The Prachakorn

โซมาเลีย: ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก


อมรา สุนทรธาดา

04 กรกฎาคม 2567
2,559



โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) จัดลำดับ 10 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก จากตัวชี้วัด ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) มีองค์ประกอบย่อย ได้แก่ รายได้ประชาชาติ อายุคาดเฉลี่ยแรกเกิด และจำนวนปีเฉลี่ยในภาคการศึกษา โซมาเลียอยู่ในลำดับแรกของการจัดอันดับประเทศ1

ตลอดช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรในประเทศโซมาเลียต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ดีเท่าที่ควร ปัญหาหลักคือ ภาวะแห้งแล้ง ความขัดแย้งภายในประเทศ ความหิวโหย และรัฐบาลที่อ่อนแอ ประชากรร้อยละ 90 อยู่ในภาวะที่เรียกว่า ยากไร้ทุกเรื่อง (multidimensional poverty) คือ มีฐานะยากจนจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาด ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศที่ส่งผลต่อปัญหาคุณภาพชีวิต ประชากรมากกว่า 3 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 17.6 ล้านคน มีอาหารไม่พอเพียงเพื่อยังชีพ ปัญหาเชิงสังคม เช่น โอกาสด้านการศึกษา และการจ้างงาน

ด้านการเกษตร ชาวโซมาเลียพบกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะช่วงปี 2022 เป็นช่วงวิกฤตที่สุดจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยนับแสนไร่ และนอกจากปัญหาภัยธรรมชาติแล้ว ยังมีความสูญเสียผลิตผลการเกษตรจากฝูงแมลงที่มักเลือกเวลาเข้าทำลายพื้นที่เพาะปลูกหลังฝนตก

ในด้านการอยู่อาศัย ชาวโซมาเลียจำนวนมากอาศัยอยู่รวมกันแบบกระโจม นำไปสู่ปัญหาด้านสาธารณสุข ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมไม่ได้ผลเท่าที่ควร และการอาศัยกันอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะใน โมกาดิชู เมืองหลวงของประเทศ ที่มีประชากรหนาแน่น ประกอบด้วยประชากรพลัดถิ่นเพื่อหางานทำเป็นส่วนใหญ่ ต้องอยู่ในกระโจมหลังเลิกงาน การรณรงค์ทางสาธารณสุขมักไม่ได้ผลเพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นกรรมกรแรงงานรายวัน มีรายได้เพียงเพื่อซื้ออาหารให้ครอบครัว การเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและเสียชีวิตกลายเป็นเรื่องธรรมดา มองไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องเฝ้าระวังตนเองและผู้อื่นให้มีชีวิตที่ปลอดภัย

ประเทศโซมาเลียเผชิญหน้ากับการสู้รบจากกลุ่มติดอาวุธหลากกลุ่มอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีกลุ่มและองค์กรสาธารณะ ช่วยกำหนดนโยบายและกลวิธีทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเสี่ยงทุกเพศและวัย การออกแบบโครงการจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญหรือปัญหาเร่งด่วนเพื่อการดำรงชีพที่มีคุณภาพ ประชากรมากกว่าครึ่งขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคประชากร 4.6 ล้านคน ต้องการที่อยู่อาศัย ประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 1.5 ล้านคน ขาดอาหารขั้นรุนแรง ประชากร 6.9 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และจำนวน 4.3 ล้านคน มีอาหารไม่เพียงพอ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

รูป: ครอบครัวและกระโจมที่อยู่อาศัยของประชากรประเทศโซมาเลีย
ที่มา: https://www.concern.net/news/worlds-poorest-countries
สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567

โซมาเลียต้องการงบประมาณช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมจากนานาชาติจำนวนมหาศาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรสำหรับประชากรที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 5.2 ล้านคนจำเป็นต้องใช้งบประมาณราว 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลดปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ เช่น โรคท้องร่วงรุนแรง อหิวาตกโรค และหัด การเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน น้ำสะอาดเพื่อการบริโภคมีไม่เพียงพอ ที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม ระบบบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานมีปัญหาในการบริหารจัดการ และการให้บริการได้เพียง 1 ใน 3 ของกลุ่มเป้าหมายเพราะขาดแคลนงบประมาณและบุคลากร

สถานการณ์ในโซมาเลียเป็นมิติที่สะท้อนภาพใหญ่ประชากรโลกอีกหลายประเทศที่ยากจน ประชากรโลกร้อยละ 9 หรือประมาณ 700 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่า 72 บาทต่อวัน (1.9 เหรียญสหรัฐ) ปัญหาหลักที่คุกคามคุณภาพชีวิต คือ ความอดอยาก ที่มีผลต่อการเติบโตด้านร่างกายและสมอง และการเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมทั้งภัยพิบัติธรรมชาติ การจัดลำดับประเทศที่ยากจนเป็นข้อมูลสำคัญ เพื่อการระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนรวมทั้งการเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญที่พลเมืองโลกต้องช่วยเหลือหรือแบ่งปัน


อ้างอิง

  1. Somalia /South Sudan / Central African Republic/Niger/Chad/Mali/Burundi/Yemen/Bukina Faso/Sierra Leone

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th