The Prachakorn

รถพุ่มพวง


สิรินทร์ยา พูลเกิด,ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

05 เมษายน 2567
204



“กับข้าวมาแล้วครับกับข้าว” เสียงประกาศที่คุ้นเคย พร้อมบริการให้คุณถึงที่จาก “รถพุ่มพวง” รถกระบะบรรทุกอาหารปลีกย่อยเต็มท้ายรถ วิ่งเข้า-ออกตามตรอก ซอก ซอย ป่าวประกาศเรียกลูกค้า ปัจจุบันรถพุ่มพวงได้รับความสนใจมากขึ้น ด้วยความสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็ว โดยเฉพาะคนเมือง รถพุ่มพวงจึงกลายเป็นแหล่งซื้อหาอาหารสำคัญของคนกลุ่มนี้

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำ “โครงการวิเคราะห์กลไกการทำธุรกิจรถพุ่มพวง และพฤติกรรมการใช้บริการรถพุ่มพวงของคนไทย” เพื่อวิเคราะห์ถึงกลไกการทำธุรกิจรถพุ่มพวงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ (ต้นน้ำ) การกระจายสินค้า (กลางน้ำ) และการบริโภค (ปลายน้ำ)) และศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการรถพุ่มพวงของผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการใช้รถพุ่มพวงเพื่อส่งเสริมการกินที่ดีต่อสุขภาพของคนเมือง

ผลการศึกษาพบว่าการทำธุรกิจรถพุ่มพวง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ แหล่งที่มาของสินค้าที่รถพุ่มพวงรับมาขาย เน้นที่ตลาดกลางขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าทั้งแบบส่งและปลีก ใกล้บ้าน เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง หากเป็นผักและผลไม้ บางเจ้าอาจมีชาวสวนรวบรวมมาส่งให้ถึงที่ คุณภาพของสินค้าที่นำมาขายอย่างผักและผลไม้ จะมีการแบ่งเป็นเกรด เช่น เกรด A และเกรดรองลงมา ส่วนของแห้งหรือเครื่องปรุงรส และเนื้อสัตว์ บางเจ้าอาจมีตัวแทนจำหน่ายติดต่อเข้ามา แล้วนำสินค้ามาส่งถึงที่

กลางน้ำ ในการจัดหาสินค้า ถ้ากลุ่มลูกค้าของรถพุ่มพวงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่มีกำลังซื้อ จะเลือกสินค้าเกรด A มาขาย แต่ถ้าลูกค้าอาศัยในชุมชนหรือแคมป์ก่อสร้าง จะนำสินค้าเกรดรองมาขาย เนื่องจากราคาถูกกว่า นอกจากนี้ บางเจ้าเน้นซื้อสินค้าเกรดรอง เพราะได้ปริมาณแบ่งขายมากกว่า และสินค้ามีราคาถูกกว่า สามารถนำไปขายต่อได้ง่าย ขณะที่บางเจ้าเลือกซื้อสินค้าเกรด A เพราะสามารถเพิ่มมูลค่าทางราคาของสินค้าได้

เส้นทางการเดินรถพุ่มพวงส่วนใหญ่ เป็นเส้นทางมรดก ที่ส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่หรือญาติที่ทำอาชีพนี้มาก่อน แต่ละคันมีฐานลูกค้าส่วนตัว รถพุ่มพวงให้ความสำคัญกับช่วงเวลาและจุดจอดต่างๆ ต้องเป็นช่วงเวลาเดิมและจุดเดิม เพราะลูกค้าประจำจะจำช่วงเวลาที่รถมาจอดได้

ปลายน้ำ การขายสินค้าให้ผู้บริโภค ลูกค้ารถพุ่มพวงส่วนใหญ่มักซื้ออาหารสด และอาหารแบบกินวันต่อวัน ข้อดี คือ ลูกค้าได้ตามปริมาณและตรงตามความต้องการ สามารถติดเงินค่าสินค้าได้ แต่ข้อเสีย คือ ราคาสินค้าสูงกว่าตลาดนัดหรือตลาดสด ไม่สามารถเลือกสินค้าได้ และสินค้าที่จัดใส่ถุง อาจมีปะปนระหว่างของดีและไม่ดี นอกจากนี้ บางคันห้อยสินค้ายื่นออกมานอกตัวรถมากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่พาหนะ สำหรับความปลอดภัยด้านอาหาร สินค้าถูกวางปะปนระหว่างของสดและของแห้ง หรือกับของใช้ส่วนตัวของผู้ขาย และเนื้อสดไม่ถูกจัดเก็บในภาชนะปิดสนิทหรือในอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้สินค้าช่วงบ่ายหรือเย็นไม่ค่อยสดใหม่

เกือบร้อยละ 90 ของลูกค้ารถพุ่มพวง เป็นผู้หญิง เกินครึ่งจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและประกอบอาชีพแม่บ้าน และมักอาศัยในบ้านเดี่ยว/บ้านแฝด ลูกค้าใช้บริการเฉลี่ย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์/คน โดยซื้อ “ผักสด” มากที่สุด รองลงมา คือ “เนื้อสัตว์” และ “ผลไม้สด” มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 160 บาท และเกือบร้อยละ 80 ของลูกค้า ซื้ออาหารจากรถพุ่มพวง เพราะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

 

รูป: การทำธุรกิจรถพุ่มพวง จากต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ
(ที่มาภาพ: ภาพ 1 และ 3 จากเว็บไซต์์ freepik.com และภาพ 2 โดยผู้เขียน)

ผลการศึกษานี้เสนอแนะให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ กำกับ และดูแลธุรกิจรถพุ่มพวงตลอดห่วงโซ่โดยเฉพาะ เพื่อยกระดับมาตรฐานรถพุ่มพวงให้เป็นแหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพของคนไทยโดยมีนโยบายที่ควบคุมคุณภาพสินค้าที่ขาย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ สร้างแรงจูงใจหรือสนับสนุนให้รถพุ่มพวงมีการจัดการและดูแลสินค้าให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารและโภชนาการที่รัฐกำหนด


เอกสารอ้างอิง

  • สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. (2567). โครงการวิเคราะห์กลไกการทำธุรกิจรถพุ่มพวง และพฤติกรรมการใช้บริการรถพุ่มพวงของคนไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th