The Prachakorn

สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์


นงเยาว์ บุญเจริญ

27 มิถุนายน 2567
464



ระบบการศึกษาเป็นสิ่งสะท้อนและเชื่อมโยงกับความสามารถในการพัฒนาประเทศ ยิ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดี จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากรในประเทศ ทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรม หนังสือ “สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ : Teach Like Finland” ผู้เขียน ทิโมธี ดี. วอร์กเกอร์ แปลโดย ทิพย์นภา หวนสุริยา เป็นหนังสือที่ช่วยให้เห็นแง่มุมใหม่ในระบบการศึกษาที่แตกต่างไปจากของประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้เขียนที่เป็นครูชาวอเมริกัน ที่จะพาไปรู้จักกับระบบการศึกษาและวิธีการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ที่ผสมผสานความสุขและความสนุกของนักเรียนระดับประถมและมัธยมของประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง โดยสอดแทรกผลการวิจัยอยู่เป็นระยะ ช่วยสนับสนุนให้เนื้อหามีความเป็นวิชาการและน่าสนใจยิ่งขึ้น เนื้อหาภายในเล่มจะเผยให้เห็นเคล็ด (ไม่) ลับของระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ที่ “ให้คุณค่าความสุขมากกว่าผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา” วัดผลนักเรียนทุกคนตามความสามารถเฉพาะรายบุคคล ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านการเล่น ใช้หลักการทางจิตวิทยาเชิงบวกของ “การเรียน” กับ “ความสุข” โดยเนื้อหาภายในแบ่งเป็น 5 บท

  • สุขภาวะ การเรียนรู้จากห้องเรียนที่ส่งเสริมสุขภาพกาย อารมณ์และจิตใจของครูและนักเรียน ด้วยการจัดเวลาพักสมอง ปรับตารางเรียนให้ครูและนักเรียนได้มีเวลาพัก 15 นาที ทุกช่วงเวลาเรียน 45 นาที เรียนรู้ขณะเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเดินชมผลงานพร้อมกับแสดงความคิดเห็น กระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัวตามโครงการของรัฐบาล “ปลุกโรงเรียนให้เคลื่อนไหว” เติมพลังหลังเลิกเรียน รู้จักวางมือจากงานไปเติมพลังตามความชอบของแต่ละคน ดังนั้นครูจึงไม่ให้การบ้านที่ “ยาก” และ “เยอะ” เกินไป เพราะตระหนักถึงคุณค่าและเวลาว่างของนักเรียน จัดพื้นที่ให้เรียบง่าย ตามแนวคิด “น้อยคือมาก” โดยเชื่อว่าผนังที่เรียบง่ายช่วยให้เด็กมีสมาธิ ไม่ถูกเบี่ยงเบนความสนใจ สูดอากาศบริสุทธิ์และเข้าหาธรรมชาติ ด้วยการเปิดหน้าต่าง รักษาความสงบ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย สงบจากการฝึก “สติ” จากการฟัง เดิน การรับรู้ลมหายใจเข้าออก รู้จักตนเอง ควบคุมตนเองทั้งความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม
  • ความสัมพันธ์ที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของความสุขที่ครูควร รู้จักเด็กแต่ละคน เล่นกับนักเรียน ไล่ตามความฝันของห้อง ผ่านกิจกรรมเข้าค่าย ที่นักเรียนเป็นผู้เลือกและจัดหาระดมทุนเอง ทำให้เกิดการทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตั้งแต่ค่ายยังไม่เริ่ม กำจัดการกลั่นแกล้ง ผ่านโปรแกรม “KiVa” คือการต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน หาคู่หู จับคู่ระหว่างพี่กับน้องเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในหมู่นักเรียน
  • อิสระ โดยเริ่มต้นด้วยเสรีภาพ เว้นช่องว่าง ให้นักเรียนมีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเข้าบทเรียน ให้ทางเลือก ด้วยการมอบหมายงานโดยคำนึงถึงจุดแข็งและความสนใจของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข และเรียกร้องความรับผิดชอบ ครูในฟินแลนด์ไม่ถูกตรวจสอบด้วยการทดสอบมาตรฐาน แต่ทุกคนต่างรับผิดชอบในวิชาชีพ ที่ตั้งอยู่บนความไว้วางใจ แทนการตรวจสอบที่ขับเคลื่อนอยู่บนความกลัว จนอาจทำลายโอกาสที่จะได้พบกับความสุขจากการลงมือทำ จึงไม่แปลกใจที่นักเรียนจะได้รับความไว้ใจให้รับผิดชอบในหน้าที่ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ใช่เพราะสถานภาพที่สูง แต่เพราะความ “ไว้วางใจ” เชื่อว่าเด็ก ๆ ทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง
  • ความเชี่ยวชาญ จากผลการทดสอบ PISA (Programme for International Student Assessment- โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ) ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2001 นักเรียนฟินแลนด์มีคะแนนสูงสุดในกลุ่มประเทศ OECD ทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แม้ว่าการสอนจะใช้เวลาน้อยแต่สอนแก่นสาระสำคัญ สกัดคุณค่าจากตำราเรียน ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีให้พอเหมาะเพื่อสนับสนุนการเรียน ผสมผสานกับการนำดนตรีเข้ามาใช้ และเน้นฝึกปฏิบัติให้มากขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากการลงมือทำ
  • กรอบคิด “ทำงานเพื่อมีชีวิต” ไม่ใช่ “มีชีวิตเพื่อทำงาน” มุมมองการทำงานแบบชาวฟินแลนด์ที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าและความสุขของคนทำงาน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยจุดประกายและเป็นแนวทางการศึกษา ให้กับผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง นำไปต่อยอด และปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสม เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ เด็กและเยาวชน ที่จะเติบโตและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ทำให้การเรียนกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็กทุกคน


เอกสารอ้างอิง

  • วอร์กเกอร์, ทิโมธี ดี. (2562). สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th