The Prachakorn

พฤติกรรมสุขภาพของคนทำงานแต่ละเจเนอเรชัน


วิภาพร จารุเรืองไพศาล

25 เมษายน 2567
87



เพราะคนวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม องค์กรและสถานประกอบการควรหันมาใส่ใจสุขภาพอนามัยของพนักงานให้มากขึ้น เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรค NCDs

คนวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศ แต่ผลจากการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กลับกลายมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทำงานเอง ด้วยการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหาร (หวาน มัน เค็ม) การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ1 รวมถึงความเครียด ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นผลข้างเคียงจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ชัดเจนจากพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น ความดันเลือดสูง น้ำตาลและ/หรือไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน2 เป็นต้น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของประชากร นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประชากรวัยทำงานก็มาจากกลุ่มโรค NCDs โดยคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วนจะมีโอกาสป่วยด้วยโรคในกลุ่ม NCDs มากกว่าคนที่ไม่อ้วน 2-3 เท่า3  

คนต่างวัย พฤติกรรมสุขภาพต่างกันหรือไม่

จากการสำรวจความสุข ความผูกพัน และสมดุลชีวิตของคนทำงานในองค์กร ปี 2565 โดยศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากบุคลากรที่ตอบแบบสำรวจ จำนวน 4,964 คน โดยแบ่งตามเจเนอเรชัน (Generation) มีผู้ตอบอยู่ในเจน BB (Baby Boomer หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2489-2507) ร้อยละ 4.9 เจน X (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2508-2522) ร้อยละ 41.5 เจน Y (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523-2538) ร้อยละ 49.4 และเจน Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2539-2553) ร้อยละ 4.2 โดยในที่นี้ขอกล่าวถึง

พฤติกรรมสุขภาพด้านการบริโภคอาหาร จากผลการสำรวจการไม่บริโภคอาหาร หวานจัด มันจัด และเค็มจัด พบว่า คนทำงานเจน BB มีสัดส่วนของพฤติกรรมการบริโภคอาหารค่อนข้างดีกว่าคนทำงานเจเนอเรชันอื่น โดยคนทำงานกลุ่มเจน BB ไม่กินอาหารรสหวานจัด (ร้อยละ 19.7) ไม่กินอาหารที่มีรสเค็มจัด (ร้อยละ 20.6) และไม่กินอาหารมันจัด (ร้อยละ 22.3) ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มคนเจน X (ร้อยละ 12.3, ร้อยละ 14.0, ร้อยละ 9.8)  เจน Y (ร้อยละ 5.5, ร้อยละ 8.1, ร้อยละ 5.5)  และเจน Z (ร้อยละ 3.4, ร้อยละ 9.2, ร้อยละ 4.9) (ภาพที่ 1) นอกจากนี้ คนทำงานเจน BB กินอาหาร หวานจัด มันจัด และเค็มจัดทุกวันหรือกินเป็นประจำ (5-6 วัน/สัปดาห์) ก็มีสัดส่วนน้อยกว่าเจเนอเรชันอื่นอีกด้วย

ภาพที่ 1 ร้อยละการไม่บริโภคอาหารหวาน เค็มและมันของคนทำงาน จำแนกตามเจเนอเรชัน
ที่มา: การสำรวจความสุข ความผูกพัน และสมดุลชีวิตของคนทำงานในองค์กร ปี 2565 โดย ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

พฤติกรรมสุขภาพด้านความเครียด จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่มีความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง โดยกลุ่มที่ไม่มีความเครียดหรือเครียดน้อย คือ คนทำงานเจน BB ร้อยละ 52.1 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มเจน X (ร้อยละ 35.8) เจน Y (ร้อยละ 27.8) และเจน Z (ร้อยละ 31.0) (ภาพที่ 2) โดยสอดคล้องกับความสามารถในการจัดการกับปัญหา ที่คนเจน BB ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75.2) รายงานว่าสามารถจัดการกับปัญหาได้มากถึงมากที่สุด สูงกว่าเจน X (ร้อยละ 57.6) เจน Y (ร้อยละ 59.8) และเจน Z (ร้อยละ 57.7)

