ข้อมูลวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศระบุตรงกันว่า การพบเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการใช้ดาราหรือคนที่มีชื่อเสียงมีผลต่อการเพิ่มการบริโภคของเด็ก ในขณะที่การแจกของแถมที่เป็นของเล่น ทำให้เด็กชอบอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่เด็กจดจำตราสินค้าอาหารได้ มีผลต่อความชื่นชอบรสชาติของอาหาร ความต้องการซื้อ และการบริโภคอาหารของเด็กเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย1 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข การเล็งเห็นความสำคัญในการควบคุมสื่อการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อเด็ก และส่งเสริมการตลาดอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก2
การประเมินผลกระทบการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเด็กตามหลักวิชาการ มีความสำคัญในการนำมาช่วยจัดเก็บข้อมูลผลกระทบการตลาดอาหารฯ และสามารถนำข้อมูลไปใช้สนับสนุนร่าง พระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารฯ ได้ และสามารถใช้เป็นข้อโต้แย้งการต่อต้านการใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจสื่อโฆษณาด้วย รวมทั้ง เป็นข้อมูลที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบการตลาดอาหารฯ เพื่อสนับสนุนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ให้สามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการประเมินผลกระทบการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อเด็กตามหลักวิชาการ จึงมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็กที่มีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ
บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประเมินคุณภาพของเครื่องมือวัดผลกระทบการตลาดอาหารฯ สำหรับเด็กไทยอายุ 10-18 ปี
ภาพบรรยากาศการสนทนากลุ่ม.ในกลุ่มนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง และผู้วิจัยได้ขอความยินยอมด้วยวาจากับผู้เข้าร่วม เพื่อบันทึกภาพกิจกรรมการสนทนากลุ่ม เรียบร้อยแล้ว
ที่มา: โครงการการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของประเทศไทย (2566) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
การพัฒนาและประเมินคุณภาพของเครื่องมือวัดผลกระทบฯ มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและออกแบบเครื่องมือวัดผลกระทบการตลาดอาหารฯ ด้วยการกำหนดกรอบแนวคิดเกี่ยวกับผลกระทบของการตลาดอาหารฯ ซึ่งการศึกษานี้ใช้กรอบแนวคิดผล “กระทบการตลาดอาหารฯ” ของยูนิเซฟ ที่ระบุว่า เมื่อเด็กพบเห็นการตลาดอาหารฯ และพลังอำนาจ ซึ่งหมายความถึง เทคนิคทางการตลาดอาหารฯ เช่น การใช้ผู้แสดงแบบที่มีชื่อเสียง การซื้ออาหารและแถมของเล่น ผ่านสื่อและสถานที่ต่าง ๆ ทำให้เด็กเกิดการรับรู้และชื่นชอบอาหารฯ เกิดความจดจำต่อตราสินค้า สนับสนุนให้การบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพกลายเป็นเรื่องปกติ และทำลายความรอบรู้ด้านอาหาร อีกทั้ง ยังทำให้เด็กเล็กรบเร้าให้ผู้ปกครองและเด็กโตซื้ออาหาร รวมทั้ง บริโภคอาหารฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เด็กได้รับปริมาณพลังงานในแต่ละวันเพิ่มขึ้นด้วย นำไปสู่การภาวะน้ำหนักเกินและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มาจากไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ผลผลิตจากขั้นตอนนี้ คือ ตัวแปรที่ใช้วัดผลกระทบการตลาดอาหารฯ ประกอบด้วย การพบเห็นการตลาดอาหารฯ เทคนิคทางการตลาดอาหารฯ การชื่นชอบอาหารฯ ความจงรักภักดีต่อตราอาหารฯ การซื้อและการบริโภคอาหารฯ3
