The Prachakorn

Thai Family Matters: กิจกรรมแทรกแซงสำหรับครอบครัวไทยในจังหวะสำคัญ (ตอน 2)


กัญญา อภิพรชัยสกุล

30 เมษายน 2561
301



ฉบับที่แล้วทุกท่านได้รู้จักกับ Thai Family Matters (TFM) ไปแล้ว ฉบับนี้จะนำเสนอถึงวิธีการนำเครื่องมือของ TFM ทั้ง 5 เล่มไปใช้ และผลลัพธ์เบื้องต้นที่ได้จากการประเมิน

วิธีการดำเนินกิจกรรม

อาสาสมัครของศูนย์พัฒนาครอบครัว (ศพค.) ในพื้นที่ที่ผ่านการแนะนำการใช้คู่มือโดยนักวิจัยโครงการฯ จะแจกคู่มือ TFMจำนวน 5 เล่ม ให้กับพ่อแม่/ผู้ปกครองเป้าหมาย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสื่อสารและทำกิจกรรมกับลูกหลาน พร้อมนี้นักวิจัยโครงการฯ จะคอยติดตามและให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการใช้คู่มือกับพ่อแม่/ผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ยังสามารถดูการใช้คู่มือได้จาก YouTube แนะนำคู่มือจากเว็บไซต์โครงการได้อีกด้วย* สำหรับการแจกคู่มือจะแจกครั้งละ 1 เล่ม และให้เวลาในการทำกิจกรรมประมาณเล่มละ 5-7 วัน ข้อควรระวังคือ ไม่ควรแจกครั้งเดียวทั้ง 5 เล่ม เพราะจะทำให้ไม่ชวนติดตามและผู้ปกครองเกิดความท้อและไม่อยากทำกิจกรรม

ผลลัพธ์เบื้องต้น

โครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมแทรกแซงสำหรับครอบครัว ในจังหวัดเชียงราย นนทบุรี สงขลา และอุดรธานี จากการประเมินและติดตามเบื้องต้นพบว่า คู่มือ TFM ทำให้ “มีการสื่อสารกันภายในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น” ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นภายในครอบครัว ลูกกล้าพูดคุยกับพ่อแม่ในเรื่องที่ไม่เคยพูดคุยมาก่อน เช่น การพูดคุยเรื่องเพศ ซึ่งทั้งพ่อแม่และตัวเด็กเองต่างก็สะท้อนความรู้สึกจากการทำคู่มือในเชิงบวก ดังข้อความที่สะท้อนความรู้สึกของพ่อแม่/ผู้ปกครองและเด็กที่ได้ทำคู่มือครบ 5 เล่ม

“เมื่อก่อนไม่ค่อยกล้าพูดคุย การทำคู่มือทำให้รู้สึกสบายใจและสามารถพูดคุยได้มากขึ้น”

"เรื่องบางเรื่องหนูไม่เคยคิดจะพูดคุยกับพ่อแม่เลย แต่การได้ทำคู่มือแล้ว ทำให้รู้ว่าสามารถคุยกับพ่อแม่ได้ รู้สึกสบายใจขึ้น แต่เดิมไม่กล้าพูด และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรการได้เริ่มต้นพูดคุยทำให้รู้ว่าเราสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง”

“เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเองมากขึ้น” บางครอบครัวคุณพ่อที่ทำงานเมื่อกลับบ้านจะออกไปดื่มเหล้ากับเพื่อน แต่เมื่อมีกิจกรรมที่ต้องทำในคู่มือ โดยลูกขอให้กลับมาทำกิจกรรมที่บ้าน คุณพ่อจะไม่ออกไปดื่มเหล้านอกบ้าน แต่จะกลับบ้านมาร่วมทำกิจกรรมในคู่มือกับลูก นอกจากนี้ยังทำให้ครอบครัวเกิดความตระหนักถึงพฤติกรรมเสี่ยงของลูกหลานมากขึ้น

“เมื่อก่อนจะสนใจแต่เรื่องเรียน หลังจากได้อ่านคู่มือ ก็รู้ว่าต้องดูเรื่องดื่มเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด และเรื่องเพศด้วย”

“เกิดความรับผิดชอบ” ผู้ปกครองให้ข้อมูลว่า หลังจากเด็กได้ทำ.คู่มือทั้ง 5 เล่มแล้ว พบว่า เด็กมีความรับผิดชอบในหน้าที่มากขึ้น ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้น ดูได้จากเสียงสะท้อนของพ่อแม่/ผู้ปกครองส่วนหนึ่ง ที่ระบุว่า

          “ลูกพูดคุยด้วยมากขึ้น หน้าก็ไม่งอ เวลาแม่ถามอะไรก็ตอบดีๆ รู้สึกว่าดีกว่าเดิม”   

      “ลูกชายขยันขึ้น จัดการความสะอาดห้องนอนเองโดยไม่ต้องบอก มีเวลาว่างก็ไปเตะบอลกับเพื่อน เขารับผิดชอบตัวเองได้ดี ทำให้เราหายห่วง”

“ครอบครัวเข้มแข็ง” การทำกิจกรรมในคู่มือทั้ง 5 เล่ม วางแนวทางในการทำกิจกรรมว่าต้องทำกิจกรรมพร้อมกันทั้งครอบครัวแต่สามารถแทรกในกิจกรรมที่ครอบครัวทำประจำอยู่แล้วได้ เช่น การชวนกันตั้งกฎของการดื่มเหล้าระหว่างการรับประทานอาหารเย็นเป็นต้น ซึ่งทำให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน มีกิจกรรมที่ทำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มีการตั้งกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ ขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งกฎระเบียบเหล่านั้นเมื่อออกมาเป็นกฎของครอบครัวแล้วพ่อแม่ผู้ปกครองจะให้ลูกหลานเขียนลงไปในคู่มือเอง บางครอบครัวให้ข้อมูลว่าลูกจะได้จดจำ.และต่อไปหากเกิดปัญหาอะไรขึ้น จะได้ย้อนกลับมาดูว่าเคยมีกฎของครอบครัวไว้อย่างไร สิ่งต่างๆ ที่ได้จากการทำกิจกรรรมคู่มือนำไปสู่ครอบครัวเข้มแข็งขึ้น เพราะได้สื่อสารกันมากขึ้น (Communication) เกิดความตระหนักบทบาทหน้าที่ของตนเอง (Awareness) เกิดความรับผิดชอบ (Responsibility) นำไปสู่ครอบครัวเข้มแข็ง (Empowerment) นอกจากนี้เนื้อหาความรู้ต่างๆ ที่ได้จากการทำกิจกรรม สามารถสร้างเกราะป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับบุตรหลานในอนาคตได้ 

*ผู้ปกครองที่สนใจต้องการนำคู่มือไปใช้กับลูกหลาน สามารถดาวน์โหลดคู่มือและดูการแนะนำ.การใช้คู่มือได้ที่ www.ครอบครัวสำคัญ.com

เอกสารอ้างอิง

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. 2560. “รายงานผลการวิจัย โครงการครอบครัวไทยในจังหวะสำคัญต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน: การพัฒนาปรับปรุงและนำ.ไปใช้ซึ่งโครงการครอบครัวสำคัญในระดับประเทศ”

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th