The Prachakorn

เรื่องเล่าจากงานวิจัย...งานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ อบต.งิ้วราย


กาญจนา เทียนลาย

05 มิถุนายน 2567
946



“การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำข้อมูลประชากรมาใช้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ประชากรในพื้นที่ของตนเอง และวางแผนเพื่อกำหนดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เป็นปัจจัยผลักดันที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย”

งานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นงานวิจัยที่รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 2565 เป็นงานวิจัยที่ใช้เวลาในการทำงานราว 18 เดือน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

สำหรับผู้เขียนแล้ว งานวิจัยนี้นับได้ว่าเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) งานแรกที่ได้มีโอกาสทำงานวิจัยมา มีการกำหนดพื้นที่ดำเนินการใน 3 พื้นที่ และองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้เข้าร่วมงานวิจัยนี้ (อีก 2 พื้นที่ อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีแห่งหนึ่ง และในจังหวัดนครปฐมอีกแห่งหนึ่ง)

ทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายของงานนี้ไว้ว่า เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารจัดการและการจัดบริการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน นับตั้งแต่การกำหนดปัญหา การดำเนินการ การวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนหาแนวทางในการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมกิจกรรม ซึ่งทีมวิจัยทำหน้าที่เป็น “เพื่อนคู่คิด” ให้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์แก่พื้นที่ในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ของตน

ในขั้นต้น ทีมวิจัยได้พัฒนา “ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุ” ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) งิ้วราย โดยนำข้อมูลประชากรจากเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย  (www.dopa.go.th) มาวิเคราะห์ทางประชากรศาสตร์ และนำเสนอผ่านพีระมิดประชากร การรวมกลุ่มอายุ เพื่อให้เห็นภาพประชากรในพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวบรวมรายชื่อและพิกัดบ้านของผู้สูงอายุเปราะบางในพื้นที่ก่อน ทั้งนี้ทีมวิจัยและทีมพื้นที่ตำบลงิ้วราย ได้ประชุมและพิจารณากำหนดความหมายของ “ผู้สูงอายุเปราะบาง” ในการศึกษานี้ว่า หมายถึง ผู้สูงอายุที่ติดเตียง หรือ มีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือ อยู่ตามลำพังคนเดียว อย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่า   

การดำเนินการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน  โดยข้อมูลชุดนี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพที่สำคัญ คือ

  • พื้นที่ อบต. งิ้วรายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดแล้ว (ผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 28) ซึ่งแซงหน้าระดับประเทศแล้ว (ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือ ผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 20)
  • ข้อมูลที่ อสม. รายงานผู้สูงอายุเปราะบาง ทำให้เห็นว่ายังมีผู้สูงอายุที่ตกสำรวจ และมีความเสี่ยงทางสุขภาพอยู่มาก เป็นโจทย์ต่อมาที่พื้นที่ต้องค้นหาคนเหล่านี้ต่อไป

ภาพ: พีระมิดประชากรตำบลงิ้วราย เมื่อกลางปี 2565
ที่มา: ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุตำบลงิ้วราย  จากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 เมื่อพื้นที่ อบต. งิ้วราย ได้เห็นข้อมูลประชากรดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับได้เรียนรู้ถึงประเด็นและผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงอายุจากการถ่ายทอดองค์ความรู้จากทีมวิจัยแล้ว พื้นที่ อบต. งิ้วราย ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ ออกแบบและวางแผนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  1. ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ใช้ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุเป็นฐานต่อยอดในการลงเยี่ยมบ้าน และสำรวจสถานการณ์ปัญหาผู้สูงอายุ และได้ปรับปรุงให้เป็นบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ (เน้นไปที่การปรับสภาพห้องน้ำ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน) ประมาณ 8 ครัวเรือน รวมทั้งได้มีการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนต้นแบบ ได้แก่ การติดกล้องวงจรปิดให้กับบ้านที่มีผู้สูงอายุติดเตียงที่อยู่ตามลำพังในเวลากลางวัน เพื่อให้ลูกหลานสามารถดูผ่านกล้องและสื่อสารกับพ่อแม่ได้ มีการให้พระเครื่องที่ติด GPS เพื่อติดตามตัวแก่ผู้สูงอายุที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งการสื่อสารให้คนในชุมชนได้ช่วยเหลือดูแลผ่านระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากครอบครัวของผู้สูงอายุก่อนดำเนินการ
  2. การรวมกลุ่มออกกำลังกาย ด้วยการเดิน ปั่น วิ่ง และเต้นประกอบจังหวะดนตรี โดยต่อยอดวงดนตรีกลองยาวของชุมชน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้สูงอายุและกลุ่มวัยอื่นๆ ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ จึงเน้นเดินมากกว่าวิ่ง
  3. การรวมกลุ่มและเรียนรู้ผ่านโรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย โดยมีสาระการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ การให้ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ พินัยกรรม พินัยกรรมชีวิต การหลอกลวงทางไซเบอร์    การสอนทำยาหม่องโดยใช้วิทยากรจากผู้สูงอายุในชุมชน กิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุ การป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ การจัดบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ การทำอุปกรณ์สำหรับกายภาพ ที่เรียกว่า “คุณช้างจับมือ” เอาไว้ให้ผู้สูงอายุได้บริหารมือ การเย็บ  หมอนรองคอ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้เอง และส่งต่อให้กับเพื่อนผู้สูงอายุคนอื่นในชุมชน   เป็นต้น – กิจกรรมเหล่านี้จะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุติดสังคมที่มักจะออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน
  4. การจัดทำสื่อเผยแพร่งานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และงานอื่นๆ ของ อบต.งิ้วราย ผ่านทาง Tik Tok – เป็นการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และสื่อสารการทำงานของ อบต. งิ้วราย ผ่านคลิปสั้น

กิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นับว่า “ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่เป็นอย่างดี” ที่ใช้คำว่า “คนในพื้นที่” แทนที่จะเป็น “บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” นั้น เนื่องจาก กิจกรรมต่างๆ สำเร็จลุล่วงได้ เพราะเกิดจากการร่วมคิด ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จในพื้นที่นี้คือ

  1. อบต.งิ้วราย โดยการนำของ “ผู้นำ” นั่นคือ นายก อบต. ให้ความสำคัญและเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในทุกกระบวนการของการดำเนินการเรื่องนี้ ให้ความสำคัญกับประเด็นการสูงวัยของประชากรในพื้นที่
  2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานผู้สูงอายุ ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากกองสวัสดิการสังคม กองสาธารณสุข และกองช่าง ให้ความสำคัญและมีความตั้งใจจริงที่จะดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ และมีความเกาะติดกับงานที่ได้รับมอบหมาย
  3. ความร่วมมือของบุคลากรของ อปท. เอาจริงเอาจังร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ของตนอย่างเต็มกำลัง

ท้ายที่สุด สิ่งที่ได้กลับมา คือ “รอยยิ้มของผู้สูงอายุ” ที่สะท้อนออกมาจากการได้เข้าร่วมกิจกรรม นั่นเอง

ภาพ กิจกรรม “คนงิ้วรายรักสุขภาพ” เดิน วิ่ง การปั่นจักรยาน และการออกกำลังกายประกอบจังหวะ

ภาพ กิจกรรมการรวมกลุ่มและเรียนรู้ผ่านโรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย

ภาพ การจัดทำสื่อเผยแพร่งานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และงานอื่นๆ ของ อบต.งิ้วราย ผ่านทาง Tik Tok ระดับพื้นที่


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th