ขั้นตอนที่ 2 คือ การพัฒนาและการปรับปรุง มี 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 2.1 การทบทวนวรรณกรรมเพื่อรวบรวมและคัดเลือกคำถามที่เกี่ยวข้อง จากฐานข้อมูล PubMed, ระบบฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย หรือ Thai Journal Online และ Google พบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 16 การศึกษาที่วัดผลกระทบการตลาดอาหารฯ และสังเคราะห์ข้อคำถามจากการศึกษาเหล่านี้ ประกอบด้วย 5 ส่วน ข้อคำถามทั้งหมด 21 ข้อคำถาม ดังนี้ ส่วนที่ 1 การพบเห็นการตลาดอาหารฯ จำนวน 3 ข้อ ส่วนที่ 2 ผลกระทบการตลาดอาหารฯ จำนวน 3 ข้อ ส่วนที่ 3 ความจงรักภักดีต่อตราอาหารฯ จำนวน 8 ข้อ ส่วนที่ 4 พฤติกรรมการกิน จำนวน 3 ข้อ และส่วนที่ 5 ข้อมูลทั่วไปของเด็กและผู้ปกครอง จำนวน 4 ข้อ ขั้นตอนที่ 2.2 การประชุมคณะที่ปรึกษาโครงการ โดยคณะที่ปรึกษาตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา และปรับปรุงเครื่องมือวัดผลกระทบการตลาดอาหารฯ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน จำนวนข้อคำถามรวมทั้งสิ้น 27 ข้อคำถาม ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การพบเห็นและเทคนิคทางการตลาดอาหารฯ จำนวน 3 ข้อ ส่วนที่ 2 ผลกระทบการตลาดอาหารฯ จำนวน 3 ข้อ ส่วนที่ 3 การจดจำและความจงรักภักดีต่อตราอาหารฯ จำนวน 12 ข้อ ส่วนที่ 4 พฤติกรรมการกิน จำนวน 2 ข้อ และส่วนที่ 5 ข้อมูลทั่วไปของเด็กและผู้ปกครอง จำนวน 7 ข้อ ดังนั้น ในขั้นตอนนี้ เครื่องมือวัดผลกระทบการตลาดอาหารฯ คือ แบบสอบถาม3
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณภาพของเครื่องมือ โดยการส่งแบบสอบถามให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่าง อายุ 10-18.ปี จำนวน 31 คน ประกอบด้วยการประเมิน 2 แบบ คือ 3.1 ประเมินความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ 5 คน โดยใช้ดัชนีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (content validity index or CVI) และสถิติแคปปา (Kappa statistics) ในการวิเคราะห์ดัชนีความน่าเชื่อถือระหว่างผู้ประเมิน กล่าวคือ ผู้เชี่ยวชาญทุกคน สังเกตและอ่านข้อความในในแบบสอบถามชุดเดียวกัน ในกรณีที่แบบสอบถามมีความน่าเชื่อถือ ผลจากการสังเกตและการอ่านแบบสอบถามของผู้เชี่ยวชาญจะมีความสอดคล้องกัน ผลการศึกษาพบว่า ค่า CVI และสถิติแคปปาของคำถามแต่ละข้อเท่ากับ 1.0 ซึ่งบ่งชี้ว่า แต่ละคำถามมีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา4, 5
3.2 ประเมินความเที่ยงตรงเชิงปรากฎ (face validity) และความเชื่อมั่น (reliability) ของแบบสอบถาม โดยนักเรียนอายุ 10-18 ปี จำนวน 32 คน ประเมินความเที่ยงตรงเชิงปรากฏ ด้วยการสนทนากลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า คำถามส่วนใหญ่ กลุ่มนักเรียนเข้าใจง่ายไม่กำกวมหรือคลุมเครือ ซึ่งบ่งบอกถึงความเที่ยงตรงเชิงปรากฎ และประเมินความน่าเชื่อถือของแบบสอบถามโดยใช้ค่าอัลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s alpha) มีค่าเท่ากับ 0.75 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นได้ และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (intraclass correlation coefficients or ICC) เท่ากับ 0.75 หมายถึง มีความสอดคล้องภายในของคำถามทั้งหมด6, 7
โดยสรุป ผลการประเมินเครื่องมือวัดผลกระทบการตลาดอาหารฯ ของการศึกษานี้ มีความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นได้ ดังนั้น เครื่องมือนี้สามารถนำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบการตลาดอาหารฯ และนำผลที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลไปสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารฯ ของประเทศไทยต่อไปได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของประเทศไทย” (2566) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เอกสารอ้างอิง
ภาพปก freepik.com (premium license)