The Prachakorn

การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในด้านบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข


มนสิการ กาญจนะจิตรา

30 เมษายน 2561
614



“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ภายใต้เป้าหมายที่ 3 “ชีวิตที่มีสุขภาพดีและสุขภาวะของทุกคนในทุกช่วงวัย” เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้กำหนดเป้าหมายย่อยในเรื่องการผลิต พัฒนา อบรม และธำรงบุคลากรทางสุขภาพ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในประเทศกำลังพัฒนา

ในสังคมที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น การมีกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เพียงพอสำหรับความต้องการเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเตรียมตัววางแผน การขาดแคลนบุคลากรทางสุขภาพสามารถสร้างความสั่นคลอนต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไม่น้อย โดยทั่วไปแล้ว การที่สังคมมีสัดส่วนผู้สูงอายุมาก หมายถึงความต้องการบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่สัดส่วนประชากรที่จะมาเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะลดลง ดังนั้น หากมองเห็นแนวโน้มในอนาคตแล้วว่าอาจมีการขาดแคลนบุคลากรทางสุขภาพ การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ น่าจะช่วยลดระดับการขาดแคลนได้

ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ “สูงอายุ” มากเป็นอันดับต้นของโลก กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ทำการประมาณการความต้องการด้านบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เปรียบเทียบกับการผลิตบุคลากรเหล่านี้ในประเทศ พบว่าสถานการณ์ของญี่ปุ่นน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบกับการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาพยาบาล ที่พบว่าใน พ.ศ. 2568 ญี่ปุ่นอาจขาดแคลนพยาบาลถึง 380,000 คน

ญี่ปุ่นได้มีมาตรการในการรับมือกับปัญหาการขาดแคลนนี้มาแล้วระยะหนึ่ง เช่น การรับพยาบาลวิชาชีพและผู้ดูแลจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผ่านการตกลงทวิภาคี อย่างไรก็ตาม การนำเข้าพยาบาลจากประเทศเหล่านี้ในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากญี่ปุ่นได้กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้สูง ไม่ว่าจะเป็นการผ่านข้อสอบเดียวกับพยาบาลและผู้ดูแลชาวญี่ปุ่น หรือข้อกำหนดในเรื่องการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นที่ต้องมีความเชี่ยวชาญใกล้เคียงกับชาวญี่ปุ่นเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ พยาบาลต่างชาติที่จะผ่านข้อกำหนดเหล่านี้จึงมีสัดส่วนน้อยมาก ใน พ.ศ. 2557 มีพยาบาลจากอินโดนีเซียเพียงร้อยละ 20 ที่ผ่านข้อกำหนดของญี่ปุ่น ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ต้องถูกส่งกลับบ้าน ที่ผ่านมาการนำเข้าพยาบาลจากต่างประเทศจึงยังคงห่างไกลกับความต้องการของชาวญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักดีถึงปัญหานี้ จึงได้พยายามปรับเปลี่ยนนโยบายในการรับพยาบาลต่างชาติ โดยเมื่อปลายปี 2559 ญี่ปุ่นผ่อนปรนให้พยาบาลวิชาชีพจากประเทศอื่นๆ สามารถเข้ามาทำงานได้ เป็นการเปิดโอกาสและตลาดให้กว้างขึ้น โดยหวังว่าจะมีจำนวนพยาบาลวิชาชีพและผู้ดูแลเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาชีพพยาบาลจะได้รับการบรรจุอยู่ในกลุ่มอาชีพที่สามารถขอมีถิ่นที่อยู่ระยะยาวได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดอุปสรรคในการย้ายถิ่นของชาวต่างชาติแล้ว ยังช่วยในเรื่องการสั่งสมทักษะการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย

ถึงแม้ญี่ปุ่นจะผ่อนปรนข้อกำหนดต่างๆ เพื่ออำ.นวยความสะดวกให้แก่คนต่างชาติในการเข้ามาเป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยดูแลมากขึ้น แต่จำนวนที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนยังคงไม่เพียงพออยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งที่รู้สึกต่อต้านกับการมีพยาบาลหรือผู้ดูแลชาวต่างชาติ ดังนั้น ประเทศญี่ปุ่นจำ.เป็นต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการด้านบุคลากรสุขภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งขณะนี้หุ่นยนต์ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนญี่ปุ่นสนใจ แต่หุ่นยนต์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นความนุ่มนวลในการดูแล หรือการตอบสนองทางอารมณ์ ทำให้หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทดแทนการดูแลจากคน (ถึงแม้จะเป็นคนต่างชาติ) ได้

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่รุนแรงเท่าญี่ปุ่น การคาดประมาณความต้องการและจำนวนกำลังคนด้านสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีจำนวนแพทย์และทันตแพทย์เพียงพอกับความต้องการ1 แต่มีแนวโน้มจะขาดพยาบาลราว 1,200 – 57,000 คน2 และอาจมีโอกาสขาดเภสัชกร อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนแพทย์และทันตแพทย์เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตอันใกล้นี้ ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่การกระจายตัวของบุคลากรด้านสุขภาพที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้ในพื้นที่ห่างไกลยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อพัฒนาเรื่องการกระจายตัวของบุคลากรทางสุขภาพ และที่สำคัญ การผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของลักษณะประชากรที่เปลี่ยนไป เพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดีและสุขภาวะของทุกคนในทุกช่วงวัย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

รูปจาก http://www.thaitgri.org


1อาจมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ในอนาคตที่จะส่งผลต่อความต้องการบุคลากรทางสุขภาพได้ เช่น นโยบายการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น medical hub อาจทำให้ความต้องการบุคลากรทางสุขภาพสูงกว่าที่คาดประมาณไว้ได้

2โครงการสุขภาพคนไทย. 2560. สุขภาพคนไทยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน. สุขภาพคนไทย2560 (หน้า 101). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th