ภาพที่ 2 ร้อยละความเครียดของคนทำงาน จำแนกตามเจเนอเรชัน
ที่มา: การสำรวจความสุข ความผูกพัน และสมดุลชีวิตของคนทำงานในองค์กร ปี 2565 โดย ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

พฤติกรรมสุขภาพด้านการออกกำลังกาย จากผลการสำรวจ พบว่า คนทำงานเจน BB ร้อยละ 20.3 ไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าคนทำงานเจน X (ร้อยละ 36.1) เจน Y (ร้อยละ 42.2)  และเจน Z (ร้อยละ 38.3)  และยังพบว่าคนทำงานเจน BB ร้อยละ 11.3 ตอบว่าออกกำลังกายทุกวัน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มเจน X (ร้อยละ 4.8) Y (ร้อยละ 3.5)  และ Z (ร้อยละ 1.5) (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ร้อยละของการออกกำลังกายของคนทำงาน จำแนกตามเจเนอเรชัน
ที่มา: การสำรวจความสุข ความผูกพัน และสมดุลชีวิตของคนทำงานในองค์กร ปี 2565 โดย ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

พฤติกรรมสุขภาพด้านการสูบบุหรี่ จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่ โดยคนทำงานเจน BB มีสัดส่วนคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยสูงกว่าคนเจเนอเรชันอื่นๆ (ร้อยละ 93.7, ร้อยละ 87.4, ร้อยละ 86.4, และร้อยละ 81.6 ตามลำดับ) และกลุ่มเจน BB ไม่มีผู้ที่ตอบว่าสูบบุหรี่เป็นประจำ (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 ร้อยละของการสูบบุหรี่ของคนทำงาน จำแนกตามเจเนอเรชัน
ที่มา: การสำรวจความสุข ความผูกพัน และสมดุลชีวิตของคนทำงานในองค์กร ปี 2565 โดย ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

พฤติกรรมสุขภาพด้านการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จากผลการสำรวจ พบว่า คนทำงานส่วนใหญ่ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยคนทำงานที่ไม่เคยดื่มเลยมีสัดส่วนสูงที่สุดในทุกเจเนอเรชัน ยกเว้นเจน Z ที่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 42.7) ดื่มนานๆ ครั้ง (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5 ร้อยละของการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนทำงาน จำแนกตามเจเนอเรชัน
ที่มา: การสำรวจความสุข ความผูกพัน และสมดุลชีวิตของคนทำงานในองค์กร ปี 2565 โดย ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น พฤติกรรมสุขภาพของคนทำงานเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นภัยเงียบสำหรับคนวัยทำงานและเป็นสาเหตุในการเสียชีวิต เนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น องค์กรและสถานประกอบการควรหันมาใส่ใจสุขภาพอนามัยของพนักงานให้มากขึ้น ควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและปรับพฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงานให้เหมาะสม โดยการปรับพฤติกรรมง่ายๆ ด้วยหลัก 3 อ 2 ส ของกระทรวงสาธารณสุข  คือ อ 1 การทานอาหารแต่พอดี มีผักในทุกมื้ออาหาร และงดอาหารหวานจัด มันจัด และเค็มจัด  อ 2 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที อ 3 อารมณ์ ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ส 1 ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ส 2 ลดการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และที่สำคัญควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการประเมิน ป้องกัน และลดปัญหาสุขภาพในระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้นได้


แหล่งอ้างอิง

  1. กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กระทรวงสาธรณสุข. (ออนไลน์). สถานการณ์ปัญหาสุขภาพประชากรและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชากรวัยทำงาน. สืบค้นจาก https://dopah.anamai.moph.go.th/ web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/ tinymce/KPI2564/KPI119/ 25640111911.pdf เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566
  2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (ออนไลน์). ห่างไกลโรค NCD ด้วยหลัก 3 อ 2 ส. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/?p=253540 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567
  3. World Health Organization. (2018). Obesity and overweight. สืบค้นจาก https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/obesity-and-overweight เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
  4. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2557). รายงานสุขภาพคนไทย 2557.กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th