที่ฟินแลนด์ทุกปีเช่นกัน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่แรงงานเก็บเบอร์รี่มากขึ้น ก่อนฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ฤดูกาลใหม่จะมาถึง

หมายเหตุ ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากโครงการวิจัย AspirE (https://aspire.ulb.be/) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายประชากรจากประเทศในทวีปเอเชียไปยังประเทศๆต่างในสหภาพยุโรป โดยมี รศ.ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยของทีมวิจัยจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียนเท่านั้น


อ้างอิง

  • อุกฤษฎ์ มูสิกพันธุ์ และคณะ. (2556). การศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์เพื่อให้การส่งคนไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย (รายงานการวิจัย). สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์.
  • Jaisuekun, K. & Sunanta, S. (2024). Aspiring migrants’ behaviour in mobility policies: the case of Thailand (Country report). Brussels: AspirE.

ภาพปก freepik.com (premium license)

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th