The Prachakorn

วันผู้สูงอายุสากล 2016: ร่วมกันต่อต้านวยาคติ


ปราโมทย์ ประสาทกุล

03 เมษายน 2561
372



วันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons)

องค์การสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญประจำปี 1990 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ได้มีมติให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุสากล

  • วันที่ 1 ตุลาคม 1991 เป็นวันผู้สูงอายุสากล ครั้งแรก
  • วันที่ 1 ตุลาคม 2016 วันผู้สูงอายุสากลประจำปีนี้ มีคำขวัญว่า “ร่วมกันต่อต้านวยาคติ” (Take a Stand Against Ageism)

วยาคติ มาจากคำ.ว่า วย (วัย หรือ อายุ) สนธิกับคำว่า อคติ (ความลำ.เอียง)

คำ.ว่า วยาคติ อ่านว่า วะ-ยา-คะ-ติ เป็นศัพท์ที่เพิ่งบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อสนองต่อสถานการณ์ที่ประชากรไทยกำลังสูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ในปี 2559 นี้ ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด จำ.นวนประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากด้วยอัตราประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ในขณะที่ประชากรรวมของประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้าลงเรื่อยๆ ปัจจุบันประชากรไทยมีอัตราเพิ่มเพียงประมาณร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

อีกเพียง 5 ปีข้างหน้า หนึ่งในห้าของประเทศไทยก็จะเป็นผู้สูงอายุตามนิยามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 คือ มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนต่างเพศต่างวัยต่างเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอย่างสันติสุข วิธีการที่สำคัญคือ ทำให้คนต่างคุณลักษณะเหล่านั้นอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่มีอคติต่อกันไม่ดูถูกเหยียดหยามหรือกีดกันคนต่างเพศ ต่างเชื้อชาติ ศาสนา และที่สำคัญในสังคมไทยที่กำลังสูงวัย คือ ไม่มีอคติหรือเลือกปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยเหตุแห่งวัยของเขา โดยเฉพาะต่อผู้สูงอายุ สังคมควรต้องมองความประพฤติหรือความสามารถเป็นของส่วนตัวบุคคล มิใช่เหมารวมว่าความประพฤติที่ไม่ดีงามบางอย่างหรือความไร้ความสามารถบางประการเป็นเพราะ “ความสูงอายุ”

 

ตัวอย่างการมี “วยาคติ” ต่อผู้สูงอายุ

การลดวยาคติต่อผู้สูงอายุจะช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี อีกทั้งยังจะช่วยให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในกำลังแรงงานยาวนานยิ่งขึ้น

การลดวยาคติอาจทำได้ด้วยการให้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้เรื่องการสูงวัยของประชากรแก่คนทุกเพศทุกวัย ผ่านระบบการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียน และผ่านการประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อสารมวลชนทุกช่องทาง

หลักการสำคัญของการขจัดวยาคติอยู่บนฐานแห่งความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับการขจัดทัศนคติเชิงลบและการเลือกปฏิบัติต่อคนต่างเพศ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือฐานะทางเศรษฐกิจสังคม

คนเราจะดีหรือชั่ว ฉลาดหรือโง่เขลา ขยันหรือเกียจคร้าน มีฝีมือหรือไร้ทักษะ น่านิยมยกย่องหรือน่ารังเกียจ สุภาพอ่อนน้อมหรือก้าวร้าวหยาบกระด้าง ฯลฯ ย่อมอยู่ที่ตัวของแต่ละคน มิใช่อยู่ที่เพศ ชาติพันธุ์ ร่ำรวยหรือยากจน ชาติตระกูล หรือแม้กระทั่งอยู่ที่อายุหรือวัยของคนผู้นั้น

ในพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามคำว่า “วยาคติ” ไว้ดังนี้

“วยาคติ” (ageism) อคติและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ด้วยเหตุแห่งอายุหรือวัย อคติเช่นนี้อาจเกิดจากความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือบรรทัดฐานในทางลบที่มีต่อคนบางกลุ่มอายุ ซึ่งนำไปสู่ความลำเอียงหรือการเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่รับฟังความคิดเห็นของวัยรุ่น เพราะเห็นว่าเด็กเกินไป หรือการไม่ยอมรับพฤติกรรมบางอย่างของผู้สูงวัย เพราะมีทัศนคติว่าผู้สูงอายุไม่ควรทำอย่างนั้น

โดยทั่วไป คำว่า วยาคติหมายถึง อคติหรือทัศนคติเชิงลบ หรือการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ เช่น การมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของครอบครัวและสังคม ผู้สูงอายุเป็นผู้ต้องพึ่งพิงวัยแรงงาน ผู้สูงอายุมีภาพลักษณ์ของความทรุดโทรมของสังขารจนไม่สามารถเป็นผู้ผลิตอีกต่อไป


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th