The Prachakorn

พลิกชีวิต: เมื่อการนั่งสมาธิไม่ใช่แค่การนั่งเฉย ๆ


พิมลพรรณ นิตย์นรา

24 กุมภาพันธ์ 2567
5,455



แม้การนั่งสมาธิจะเป็นเรื่องที่ท้าทายในช่วงแรก แต่การฝึกอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจ การพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี

เคยหรือไม่ที่บางครั้งเรารู้สึกว่าตัวเองจัดการกับชีวิตได้ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง บ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านั้นทำให้เราลดทอนคุณค่าและความมั่นใจในตัวเองโดยไม่รู้ตัว การจัดการกับความคิดและอารมณ์ที่วุ่นวายดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก หากเราไม่คุ้นชินกับการรู้เท่าทันตัวเองมากพอที่จะรับมือกับสิ่งต่าง ๆ สิ่งนี้มักจะส่งผลต่อการหาแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายตรงหน้า

“ลองนั่งสมาธิดูสิ มันอาจจะดูเหมือนง่าย ใครก็ทำได้
แค่นั่งเฉย ๆ แต่ถ้าได้เริ่มทำและฝึกอย่างต่อเนื่อง ถึงจะรู้ว่ามันท้าทายตัวเองแค่ไหน ได้รู้ว่าผลลัพธ์มันคุ้มค่ากับสิ่งที่ทำมา
ไม่ลองก็ไม่มีวันรู้”

คำบอกเล่านี้เกิดจากการสนทนาเรื่องราวชีวิตทั่วไปในกลุ่มเพื่อน แต่มันกลับท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองเสียเหลือเกิน ความไม่รู้และความไม่เคยลองทำอย่างจริงจัง ทำให้เกิดคำถามในใจว่า “แค่นั่งสมาธิ นั่งเฉย ๆ จะไปช่วยจัดการชีวิตให้มันดีได้ยังไง?” จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบปีที่ได้ลองนั่งสมาธิ เพื่อตอบโจทย์คำถามในวันนั้น และคำตอบที่ได้ก็ชัดเจนเสียจนนึกขำและต้องบอกตัวเองว่า “รู้อย่างนี้...น่าจะทำตั้งนานแล้ว”


แหล่งที่มา: Freepik
https://www.freepik.com/free-photo/woman-meditating-beach-with-sun-setting-her_40950604.htm

นามธรรมที่จับต้องไม่ได้จริงเหรอ?

เมื่อพูดถึงการนั่งสมาธิส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการนุ่งขาวห่มขาวปฏิบัติธรรมที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม หรือที่บ้าน พร้อมเกิดคำถามว่ามันจะช่วยได้จริงเหรอ? จะช่วยให้เราจัดการกับชีวิตที่ยุ่งเหยิงได้อย่างไร? เพราะไม่ได้มีการลงมือทำหรือแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเลย เป็นแค่การนั่งเฉย ๆ ช่วงหนึ่ง เราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์น่าจะดีกว่า และดูเหมือนว่าความคิดเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลองฝึกสมาธิอยู่มากพอควร อย่างไรก็ตาม การที่จะตัดสินว่าการฝึกสมาธิไม่มีประโยชน์ จับต้องไม่ได้ ก็เป็นความตื้นเขินเช่นกัน ถึงแม้ว่าการนั่งสมาธิจะไม่สามารถวัดผลลัพธ์แบบที่ตาเห็น หรือสัมผัสได้ในทันที

เมื่อวิทยาศาสตร์พิสูจน์ผลลัพธ์ได้

การนั่งหรือทำสมาธิเริ่มถูกพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาของ Hersoug, Wærsted, & Lau (2018) เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการทำสมาธิในกลุ่มพนักงานบริษัทจากหลากหลายองค์กร เช่น บริษัทประกันภัย ธนาคาร แรงงานและสวัสดิการ บริษัทพาณิชย์ต่าง ๆ  ในประเทศนอร์เวย์ โดยกำหนดให้บริษัทจัดการทำสมาธิแบบ Acem meditation หรือการทำสมาธิแบบการจัดการตนเองโดยไม่ถูกสั่งการ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการจัดการความเครียดของคนในองค์กร และกำหนดให้พนักงานกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมการอบรมและเรียนรู้การทำสมาธิตลอดระยะเวลาติดตามผล 6 เดือน ขณะที่พนักงานอีกกลุ่มหนึ่งเข้ารับการอบรมการจัดการความเครียดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าการทำสมาธิช่วยให้เกิดการพัฒนาการรับมือกับความทุกข์ทางจิตใจ ความกังวลและความประหม่า ปัญหาการนอนหลับ และอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่พนักงานที่ได้รับความรู้การจัดการความเครียดเพียงอย่างเดียวไม่มีการเปลี่ยนแปลง การทำสมาธิจึงเหมาะที่จะเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการปรับปรุงความสามารถในการรับมือกับความเครียดในที่ทำงานและชีวิตประจำวัน

ไม่เพียงแค่กลุ่มวัยทำงานเท่านั้น การศึกษาในกลุ่มประชากรวัยเรียนยังมีผลการศึกษาออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยพบว่านักศึกษาที่ทำสมาธิมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาบุคลิกภาพ ความเข้มแข็งและพลังของจิตใจ และสติปัญญา โดยนักศึกษาที่ได้ทำสมาธิมีคะแนนการพัฒนาชีวิตอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอย่างมีนัยสำคัญ (Innoi and Siripant, 2020)

