The Prachakorn

คนรุ่นผม กำลังแก่ไปพร้อมๆ กับสังคม


ปราโมทย์ ประสาทกุล

02 กรกฎาคม 2567
799



เมื่อสองวันก่อน ผมคุยกับเพื่อนๆ ที่เรียนรุ่นเดียวกันในมหาวิทยาลัยเราต่างพูดไปในทำนองเดียวกันว่า “ไม่น่าเชื่อที่เราคบเป็นเพื่อนกันมานานเกือบ 60 ปีแล้ว” พวกเรารู้จักกันมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จนวันนี้กลายเป็นผู้เฒ่ากันหมดแล้ว เหตุการณ์เมื่อครั้งพวกเรายังเป็นน้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยยังเป็นภาพเด่นชัดเหมือนกับว่าเหตุการณ์นั้นเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้เอง ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าหนุ่มๆ สาวๆ หน้าใสวันนั้นจะกลายเป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” ที่หน้าตาดูอาวุโส ไม่สดใสไร้เดียงสาเหมือนเมื่อก่อนไปเสียแล้ว

“ผู้สูงอายุวัยกลาง” (อายุ 70-79 ปี) เป็นศัพท์เรียกกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุอยู่ตรงกลางระหว่าง “ผู้สูงอายุวัยต้น” (อายุ 60-69 ปี) กับ “ผู้สูงอายุวัยปลาย” (อายุ 80 ปีขึ้นไป) เมื่อเป็นผู้สูงอายุวัยกลางแล้ว ย่อมหมายความว่าถ้าพวกเรายังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเพียงไม่กี่ปี เราก็จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย นั่นหมายความว่าพวกเราจะก้าวเข้าไปอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตทุกวันนี้พวกเราพูดกันถึงเรื่องความตายบ่อยครั้งขึ้น เหมือนกับจะรู้ตัวว่าอีกไม่นานก็จะต้องลาจากโลกนี้ไป ทำให้ผมนึกถึงข้อความที่เขียนไว้บนตาลปัตรของพระที่นั่งสวดอภิธรรม 4 รูป ตามลำดับคือ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติ ไม่มีใครหนีความตายพ้น

เมื่อผมเป็นผู้สูงอายุ ประเทศไทยก็เป็นสังคมสูงวัย

คนรุ่นผมเติบโตเจริญวัยขึ้นพร้อมๆ กับการสูงวัยของสังคม พวกเราเกิดและผ่านชีวิตวัยเด็กมาในช่วงที่ประเทศไทยยังเป็น “สังคมเยาว์วัย” เมื่อพวกเรายังเป็นเด็ก สังคมไทยก็ยังเป็นเด็กเช่นกันโดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจสำมะโนประชากรของประเทศไทยในปี 2503 นับจำนวนประชากรได้ 26 ล้านคน เป็นเด็กประมาณ 12 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของประชากรทั้งหมด และเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียง 1 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 4 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น

เมื่อคนรุ่นผมเติบโตขึ้นกลายเป็นวัยรุ่น สังคมไทยก็เหมือนกับเป็นสังคมวัยรุ่นที่มีชีวิตชีวา และเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ประชากรไทยช่วงนั้นเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากในช่วงปี 2500-2520 อัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยสูงประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ช่วงเวลานั้นผู้หญิงไทยคนหนึ่งตลอดวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเฉลี่ยประมาณ 5 คน ผมจำตัวเลขได้ว่าสำมะโนประชากรปี 2513 นับจำนวนประชากรได้ 34 ล้านคน และปี 2523 นับได้ 45 ล้านคนเท่ากับอัตราเพิ่มประชากรเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ต่อปี ตัวเลขที่จำได้แม่นอีกชุดหนึ่งคือ จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีของไทยในระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2506 ถึง 2526 มีเด็กเกิดในประเทศไทยปีละเกินกว่าล้านคน ผมเรียกเด็กเกิดในช่วงนี้ว่าเป็น “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือ “สึนามิประชากร” ซึ่งเป็นคลื่นประชากรที่ใหญ่มากๆ ของประเทศไทย

ในช่วงที่ประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายชะลออัตราเพิ่มประชากรในปี 2513 เพราะเห็นว่าการเพิ่มอย่างรวดเร็วของประชากรเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยใช้วิธีส่งเสริมให้คู่สมรสคุมกำเนิดหรือวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ มีการจัดตั้งคณะกรรมการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นฝ่ายเลขานุการ มีคณะอนุกรรมการนโยบายและแผนประชากร ในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม นโยบายลดอัตราเพิ่มประชากรโดยการรณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัวของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

