The Prachakorn

งานวิจัยที่มีคุณภาพกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก


ภาสกร บุญคุ้ม

21 พฤษภาคม 2567
693



การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Rankings) คือกระบวนการที่ใช้ในการประเมินและจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกโดยพิจารณาจากเกณฑ์และตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น การวิจัย การสอน ชื่อเสียงทางวิชาการ และความเป็นสากล (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, 2567) ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการบ่งชี้ถึงคุณภาพและความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษา ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งผู้เรียน ผู้สอน และสังคมในวงกว้าง

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกดำเนินการโดยองค์กรและสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น Times Higher Education (THE), QS World University Rankings และ Academic Ranking of World Universities (ARWU) หรือ Shanghai Ranking (อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง, 2567) ทั้งนี้ ความสำคัญของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกมีหลายประการ (Harzelkorn, 2014, p.18; ARWU, 2019) โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. การเลือกสถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองมักใช้การจัดอันดับเหล่านี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การตัดสินใจเลือกสถานศึกษา เนื่องจากการจัดอันดับสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาและโอกาสทางอาชีพในอนาคต
  2. การสนับสนุนทางการเงินมหาวิทยาลัยที่มีการจัดอันดับสูงมักได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล องค์กรวิจัย และภาคเอกชนมากกว่า เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสถาบันเหล่านั้น
  3. การดึงดูดบุคลากรและนักศึกษา การมีอันดับสูงสามารถช่วยมหาวิทยาลัยดึงดูดนักวิจัยและนักศึกษาที่มีคุณภาพจากทั่วโลก ซึ่งส่งผลดีต่อชื่อเสียงและความสามารถในการพัฒนางานวิจัยและการเรียนการสอน
  4. ความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยที่มีอันดับสูงมักได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาระดับโลกในการร่วมมือกันในโครงการวิจัยหรือแลกเปลี่ยนนักศึกษา
  5. การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การรู้ว่ามหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่เท่าใดสามารถเป็นแรงกระตุ้นให้สถาบันเหล่านั้นปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา การวิจัย และบริการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

Times higher education (2024) ได้รายงานผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปี 2024 ซึ่งประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยที่ได้ 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (อังกฤษ), มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (สหรัฐอเมริกา) และ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (สหรัฐอเมริกา) ตามลำดับ ในขณะที่การจัดอันดับในระดับเอเชีย 3 อันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหฺวา (สาธารณรัฐประชาชนจีน), มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (สิงคโปร์) ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะประเทศไทยมหาวิทยาลัย 3 อันดับแรกได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2567)

รูปภาพที่ 1 ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย 19 แห่ง ปี 2024
ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (2567)

ตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ทาง Times Higher Education (THE)  นำมาใช้ในการจัดอันดับปี 2024 ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ คุณภาพการวิจัย (Research Quality) 30%  การจัดการระบบนิเวศการวิจัย (Research Environment) 28% การเรียนการสอน (Teaching) 24.5%  รายได้จากผลงานลิขสิทธิ์และนวัตกรรม (Industry) 10%  และความเป็นสากล (International outlook) 7.5% ตัวชี้วัดสำคัญในการจัดความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเหล่านี้คืองานวิจัย โดยวัดว่างานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมีอิทธิพล และได้รับการยอมรับไปทั่วโลกมากแค่ไหน นั่นหมายความว่ายิ่งมีงานวิจัยคุณภาพสูงมากเท่าไร ก็ส่งผลต่ออันดับมหาวิทยาลัยมากเท่านั้น

รูปภาพที่ 2 ตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ทาง Times Higher Education (THE)  นำมาใช้ในการจัดอันดับปี 2024
ที่มา: Times higher education (2024)

คุณภาพการวิจัย (Research Quality) 30% ถือเป็นสัดส่วนคะแนนของตัวชี้วัดที่สูงที่สุดในการจัดอันดับ
มหาวิทยาลัยโลกที่ทาง Times Higher Education (THE) ใช้ในปี 2024 ดังนั้น หากต้องการมุ่งเน้นการผ่านตัวชี้วัดในด้านนี้ก็จำเป็นการเลือกวารสารที่มีคุณภาพในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ โดยวิธีการตรวจสอบคุณภาพวารสารในระดับนานาชาติ สามารถทำได้ ดังนี้

