The Prachakorn

รัฐบาลกับการจัดการโรคอ้วน เดินหน้า…หรือถอยหลัง


สิรินทร์ยา พูลเกิด

30 เมษายน 2561
504



งานวิจัยชี้ ภาครัฐมีนโยบายสร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารเพื่อลดโรคอ้วน โดยลดการเข้าถึงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพของคนไทย แต่... ความก้าวหน้าการดำเนินการยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็น “ปัญหาสุขภาพที่จัดการได้” และทำสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย ปัญหานี้ยังคงต้องแก้ไขกันต่อไป จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2557 พบว่า คนไทยที่มีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 สาเหตุสำคัญของปัญหา คือ พฤติกรรมการกินที่ทำร้ายสุขภาพตนเอง เช่น การกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง

จากปัจจัย “สภาพแวดล้อมทางอาหาร” ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การแก้ไขปัญหานี้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตสร้างแรงจูงใจด้วยสินค้าที่หลากหลาย กำหนดราคาที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อหาได้ และจำหน่ายสินค้าผ่านหลายช่องทาง อีกทั้งการส่งเสริมการขายที่ดึงดูดและกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้ามากขึ้น

รัฐถือเป็นทั้ง “ผู้สร้างระบบ” ที่วางกฎระเบียบ เงื่อนไข ให้การจัดการปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็น “ผู้เล่นตัวจริง” ที่นำกฎระเบียบไปปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า สิ่งที่รัฐดำเนินการอยู่บรรลุตามเป้าหมายเพียงใด และสิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการต่อไปคืออะไร?

งานวิจัยของ Phulkerd et al. (2016) ชี้ให้เห็นว่า “ภาครัฐยังคงตามหลังประเทศอื่นในการจัดการกับสภาพแวดล้อมทางอาหารเพื่อลดโรคอ้วน” มีอีกหลายนโยบายอาหารสำคัญๆ ที่รัฐยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น การควบคุมการทำการตลาดอาหารที่พุ่งเป้าไปยังเด็ก การขึ้นภาษีอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และการจำกัดความหนาแน่นหรือพื้นที่ตั้งของร้านขายอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ ขณะที่นโยบายที่ดำเนินการอยู่ เช่น การติดฉลากโภชนาการ การให้บริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพในโรงเรียน องค์กรรัฐและเอกชน และการส่งเสริมให้ร้านค้าขายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ยังไม่มีความก้าวหน้าชัดเจน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง “ศักยภาพ” การทำงานของภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาสุขภาพนี้

งานวิจัยนี้ยังได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากภาครัฐ วิชาการ และประชาสังคม มาอภิปรายปัญหา อุปสรรคของการทำงานของรัฐ และร่วมเสนอ “ชุดข้อเสนอแนะหนึ่งเดียว” ที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ รวม 11 ข้อ ดังแสดงในภาพต่อไปนี้

 

การ “ออกนโยบายดีๆ” มิได้การันตีถึงความสำเร็จของรัฐในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐต้อง “นำนโยบายไปปฏิบัติ” ด้วย ภายใต้ “ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ถึงจะช่วยปูทางสู่ความสำเร็จ

 

ที่มา:

Phulkerd S, Vandevijvere S, Lawrence M, Tangcharoensathien V, Sacks G. Level of implementation of best practice policies for creatinghealthy food environments: assessment by state and non-state actors in Thailand. Public health nutrition 2016; 20(3): 381-90.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th