The Prachakorn

หลุมพรางทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (health halo): กรณีศึกษาความเข้าใจฉลากโภชนาการอย่างง่าย (Healthier Choice) ของเด็กกรุงเทพฯ


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

21 มิถุนายน 2567
550




ในโลกวิชาการทางสุขภาพได้แบ่งอาหารออกเป็น 2 ขั้ว คือ (1) อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (healthy diet) และ (2) อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (unhealthy diet)1 การวางกรอบความหมายอาหารโดยแบ่งขั้วเป็นดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพนั้น มีผลต่อผู้บริโภคในการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ สารอาหารที่มีประโยชน์และโทษ หรือข้อดีและข้อเสียของอาหาร 2 กลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งหน่วยงานทั้งในระดับโลก (เช่น องค์การอนามัยโลก) และระดับชาติ (เช่น กรมอนามัย สสส.) ต่างก็มุ่งรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพ คือ การบริโภคอาหารนั้นแล้วดีต่อสุขภาพ (good for health)2 และบอกโทษของการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารที่มีปริมาณสารอาหารไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (noncommunicable diseases: NCDs)3, 4

การสร้างความหมายให้อาหารดังกล่าวข้างต้นเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมอาหารวางกรอบสร้างความหมาย เพื่อนำเสนอและกล่าวอ้างทางสุขภาพหรือสารอาหารบางสารอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารของตนเอง โดยมีเป้าหมายให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารของตนเองนั้น “GOOD FOR HEALTH” ซึ่งในโลกวิชาการเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “หลุมพรางทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หรือ health halo”

เราควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า หลุมพรางทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คืออะไร?

หลุมพรางทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (health halo) หมายถึง ลักษณะเฉพาะเพียงอย่างเดียวของอาหารที่ส่งสัญญาณให้ผู้พบเห็นหรือผู้บริโภคเข้าใจว่า ภาพรวมของอาหารนั้นมีโภชนาการที่ดี เช่น ซีเรียลอาหารเช้ายี่ห้อหนึ่งมีข้อความบนกล่องว่า “น้ำตาลน้อยลง 30%” ข้อความนี้อาจทำให้ผู้พบเห็นหรือผู้บริโภคเข้าใจผิดและนำไปสู่การประเมินคุณค่าทางโภชนาการของซีเรียลอาหารเช้านี้สูงเกินไป ข้อความลักษณะนี้ทำให้ซีเรียลอาหารเช้านี้ดูมีสุขภาพดีขึ้นในการรับรู้ของผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นจริง เพราะการมีปริมาณน้ำตาลน้อยลง ไม่ได้หมายความว่า ซีเรียลอาหารเช้านี้เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ(2, 5) ซึ่งเราต้องดูสารอาหารอื่นที่มีอยู่ในซีเรียลอาหารเช้าดังกล่าวร่วมด้วย

ที่นี้ เรามาทำความรู้จักและเข้าใจความหมายของฉลากโภชนาการอย่างง่ายในโลกวิชาการกัน

ฉลากโภชนาการอย่างง่ายเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเพื่อมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลามาก(6) ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศจึงได้มีการศึกษาและใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายแสดงบนฉลากด้านหน้าผลิตภัณฑ์อาหาร โดยสัญลักษณ์เหล่านั้น อาจแสดงในเชิงวิเคราะห์ข้อมูลและชี้นำตามชนิดของสารอาหารโดยใช้เกณฑ์ความต้องการสารอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การอนามัยโลก แสดงผลการตัดสินใจด้วยเกณฑ์ปริมาณสารอาหารที่กำหนดขึ้นตามชนิดของผลิตภัณฑ์อาหารและชี้นำในภาพรวมของผลิตภัณฑ์อาหารว่า ดีกว่าหรือมีผลเสียน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในท้องตลาด และฉลากโภชนาการอย่างง่ายถือเป็นมาตรการเชิงบวก (positive approach) ที่สามารถสร้างความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมอาหารได้6

 
รูป โลโก้กลุ่มเครื่องดื่ม ทางเลือกสุขภาพ Healthier Choice
ที่มาของรูป: https://healthierlogo.com/โลโก้กลุ่มเครื่องดื่ม/