เมื่อสังคมเยาว์วัย ระบบการให้การศึกษาต้องปรับตัว

เมื่อผมเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว เริ่มได้ยินเรื่องเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการวางแผนครอบครัวของประเทศ และเรื่องนโยบายชะลออัตราเพิ่มประชากรในช่วงเวลานั้น ระบบการศึกษาของไทยต้องปรับตัวขนานใหญ่ โรงเรียนทุกระดับตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษา ต้องเพิ่มห้องเรียนและเพิ่มจำนวนนักเรียนที่จะรับเข้า รัฐบาลต้องผลิตครูเพิ่มมากขึ้น การศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ต้องปรับตัว มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่จะรับด้วยเช่นกัน

เมื่อสังคมสูงวัย การให้บริการสุขภาพอนามัยต้องปรับตัว

วันนี้เพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมเป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “ผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” แล้ว พร้อมๆ กันกับที่ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ทุกครั้งที่เราพบกัน นอกจากคุยถึงเรื่องความตายที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกทีแล้ว สุขภาพอนามัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เพื่อนๆ ชอบหยิบยกมาเป็นประเด็นสนทนากัน เราคุยกันเรื่องความเจ็บป่วยไข้ ใครมีโรคประจำตัวอะไร รักษากันอย่างไร ไปหาหมอที่ไหน ดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองอย่างไร

รูป: สังคมสูงวัย
ที่มา: https://www.prachachat.net/columns/news-320260
สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567

พวกเราที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคมทำการฉายภาพประชากรในอนาคตกันอยู่เป็นประจำ เราคาดประมาณกันว่าต่อไปนี้ประชากรของประเทศไทยจะมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเด็กเกิดน้อยลง และคนมีอายุยืนยาวขึ้น ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประชากรรุ่นเกิดล้านที่เกิดปี 2506-2526 กำลังทยอยเข้าสู่วัยสูงอายุ คลื่นยักษ์ประชากรหรือ “สึนามิประชากร” กลุ่มนี้ กำลังถาโถมเข้าสูงวัยสูงอายุ อีกไม่ถึง 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

“ผู้สูงอายุวัยกลาง” รุ่นเดียวกับผมน่าจะอยู่ในสภาพเดียวกับ“สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” คือมีความเสี่ยงหรือความกังวลเรื่องสุขภาพ ทุกวันนี้ผมมีโอกาสไปสถานบริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ บ่อยครั้งขึ้น ทั้งไปเยี่ยมเพื่อนหรือญาติ และตัวเองไปรับบริการการรักษาพยาบาล ผมได้เห็นผู้ไปรับบริการในสถานบริการทางการแพทย์เหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผมเชื่อว่าการดูแลรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เราต้องยอมรับความจริงที่ว่าคนเราเมื่อมีอายุสูงขึ้นก็ย่อมเสี่ยงต่อความเจ็บไข้ได้ป่วยมากขึ้น เพื่อนของผมหลายคนเป็นสารพัดโรค ตั้งแต่โรคธรรมดาที่พวกเรานิยมเป็นกันเช่น โรคเกี่ยวกับ ตา ฟัน หู และกระดูก ไปจนถึงโรคเกี่ยวกับหัวใจ

ตา เป็นอวัยวะสำคัญที่ไม่ค่อยจะถูกโฉลกกับคนชรา เมื่อมีอายุมากขึ้นเกือบทุกคนจะมีปัญหาเรื่องสายตา สั้นบ้าง ยาวบ้าง เอียงบ้าง เป็นต้อหิน ต้อกระจก เพื่อนร่วมรุ่นของผมมีปัญหาเรื่องสายตาหลายคน พวกเราต้องไปพบจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อนบางคนขับรถเองไม่ได้แล้วเพราะสายตาไม่ดี ผมยังขับรถเองได้ เพื่อนหลายคนชมว่าผม “เก่ง” ที่ยังขับรถเองได้ (ผมคิดว่าถ้าผมขับรถเองไม่ได้ ชีวิตของผมคงจะหมดความหมายไปมากกว่าครึ่ง)

ฟันและเหงือกก็ดูเหมือนเป็นปัญหายอดนิยมของผู้สูงอายุวัยกลางอย่างผม เมื่อแก่ตัวลงฟันก็สึกกร่อนเสื่อมถอยไปตามอายุ ผุบ้าง หักบ้าง พอฟันมีปัญหาก็ลามไปถึงเรื่องการกิน กินอาหารไม่สะดวกก็พาลไปถึงเรื่องกระเพาะ และท้องไส้ พวกเราเมื่อแก่ตัวลงก็ต้องไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ (เพื่อนคนหนึ่งมีลูกสาวเป็นหมอฟันนับว่าเพื่อนมีบุญวาสนาอย่างยิ่ง)

