การเป็นสังคมสูงอายุเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรอบโลกแทบทุกประเทศในขณะนี้กำลังประสบกับการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุ การเป็นสังคมสูงอายุมักนำมาสู่ความกังวลเกี่ยวกับแนวทางในการดูแลประชากรสูงวัย ทั้งในเรื่องระบบสาธารณสุข การจัดสวัสดิการ และการเป็นภาระของครอบครัว ชุมชน และสังคม
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลทั่วโลกจึงพยายามค้นหาแนวทางนโยบายต่างๆ ในการรับมือกับการสูงวัยของประชากร นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงอายุอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก คือ กลุ่มนโยบายที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากร เช่น การส่งเสริมการเกิดให้มีประชากรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นหรือการดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศเพื่อให้มีกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น การสนับสนุนการสูงวัยอย่างมีพลัง การส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงอายุ การออกแบบรองรับที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ การขยายอายุเกษียณ และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
การออกแบบนโยบายและคัดเลือกชุดนโยบายเพื่อตอบสนองการเป็นสังคมสูงอายุให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบริบทของประเทศจำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุของประเทศนั้นๆ โดยสาเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุ อาจแบ่งได้เป็น 4 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้
จากทั้ง 4 ปัจจัยข้างต้นนี้ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่นำไปสู่การเป็นสังคมสูงอายุตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก คือ การสูงอายุของรุ่นประชากร ในภูมิภาคเอเชีย การเป็นสังคมสูงอายุมีสาเหตุมาจากการสูงอายุของรุ่นประชากรราวร้อยละ 73 และจะเป็นสาเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุในอนาคตถึงร้อยละ 94 ในขณะที่การเกิดน้อยแทบจะไม่ได้ส่งผลต่อการเป็นสังคมสูงอายุเลย1
สำหรับประเทศไทย ในช่วงปี 2506–2526 เป็นช่วงที่มีการเกิดสูงมาก คือ เกิน 1 ล้านคนต่อปี ประชากรรุ่นเกิดล้านกลุ่มนี้ คือ รุ่นประชากรที่มีขนาดใหญ่ จึงมีอิทธิพลต่อโครงสร้างอายุประชากรของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ประชากรกลุ่มนี้จะเริ่มมีอายุครบ 60 ปี ดังนั้น เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศไทยจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะการสูงวัยของกลุ่มประชากรรุ่นนี้
ดังนั้น นโยบายเพื่อรองรับการเป็นสังคมสูงอายุในประเทศไทย จึงไม่ควรเน้นนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอายุประชากร เช่น นโยบายการส่งเสริมการเกิด เพราะการเกิดน้อยไม่ใช่ต้นเหตุของการเป็นสังคมสูงอายุในประเทศไทย การมีเด็กเกิดเพิ่มขึ้นในวันนี้จะไม่ทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความจริงว่า เรากำลังจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การวางแผนนโยบายควรมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้น จะเป็นวิธีการรับมือกับปัญหาที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
รูป: คุณยายหนู หินเหล็ก และน้องวิน
รูปโดย: จุทารัตน์ ทรัพย์ยอดแก้ว
เอกสารอ้างอิง