ประเทศไทยกำหนดให้การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายบนบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 373 (พ.ศ. 2559) เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 การแสดงฉลากโภชนาการอย่างง่ายไม่ได้เป็นเครื่องหมายบังคับที่อุตสาหกรรมอาหารทุกอุตสาหกรรมอาหารต้องทำ เป็นเพียงความสมัครใจของแต่ละอุตสาหกรรมอาหาร6 โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายนี้ต้องผ่านเกณฑ์คุณค่าทางโภชนาการตามข้อกำหนด การได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นเพียงทางเลือกให้ผู้บริโภค และไม่ใช่การโฆษณาสินค้าหรือจัดอันดับอาหารว่าดีหรือไม่ดี แต่มุ่งให้ความรู้กับผู้บริโภคว่า อาหารที่มีฉลากโภชนาการอย่างง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารประเภทเดียวกัน อาหารที่มีฉลากดังกล่าวเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ไม่ฉลากฯ6 ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มช็อคโกแกต ที่มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย ดีต่อสุขภาพมากกว่าเครื่องดื่มช็อคโกแกต ที่ไม่มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย (ดังรูป)

รูป เครื่องดื่มรสช็อคโกแกต
ที่มาของรูปภาพ: ผู้เขียน

แล้วเกิดอะไรขึ้นในโลกแห่งความจริง? เรามาดูกรณีศึกษาหลุมพรางทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกับฉลากโภชนาการอย่างง่ายของเด็กกรุงเทพฯ

ข้อมูลจากโครงการ “การติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของประเทศไทย” สำรวจเด็กไทยอายุ 10-18 ปี ในเขตกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 236 คน  พบว่า ร้อยละ 74.2 ของเด็กอายุ 10-18 ปี ในเขตกรุงเทพฯ เคยเห็นฉลากโภชนาการอย่างง่าย เมื่อกลุ่มตัวอย่างเห็นฉลากโภชนาการอย่างง่ายแบบทางเลือกสุขภาพบนขวดเครื่องดื่ม ร้อยละ 41.1 ของเด็กเข้าใจว่า ตนเองสามารถดื่มเครื่องดื่มนี้ได้มากเท่าใดก็ได้ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ในขณะที่ร้อยละ 38.6 เข้าใจว่า ตนเองไม่สามารถดื่มเครื่องดื่มนี้ได้มากเท่าใดก็ได้ ถึงแม้เครื่องดื่มนี้มีฉลากโภชนาการอย่างง่ายก็ตาม และอีกร้อยละ 20.3 ของเด็กไม่เข้าใจว่า ตนเองสามารถเครื่องดื่มนี้ได้หรือไม่และดื่มเครื่องดื่มนี้ได้มากเท่าใด

เด็กไทยในเขตกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ตกอยู่ในหลุมพรางทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คือ เด็กไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของฉลากโภชนาการอย่างง่าย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงศึกษาธิการ ควรสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจความหมายของฉลากโภชนาการอย่างง่ายให้แก่เด็กอย่างเร่งด่วน


เอกสารอ้างอิง

  1. World Health Organization. Unhealthy diet Geneva: World Health Organization; 2021 [Available from: http://www.emro.who.int/noncommunicable-diseases/causes/unhealthy-diets.html.
  2. Her E, Seo S. Health halo effects in sequential food consumption: The moderating roles of health-consciousness and attribute framing. International Journal of Hospitality Management. 2017;62:1-10.
  3. World Health Organization. Noncommunicable diseases Geneva: World Health Organization; 2024 [Available from: https://www.who.int/health-topics/noncommunicable-diseases#tab=tab_1.
  4. Al-Jawaldeh A, Abbass MMS. Unhealthy Dietary Habits and Obesity: The Major Risk Factors Beyond Non-Communicable Diseases in the Eastern Mediterranean Region. Front Nutr. 2022;9:817808.
  5. Healthline Media. How the Nutri-Score label helps us make healthier dietary choices Brighton: Healthline Media UK Ltd, ; 2024 [Available from: https://www.medicalnewstoday.com/articles/how-the-nutri-score-label-helps-us-make-healthier-dietary-choices.
  6. หน่วยรับรองการใช้สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. โครงการสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" เป็นเครื่องมือใช้สำหรับการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภคเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล โซเดียม และไขมัน นครปฐม: หน่วยรับรองการใช้สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2567 Available from: https://healthierlogo.com/.

ภาพประกอบ freepik.com (premium license)

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th