หู ที่รับสัญญาณเสียง เป็นอวัยวะสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่เพื่อนรุ่นเดียวกับผมหลายคนเริ่มมีปัญหา บางคนปรับทุกข์ว่าร่างกายส่วนอื่นทั้งผิวหนัง หน้าตา เริ่มมีรอยย่นหย่อนยานไม่เต่งตึงเหมือนก่อน เหลือแต่หูอย่างเดียวที่ตึงขึ้น ใครพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน ทำให้ไม่อยากออกไปพบปะสมาคมกับเพื่อนฝูงหรือคุยกับผู้คน เครื่องช่วยฟังที่มีคุณภาพดีก็มีราคาสูง ที่ราคาไม่แพงนักก็มักมีคุณภาพต่ำจนไม่อยากจะใช้

นอกจากปัญหาพื้นฐานเรื่อง หู ตา เหงือก ฟัน ผู้สูงอายุวัยกลาง และวัยปลายยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก โดยเฉพาะข้อเข่า โรคหัวใจ ภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะอัลไซเมอร์ อัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องนอนติดเตียงอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ในการทำกิจวัตรประจำวันโรคของผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องการการดูแลรักษาในระยะยาว

ความต้องการการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพย่อมจะเพิ่มมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาอัตราเพิ่มประชากรลดต่ำลงอย่างมากจนถึงขั้นติดลบ ขณะที่ประชากรรวมกำลังลดจำนวนลง แต่ประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-5 ต่อปี ประชากรที่มีอายุสูงยิ่งเพิ่มเร็ว ต่อไปนี้ผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 6-7 ต่อปี ย้อนหลังไปในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อนประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละมาก อัตราเพิ่มประชากรไทยสูงมาก เราต้องขยายโรงเรียนให้รับนักเรียนได้เพิ่มมากขึ้น ต้องผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น มาบัดนี้ประเทศไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเราคงต้องปรับขยายบริการด้านสุขภาพอนามัยให้ทันกับการสูงวัยของประชากร คงต้องเพิ่มเตียงคนไข้ในสถานบริการสุขภาพระดับต่างๆ คงต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีกอย่างมาก

แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี

พวกเราส่วนใหญ่ตระหนักกันดีเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง ผมเชื่อว่าเกือบทุกคนคิดคล้ายๆ กัน คือไม่กลัวความตาย แต่กลัวความทุกข์ทรมานก่อนตาย เพื่อนๆ ของผมมีวิธีการดูแลสุขภาพต่างกันไปตามฐานะทางเศรษฐกิจ สภาพครอบครัว ความเชื่อ และอุปนิสัยของแต่ละคน

ทุกวันนี้ ทั้งรัฐและเอกชน ทั้งครอบครัวและบุคคลในวัยต่างๆ ได้รับรู้ถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับสังคมสูงวัยไทย เราพยายามรณรงค์ให้คนไทย “สูงวัยอย่างมีพลัง” ส่งเสริมให้คนไทยรักษาสุขภาพ หาวิธีจูงใจให้คนไทยมีการออมตั้งแต่ยังหนุ่มสาว พยายามทำให้คนไทยยังอยู่ในกำลังแรงงานให้นานที่สุดหาทางทำให้คนไทยเมื่อมีอายุสูงขึ้นยังอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานบริบาลผู้สูงอายุของรัฐ ส่งเสริมให้มีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เมื่อยามเจ็บป่วยจนถึงขั้นวาระสุดท้ายของชีวิตก็ให้ดูแลกันอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียกว่า “การสูงวัยในถิ่นที่อยู่” ถ้าผู้สูงอายุเจ็บป่วยจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้วยังต้องมาดูแลประคับประคองกันที่สถานพยาบาลของรัฐ บุคลากรและสถานที่ที่ให้บริการเช่นนั้นคงจะไม่เพียงพออย่างแน่นอน

ในอนาคตอันใกล้เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดภาระในการรักษาพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยและมีปัญหาเรื่องสุขภาพจะหนักมากสำหรับแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน และรัฐ เราคงจะได้เห็นความยากจนและความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนจนเราอาจต้องได้ยินวลีที่มีความหมายของ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่ว่า “การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด” (survival of the fittest)

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th