“ฉลากโภชนาการ” เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ(1) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในฉลากโภชนาการบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคที่จะเข้าใจ(2) บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปกระบวนการการพัฒนาและประเมินคุณภาพของแบบสอบถามในการวัดความเข้าใจฉลากโภชนาการสำหรับเด็กไทยอายุ 10-18 ปี ซึ่งมี 3 ขั้นตอนหลัก ดังรูป
รูป: ขั้นตอนการพัฒนาและประเมินคุณภาพของแบบสอบถามฯ
ที่มา: นงนุช จินดารัตนาภรณ์
1.1 การออกแบบแบบสอบถามฯ ใช้การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจฉลากโภชนาการ สืบค้นข้อมูลผ่านฐานข้อมูล Pubmed Thai Journals Online (ThaiJo) ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย (ThaiLIS) ที่เผยแพร่ ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2555 ถึง 15 เมษายน พ.ศ. 2566 และเอกสารอื่นๆ จากคำแนะนำของที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ ผลทบทวนฯ มี 5 การศึกษาที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยคัดเลือกข้อคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างและออกแบบคำถามและคำตอบ ผลการศึกษาที่ได้จากขั้นตอนนี้ คือ การระบุข้อคำถามและคำตอบที่ใช้ในการวัดความเข้าใจฉลากโภชนาการ จำนวน 14 ข้อ
1.2 การพัฒนาแบบสอบถามฯ ผู้วิจัยได้เสนอร่างแบบสอบถามฯ และประชุมกับที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ 3 ครั้ง เพื่อประเมินความเที่ยงตรงของเนื้อหา (content validity) ของข้อคำถามและคำตอบที่ใช้ในการวัดความเข้าใจฉลากโภชนาการ ผลการศึกษาที่ได้ คือ แบบสอบถามฯ ข้อคำถามที่มีการเพิ่มเติม ปรับปรุง และแก้ไข จำนวน 15 ข้อ
2.1 การประเมินความเที่ยงตรง โดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ 3 ท่าน และด้านสาธารณสุข 2 ท่าน ประเมินด้วยดัชนีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (content validity index or CVI) ผลการศึกษาพบว่า ค่า CVI ของคำถามแต่ละข้อเท่ากับ 1.0 หมายถึง มีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา(3) จากนั้น ให้กลุ่มตัวอย่างอายุ 10-18 ปี จำนวน 32 คน อ่านแบบสอบถามฯ เพื่อทดสอบความตรงที่เห็น (face validity) ด้วยการสนทนากลุ่มผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจข้อคำถามที่ถามว่า “ฉลากใดแสดงคุณค่าทางโภชนาการของขนมที่มีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่ากัน” ผู้วิจัยจึงปรับคำถามเป็น “สองรูปนี้เป็นฉลากหวาน มัน เค็ม ของขนมขบเคี้ยว A และ B ถ้าให้หนูเลือกจากฉลาก ขนมขบเคี้ยวใดดีต่อสุขภาพมากกว่ากัน” เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรงตามที่ปรากฏ
2.2 การทดสอบความเชื่อมั่น (reliability) ด้วยวิธีการแบบทดสอบซ้ำ (Test-Retest reliability) โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการสนทนากลุ่ม 32 คน ตอบแบบสอบถาม 2 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สอง ห่างกัน 14 วัน แล้วนำผลคะแนนที่ได้จากทั้งสองครั้งมาคำนวณค่า Cronbach’s alpha และค่าสหสัมพันธ์ภายในชั้น (interclass correlation coefficient: ICC) ผลการศึกษาพบว่า ค่า Cronbach’s alpha ครั้งที่ 1 เท่ากับ 0.715 และครั้งที่ 2เท่ากับ 0.835 แสดงว่า แบบสอบถามฯ มีความเชื่อมั่นระดับดี ค่า ICC ครั้งที่ 1 เท่ากับ 0.709 และครั้งที่ 2 เท่ากับ 0.805 หมายความว่า แบบสอบถามฯ มีความสอดคล้องกันในระดับดี(4)
หากผลการทดสอบแบบสอบถามฯ ได้ค่า CVI ต่ำกว่า 0.70 แบบสอบถามนั้นมีความเที่ยตรงเชิงเนื้อหาพอใช้ ส่วนค่า Cronbach’s alpha และค่า ICC ก็เช่นเดียวกัน หากสองค่านี้ต่ำกว่า 0.70 แสดงว่า แบบสอบถามมีความเชื่อมั่นและความสอดคล้องในระดับพอใช้ ผู้วิจัยควรพิจารณาปรับแบบสอบถาม เพื่อให้แบบสอบถามนั้นมีคุณภาพวัดได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ในการศึกษานี้ ค่าสถิติต่างๆ ที่ได้จากการทดสอบอยู่ในระดับดี ผู้วิจัยจึงไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแบบสอบถามฯ และนำแบบสอบถามฯ ไปทดสอบ
อีกครั้ง
โดยสรุป ผลการประเมินแบบสอบถามฯ ของการศึกษานี้ มีความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่น ดังนั้น แบบสอบถามฯ สามารถนำไปใช้ เพื่อวัดความเข้าใจฉลากโภชนาการสำหรับเด็กไทยที่มีอายุ 10-18 ปี ได้
เอกสารอ้างอิง