The Prachakorn

สังคมสูงวัย อย่ามองแค่อายุ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

20 มิถุนายน 2567
543



ในปี 2565 ประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในอีกไม่เกิน 20 ปี คาดว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็นมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

การมีผู้สูงอายุจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในวัยเด็กและวัยแรงงาน สร้างความวิตกกังวลต่ออนาคตของประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะกำลังผลิตของประเทศจะลดลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพ บำเหน็จ บำนาญ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้น ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร จะแบกรับภาระนี้ได้หรือไม่

ผู้สูงอายุเพิ่ม ภาระก็เพิ่ม?

ผู้สูงอายุนั้นถูกมองว่าเป็นวัยที่ต้องการการพึ่งพิง เพราะเป็นวัยที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน และรายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินออม และสวัสดิการต่างๆ ของแต่ละคน และต้องพึ่งพิงประชากรในวัยทำงาน โดยทั่วไป มาตรวัดระดับการพึ่งพิงของประชากรในประเทศที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ “อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ” ซึ่งเป็นการวัดสัดส่วนประชากรสูงอายุ เปรียบเทียบกับประชากรวัยทำงาน ยิ่งตัวเลขอัตราส่วนนี้สูง ยิ่งแปลว่าวัยทำงานต้องรับภาระการเลี้ยงดูวัยพึ่งพิงสูงตามไปด้วย 

ข้อมูลประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนพึ่งพิงวัยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2553 อัตราส่วนพึ่งพิงวัยผู้สูงอายุอยู่ที่ 20 หมายถึง ประชากรวัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 20 คน และคาดประมาณว่าในปี 2583 อัตราส่วนพึ่งพิงวัยผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 56 นั่นคือ ในเวลา 30 ปี ภาระที่วัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนพึ่งพิงนี้ตัดสินคนที่เพียงตัวเลข เพราะเมื่อประชากรอายุขึ้นเลข 60 ปี จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องพึ่งพิงทันที ซึ่งการตัดสินคนด้วยเพียงเลขอายุ อาจห่างไกลจากความเป็นจริงก็เป็นได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้สูงอายุมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น และหากสามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้นานขึ้น กลุ่มคนอายุ 60 ปี จึงอาจไม่ได้อยู่ในภาวะพึ่งพิงเสมอไป

อายุจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดของการต้องพึ่งพิง

“อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ” เป็นมาตรวัดที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1913 หรือ 111 ปีที่แล้ว ซึ่งในขณะนั้น ข้อมูลประชากรยังมีไม่มากเท่าทุกวันนี้ การใช้ “อายุ” ในการจัดกลุ่มประชากรจึงเป็นวิธีการแบ่งประชากรแบบหยาบ แต่ทุกวันนี้ที่เราเข้าถึงข้อมูลประชากรที่หลากหลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงมีวิธีการวัดอัตราการพึ่งพิงที่สะท้อนภาวะพึ่งพิงที่แม่นยำยิ่งขึ้น ตัวอย่างมาตรวัดที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ เช่น “อัตราส่วนพึ่งพิงกำลังแรงงาน” (labor force dependency ratio: LFDR) ที่ใช้ข้อมูลคนที่ยังอยู่ในกำลังแรงงาน โดยไม่สนใจอายุ หรือ “อัตราส่วนพึ่งพิงกำลังแรงงานปรับน้ำหนักด้วยผลผลิต” (productivity-weighted labor force dependency ratio : PWLFDR) ที่ใช้การอยู่ในกำลังแรงงานและใช้การศึกษามาปรับค่าน้ำหนัก 

การคำนวณอัตราส่วนการพึ่งพิงโดยใช้ข้อมูลการอยู่ในกำลังแรงงาน พบว่าตัวเลข “การพึ่งพิง” แตกต่างกับการใช้อัตราส่วนพึ่งพิงที่ใช้อายุเป็นตัวคำนวณอย่างมาก ตัวอย่างการศึกษาจากประเทศในยุโรป พบว่า อัตราส่วนการพึ่งพิงนั้นไม่ได้สูงเท่าที่เคยคาดประมาณ หากใช้การอยู่ในตลาดแรงงานและระดับการศึกษาในการคำนวณแทนการใช้เพียงอายุ และที่สำคัญ อัตราการพึ่งพิงในอนาคตแทบจะไม่สูงขึ้นเลย (ในบางกรณีลดลงด้วยซ้ำ) ถึงแม้จะมีคนสูงวัยจำนวนมากขึ้น เป็นเพราะคนสูงวัยในอนาคตมีแนวโน้มต้องการการพึ่งพิงน้อยลง เนื่องจากเป็นผู้ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง และยังมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานอย่างแข็งขัน

ถ้ามองแต่อายุ ทางเลือกนโยบายก็จะถูกจำกัด

มาตรวัดที่ใช้ในการประเมินผลของการเป็นสังคมสูงอายุมีความสำคัญอย่างมากต่อทิศทางนโยบายของประเทศ หากเราเลือกมองมาตรวัดที่สะท้อนเพียง “อายุ” ของประชากรอย่างอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ ทางเลือกนโยบายก็จะถูกจำกัด เนื่องจากต้นตอของ “ปัญหา” อยู่ที่อายุของประชากร ซึ่งยากที่จะจัดการ แนวทางเดียวที่จะจัดการให้อัตราการพึ่งพิงของประชากรไม่สูงมากจนเกินไป คงหนีไม่พ้นนโยบายส่งเสริมการมีบุตรที่จะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่วัยแรงงานในอนาคต เพื่อให้มีตัวหารในการคำนวณอัตราส่วนพึ่งพิงเพิ่มขึ้น

แต่หากเราใช้มาตรวัดที่สะท้อนผลิตผลของประชากรอย่างอัตราส่วนพึ่งพิงกำลังแรงงาน หรือ อัตราส่วนพึ่งพิงกำลังแรงงานปรับน้ำหนักด้วยผลผลิต ทางเลือกนโยบายจะมีหลากหลายมากขึ้น เพราะเราสามารถกำหนดนโยบายที่ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของคนทุกกลุ่มวัย หรือเพิ่มผลผลิตของประชากรโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเพิ่มโอกาสการจ้างงานของผู้สูงอายุ การขยายอายุเกษียณ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างเสริมสุขภาพในประชากรทุกวัย และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตผลการทำงาน

หากเป็นเช่นนี้ สังคมสูงวัยจึงไม่ได้น่ากังวลมากนัก หากประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาโอกาสในการทำงานให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และที่สำคัญ คือการพัฒนากำลังแรงงานที่มีศักยภาพ เพื่อให้เป็นกำลังแรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากยิ่งขึ้น

รูป: ความหวังการเพิ่มอายุทำงานของผู้สูงอายุ
ที่มา: www.freepik.com 


เอกสารอ้างอิง

  • กาญจนา เทียนลาย. (2563) รูปแบบการพึ่งพิงที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากรไทย. The Prachakorn: 30 ธันวาคม 2563.
  • Lutz W, Gailey N. (2020) Depopulation as a Policy: Challenge in the Context of Global Demographic Trends. UNDP Serbia.

ภาพประกอบ freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th