1) การตรวจสอบค่า QUARTILES สามารถดูได้จาก Scimago Journal & Country Rank โดยเข้าสู่เว็บไซต์ https://www.scimagojr.com และทำการสืบค้นโดยเลือกวารสารที่ต้องการ โดยใช้ Journal Title, ISSN หรือ Publisher Name รายชื่อสำนักพิมพ์ที่ต้องการตรวจสอบไปทำการค้นหา โดยในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างวารสาร PLoS ONE ดังรูปภาพที่ 3

รูปภาพที่ 3 Scimago Journal & Country Rank
ที่มา: https://www.scimagojr.com

เมื่อพิมพ์ชื่อวารสารและกดค้นหา จะปรากฏหน้าแสดงข้อมูลของวารสารนั้นๆ โดยสามารถตรวจสอบค่า Quartiles ในแต่ละปี จำแนกตาม SUBJECT AREA AND CATEGORY ได้จากส่วนของ Quartiles ดังรูปภาพที่ 4

รูปภาพที่ 4 การตรวจสอบค่า Quartiles
ที่มา: https://www.scimagojr.com

2)    การตรวจสอบอันดับ TOP10 และ TOP1 ของวารสาร ให้ผู้อ่านไปที่เมนู Journal Ranking แล้วเลือก Subject Categories ที่วารสารมีค่า Q1 ในปีปัจจุบัน จากตัวอย่าง ได้แก่ สาขา Multidisciplinary ดูจำนวนวารสารทั้งหมด ใน Subject Category นั้น เพื่อมาคำนวณหาค่า Percentile ของวารสาร และดูลำดับของวารสารที่ต้องการตรวจสอบ เพื่อนำมาคำนวณหาค่า Percentile ของวารสารนั้น (กรณีที่มีเศษให้ปัดเศษขึ้น เมื่อเศษ ≥ 0.5)

ตัวอย่างในการคำนวณ ใน Subject Category: Multidisciplinary มีจำนวนวารสารทั้งหมด 174 วารสาร ซึ่ง PLoS ONE เป็นวารสารลำดับที่ 19 ของ Subject Category นี้ จะคิดเป็น (19/174) X 100 = 10.91% กรณีนี้มีเศษ > 0.5 จึงปัดเศษขึ้น เป็น 11% ดังนั้น วารสารนี้ จึงอยู่ในอันดับ TOP11 ไม่อยู่ในอันดับ TOP10 และ TOP 1 Percentiles

รูปภาพที่ 5 ตัวอย่างคำนวณหาค่า Percentile เพื่อตรวจสอบอันดับ TOP10 และ TOP1 ของวารสาร
ที่มา: https://www.scimagojr.com

การเลือกวารสารที่มีคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสามารถช่วยสร้างชื่อในระดับสากล และสร้างโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมกับประชาคมโลกได้ แต่อีกทางหนึ่งอาจจะบิดเบือนเป้าหมายการพัฒนามหาวิทยาลัยได้ ดังนั้น จึงต้องระวังการละเลยมิติอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัย (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, 2566)


เอกสารอ้างอิง

  • Academic Ranking of the World University (ARWU). (2019). Ranking of the world university 2019. Retrieved May 13, 2024, from https://www.shanghairanking.com/
  • Hazelkorn, E. (2014). Rankings and the global reputation race. New Directions for Higher Education.No.168.
  • Times higher education. (2024). the-asia-rankings-2024. Retrieved May 13, 2024, from https://www.timeshighereducation.com/sites/default/files/the-asia-rankings-2024-methodology-graphic.jpg
  • สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์. (2566). คิดยกกำลังสอง: มหาวิทยาลัย… จัดอันดับอย่างไรไม่ให้เสียท่า. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567 จาก https://tdri.or.th/2023/06/thinkx2-502/
  • สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ. (2567). สืบค้น 15 พฤษภาคม 2567 จากhttps://datacenter.nxpo.or.th/news-detail/152
  • สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2567). 19 มหาวิทยาลัยไทย ติดอันดับ Times Higher Education (THE) ประจำปี 67. สืบค้น 13 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/82498
  • อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง. (2567). การจัดอันดับมหาวิทยาลัยคืออะไร มารู้จักกันเถอะ (ตอนที่ 2). สืบค้น 13 พฤษภาคม 2567 จาก https://il.mahidol.ac.th/th/newsletter73-page-10/

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th