The Prachakorn

26 ประเทศทั่วโลกผ่านกฎหมายสมรสบุคคลเพศเดียวกัน


อมรา สุนทรธาดา

30 เมษายน 2561
753



โลกมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองตลอดเวลา กระแสการปรับแก้กฎหมายสมรสคนเพศเดียวกันได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก และต่างหยิบยกเหตุผลเพื่อหาทางออกว่าควรจะเป็นเช่นไร จึงจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้สังคมโดยรวมยังคงอยู่ได้ภายใต้วัฒนธรรมและค่านิยมกระแสใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันมี 26 ประเทศ ที่ออกกฎหมายรองรับการสมรสบุคคลเพศเดียวกัน

กลุ่มคัดค้านยกเหตุผล ศาสนา ครอบครัว การสมรส และวัฒนธรรมการสมรส ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญ ประเด็นคัดค้านอื่นๆ เช่น เด็กและเยาวชนจะสับสนกับบทบาททางเพศและความคาดหวังทางสังคม มีการอ้างอิงผลวิจัยทางจิตวิทยาว่าการใช้ชีวิตแบบเพศทางเลือกเป็นอาการเจ็บป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง รวมถึงประเด็นการขอบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ หรือความไม่พร้อมในการทำหน้าที่ผู้เลี้ยงดูบุตรบุญธรรม

กลุ่มที่เห็นด้วยมองว่าไม่ควรมีอคติกับเรื่องนี้ ควรให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลและไม่ได้เป็นการทำลายหลักศาสนา ความหมายของครอบครัว คือ การแต่งงานด้วยความรักและมีรสนิยมที่เหมือนกันซึ่งจะเป็นหลักประกันที่ดีสำหรับชีวิตคู่ เพราะไม่มีความเสี่ยงด้านความรุนแรงทางเพศ การรักเพศเดียวกันไม่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย หรือ อาการทางจิตแต่อย่างใด การขอเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นเรื่องที่คนทั้งสองเพศสามารถทำได้ และจะช่วยเพิ่มจำนวนบุตรบุญธรรมอีกด้วย

สำหรับความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ กลุ่มประเทศในเอเชียกลางและยูเรเซีย ส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วย ยกเว้น เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ที่ต่อต้านการแสดงออกในที่สาธารณะของบุคคลเพศเดียวกัน ความเกลียดชังยังคงมีอยู่และบ่อยครั้งที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอาชญากรรมกับบุคคลเพศทางเลือก สำหรับกลุ่มประเทศที่เดินสายกลาง เช่น อาร์เมเนีย รัฐบาลแสดงจุดยืนบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในประเด็นเห็นต่างด้วยการลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2554 กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางไม่มีกฎหมายรับรองสถานะบุคคลเพศทางเลือกและการสมรสเพศเดียวกัน เช่น อิหร่าน มีกฎหมายกำหนดโทษสูงสุดด้วยการประหารชีวิต ยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการแพทย์ที่มีเอกสารรับรอง

กลุ่มประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ยังไม่มีกฎหมายรองรับ สำหรับเวียดนามมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่โดดเด่นหลายกลุ่มทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเมืองศูนย์กลางเพื่อผลักดันกฎหมายรับรองสถานะ

ประเทศที่มีกฎหมายการสมรสบุคคลเพศเดียวกัน แยกตามปีที่มีผลบังคับใช้

ปี ประเทศ
2560 ไต้หวัน เยอรมนี มอลตา
2559 โคลอมเบีย
2558 ฟินแลนด์ กรีนแลนด์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา
2557 ลักเซมเบิร์ก สกอตแลนด์ อุรุกวัย
2556 บราซิล อังกฤษ/เวลส์ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์
2555 เดนมาร์ก
2553 อาร์เจนตินา ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส
2552 สวีเดน
2551 นอร์เวย์
2549 แอฟริกาใต้
2548 แคนาดา สเปน
2546 เบลเยียม
2546 เนเธอแลนด์

หมายเหตุ: ประเทศเม็กซิโกมีกฎหมายการสมรสบุคคลเพศเดียวกัน แต่กระทำได้เพียงบางเมืองเท่านั้น

ที่มา: Pew Research Centre http://www.pewforum.org/2017/08/08/gay-marriage-around-the-world-2013/ Aug. 8, 2017 

การแสดงออกหลังรัฐบาลไต้หวันผ่านกฎหมาย

รูปจาก http://edition.cnn.com 2017/05/24

กรณีศึกษาไต้หวัน (ประเทศที่ 26) ไต้หวันเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่รัฐบาลเพิ่งผ่านกฎหมายการสมรสบุคคลเพศเดียวกัน เมื่อสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาแก้ไขเป็นเวลา 2 ปี ไต้หวันมีประชากรราว 23 ล้านคน ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างและปลอดภัยในระดับสูงสำหรับบุคคลเพศทางเลือกที่จะอยู่หรือเป็นนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็มาแรงเช่นกัน ผู้เดินขบวนประท้วงสวมเสื้อสีขาว จงใจให้เห็นความต่างระหว่างสีขาวและสีรุ้ง ไต้หวันนำหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการสมรสบุคคลเพศเดียวกัน ส่วนหนึ่งเพราะเป็นสังคมที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรมที่เปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็น

ไต้หวันนำหน้าไปแล้วสำหรับภูมิภาคเอเชีย ต้องรอดูการเคลื่อนไหวในประเทศอื่นๆ บ้าง


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th