การทำสมาธิยังเข้ามามีบทบาททางการแพทย์อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นวิธีการรักษาที่ง่าย ราคาไม่แพง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับระบบประสาท การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการทำสมาธิในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่นาทีก็สามารถช่วยให้มีความจำ หรือมีการพุ่งความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันความเสื่อมถอยทางสมอง (Newberg et al., 2014) นอกจากนี้ยังพบว่าการทำสมาธิติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 เดือนช่วยส่งเสริมการเชื่อมต่อของเซลล์สมองดีขึ้น ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น รวมทั้งสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งเร้าอารมณ์ (Gotink et al,.2016)

ทำสมาธิอย่างไรจึงเห็นผล

การทำสมาธิเปรียบเสมือนยาคลายเครียดชั้นดีที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อและยังทำได้ง่าย ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เพียงแค่วันละ 10-30 นาที ติดต่อกัน 2 เดือนก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง  วิธีการฝึกสมาธิสามารถ แบ่งได้ 3 ขั้นตอน
    ขั้นตอนที่ 1 ฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออกตระหนักรู้ในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ ณ ขณะนั้น รู้ว่าหายใจเข้าเมื่อหายใจเข้า รู้ว่าหายใจออกเมื่อหายใจออก
    ขั้นตอนที่ 2 ระหว่างฝึกกำหนดลมหายใจ เมื่อมีความคิดแทรกเข้ามา ให้ตระหนักรู้ว่ากำลังคิดและปล่อยให้ความคิดนั้นผ่านไป แล้วหันกลับมาพุ่งความสนใจไปที่ลมหายใจเท่านั้น
    ขั้นตอนที่ 3 ฝึกจัดการกับความง่วง เมื่อทำสมาธิไปได้ระยะเวลาหนึ่งร่างกายและจิตใจจะเริ่มผ่อนคลายและสงบขึ้น ทำให้มีอาการง่วงนอนได้ ให้ยืดตัวตรง หายใจเข้าออกแรง ๆ 5-6 ครั้ง หรือใช้วิธีจินตนาการว่ามีหลอดไฟที่สว่างจ้าช่วงหนึ่ง เมื่อหายง่วงแล้วให้กลับมารู้ที่ลมหายใจต่อเนื่องต่อไป (กรมสุขภาพจิต, 2561)


แหล่งที่มา: Jcomp, Freepik
https://www.freepik.com/free-photo/close-up-picture-hand-watering-sapling-plant_10992177.htm

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเมื่อได้ลองทำสมาธิในช่วงแรก ๆ เป็นเรื่องที่ยาก ทำให้ต้องลองหาตัวช่วยให้โฟกัสกับการทำสมาธิมากขึ้น ในช่วงแรกจึงต้องใช้ตัวช่วยคือ “เสียงนำสมาธิ” ที่มีเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ โดยเปิดเสียงนั้นพร้อม ๆ กับการทำสมาธิไปด้วย พบว่าทำให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ณ ขณะนั้นมากขึ้น เมื่อฝึกมาได้ระยะเวลาหนึ่งก็สามารถทำสมาธิได้เองในห้องเงียบ ๆ การทำสมาธินอกจากจะเป็นการฝึกตนเองให้อยู่ในภาวะปกติแล้ว ยังเป็นการฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในเป้าหมาย ค่อย ๆ เติบโตได้อย่างมั่นคง เห็นคุณค่าตนเองและเรียงลำดับการจัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น พลิกชีวิตจากการมองโลกในแง่ร้าย เป็นโลกที่น่าเรียนรู้ มีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น สุดท้ายนี้จากประสบการณ์ทำให้ได้เรียนรู้ว่าผลจากการทำสมาธิถือเป็นทรัพย์ส่วนตนที่ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างยั่งยืน


อ้างอิง

  • กรมสุขภาพจิต. (2561). ฝึกทำสมาธิลดความว้าวุ่นใจยุคโซเชียลฯ สมองไบรท์สุขภาพจิตดี. กรมสุขภาพจิต. https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27966
  • Gotink, R. A., Meijboom, R., Vernooij, M. W., Smits, M., & Hunink, M. G. (2016). 8-week Mindfulness Based Stress Reduction induces brain changes similar to traditional long-term meditation practice - A systematic review. Brain and cognition, 108, 32–41. https://doi.org/10.1016/j.bandc.2016.07.001
  • Hersoug, A. G., Wærsted, M., & Lau, B. (2018). Nondirective meditation used in stress management. Nordic Psychology, 70(4), 290-303. https://doi.org/10.1080/19012276.2018.1443278
  • Innoi, S. and Siripant, R. (2020). The Enrollment Advantages of Meditation for Life Development Course: A Case Study of King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang Students. International Journal of Industrial Education and Technology, 1(1), 98-106.
  • Newberg, A.B., Serruya, M., Wintering, N., Moss, A.S., Reibel, D. and Monti, D.A. (2014), Meditation and neurodegenerative diseases. Ann. N.Y. Acad. Sci., 1307: 112-123. https://doi.org/10.1111/nyas.12187

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th