The Prachakorn

“กินครบ 3 มื้อ” อย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพ?


ณัฐณิชา ลอยฟ้า

03 เมษายน 2567
326



การกินอาหารให้ครบ 3 มื้อต่อวัน ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ ให้ครบทุกวัน ด้วยสภาวะที่ต้องเร่งรีบของคนไทยในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในเมือง หรือจังหวัดใหญ่ ๆ ทั้งผู้ใหญ่วัยทำงาน รวมไปถึง
เด็กนักเรียน นักศึกษา มักไม่ค่อยได้บริโภคอาหารเช้า อาจบริโภคเพียงแค่เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ นม หรือน้ำหวานเท่านั้น เพื่อที่จะไปทำงานหรือเรียนให้ทันเวลา

หากต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของ “อาหารเช้า” หลาย ๆ คนอาจจะไม่เห็นถึงความสำคัญของอาหารเช้ากันมากนัก ซึ่งอาหารเช้ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นอาหารมื้อแรกของวันและเป็นมื้อที่สำคัญ เพื่อให้เรามีพลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดสำหรับการให้พลังงาน การงดอาหาร

ภาพจาก Freepik.com

มื้อเช้าทำให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อาหารเช้าควรเป็นอาหารที่ให้พลังงาน ควรเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ ควรเน้นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต  เช่น ข้าวกล้อง และเสริมด้วยวิตามินและโปรตีน เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมความพร้อมอยู่เสมอ

ในขณะที่ “อาหารกลางวัน” ก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากร่างกายได้รับสารอาหารจากมื้อเช้านำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่อเนื่อง ก็ควรที่จะบริโภคอาหารกลางวัน เเต่ควรหลีกเลี่ยงเมนูที่มีไขมันสูง และไม่ควรกินมากเกินความต้องการของร่างกาย

“มื้อเย็น” มื้อสุดท้ายของวัน เป็นมื้อที่หลาย ๆ คนให้ความพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาของการเลี้ยงฉลอง เป็นมื้ออาหารที่คนมักให้ความสำคัญอยู่เสมอ อาจเป็นเพราะไม่ต้องเร่งรีบ แต่การกินอาหารมื้อเย็นมีข้อที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก ควรหลีกเลี่ยงเมนูที่มีไขมันสูงและไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายทำงานหนักในขณะที่เรานอนหลับพักผ่อน

จากการสำรวจ “โครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทาง อาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทย” พบว่า ภาพรวมประชากรไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารครบ 3 มื้อทุกวัน ร้อยละ 69.9 เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มอายุที่บริโภคอาหารครบ 3 มื้อทุกวัน น้อยที่สุด คือกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) ร้อยละ 67.2 ในขณะกลุ่มผู้สูงอายุ มีสัดส่วนการบริโภคอาหารครบ 3 มื้อทุกวัน สูงที่สุด ร้อยละ 76.3

อย่างไรก็ตาม การกินอาหารอาหารทุกมื้อมีความสำคัญ เราควรกินอาหารทุกมื้อในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย รวมทั้งควรมีสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน ร่างกายจึงจะได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง


แหล่งข้อมูล:

  1. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2566). โครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และความรอบรู้ด้านอาหารของประชากรไทย.
  2. กรมอนามัย. (2562). ครบ 3 มื้อ ทุกวัน สุขภาพดี. สืบค้นจากhttps://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/food/

ภาพปก freepik.com (premium license)

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th