The Prachakorn

นับเราด้วยคน: มิติเพศในการสำรวจสำมะโนประชากร “จำนวนแม้สำคัญแต่ยังสำคัญน้อยกว่าการยอมรับว่ามีอยู่”


สุชาดา ทวีสิทธิ์

03 กรกฎาคม 2567
1,622



ทำไมประเทศแคนาดาจึงกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีข้อมูลสถิติเกี่ยวกับประชากรหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQN+ แถมยังสามารถจำแนกประชากร LGBTIQN+ ได้ตามเขตที่อยู่อาศัย สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ การมีคู่ และสุขภาพอีกด้วย คำตอบอยู่ที่การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของประเทศในปี 2564 ซึ่งได้มีการเพิ่มคำถามเกี่ยวกับเพศภาวะ หรือ gender ของบุคคลในแบบฟอร์มการสำรวจ อีกทั้งได้ขยายความคำถามเกี่ยวกับ เพศ (sex) ของบุคคลให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากตระหนักว่าในปัจจุบันนั้น การรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศของปัจเจกบุคคลได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การสำรวจเพื่อแจงนับประชากรจึงควรพลวัตรตามด้วย

ในแบบสำรวจประชากรที่ออกแบบไว้กว่าร้อยปีก่อน เคยมีคำถามว่า What is this person’s sex? (เพศของบุคคลนี้คือเพศอะไร) กลายเป็นคำถามที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่บุคคลซึ่งเขามีเพศภาวะที่แตกต่างไป เพราะว่ามีคำตอบให้เลือกแค่ male หรือ female  บุคคลเหล่านี้รู้สึกว่าคำถามแบบนี้แสดงถึง “ความไม่เคารพอัตลักษณ์ทางเพศ” จึงทำให้คำถามนี้ได้รับการตอบ การสำมะโนครั้งล่าสุดของประเทศแคนาดาได้เพิ่มคำว่า “at birth” เข้าไปในคำถามดังกล่าว  What was this person’s sex at birth? ซึ่งมีความชัดเจนว่าต้องการทราบเพศกำเนิดของบุคคล แต่ก็มีข้อน่าท้วงติงอยู่นิดนึงว่า คำตอบที่มีให้เลือกก็ยังมีแค่สองเพศอยู่ดี มีข้อเท็จจริงทางชีววิทยาที่พบว่าเพศโดยกำเนิดของคนหรือสัตว์ไม่ได้มีแค่ male  กับ female แต่ยังมี เพศกระเทยแท้ (intersex) ที่มีอวัยวะเพศสองแบบอยู่ในร่างกายเดียวกัน กระเทยแท้ยังมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปอีกนับได้หลายสิบแบบ  ใครสนใจเรื่องนี้ไปหาอ่านเพิ่มเติมเองได้

นอกจากปรับคำถามเรื่องลักษณะเพศแล้ว มีการเพิ่มคำถามเกี่ยวกับเพศภาวะเข้ามาในแบบสำรวจด้วย คือ What is this person’s gender?  (บุคคลนี้มีเพศภาวะอะไร) โดยมีตัวเลือกคำตอบเป็น male และ female แต่เพิ่มช่องคำตอบที่ให้ระบุได้เอง คือ Please specify this person’s gender หากผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ตัวเลือกที่ให้มายังไม่ตรงกับตัวตนทางเพศภาวะของบุคคลนั้น ก็ให้ผู้ตอบสามารถระบุเพศภาวะที่ตรงกับบุคคลนั้นๆ ลงไปได้เอง1

การทำสำมะโนประชากรครั้งนี้ของแคนาดา สำรวจเฉพาะประชากรที่มีอายุ ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนส่วนบุคคลเท่านั้น  ผลการสำรวจพบว่า ในจำนวนประชากรกลุ่มอายุดังกล่าวที่มีอยู่ 30.9 ล้านคน ประชากร LGBTIQN+ มีอยู่ร้อยละ 0.3 หรือ 102,800 คน ซึ่งทุกๆ 300 คน ของประชากรกลุ่มอายุนี้ จะมี LGBTIQN+ หนึ่งคน2 ผลการสำรวจยังแบ่ง LGBTIQN+ เป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม คือ ผู้ชายที่ข้ามเพศเป็นหญิง (transwomen) ผู้หญิงที่ข้ามเพศเป็นชาย (transmen) และ นอนไบนารี่ (non-binary) นอนไบนารี่ หมายถึง บุคคลที่มีตัวตนทางเพศนอกอิทธิพลของระบบสองเพศ กล่าวคือ ไม่เป็นชายและหญิงในแบบซึ่งสังคมที่เคร่งครัดในระบบสองเพศคาดหวังไว้ ยังพบอีกว่า มากกว่าครึ่งของ ประชากร LGBTIQN+ ในประเทศแคนาดา มีอายุอยู่ในช่วง 15-34 ปี ซึ่งเป็นคนรุ่น Gen Y และ Gen Z

ในรายงานสำมะโนประชากรนี้ ยังนำศัพท์ cisgender ซึ่งหมายถึงประชากรที่มีเพศกำเนิดตรงกับเพศภาวะทั้งหญิงและชายมาใช้อีกด้วย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (มีอยู่ร้อยละ 99.7)  และยังจำแนก cisgender ออกเป็นสองประเภท คือ หญิงที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิด (cisgender women) และ ชายที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิด (cisgender men)   ซึ่งการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งนี้ของประเทศแคนาดา ได้ให้ความหมายคำว่า gender ว่าหมายถึง ตัวตนทางเพศในปัจจุบันของบุคคล ซึ่งอาจแตกต่างไปจากเพศโดยกำเนิด หรือเพศที่ถูกระบุไว้ในเอกสารทางกฎหมาย (เช่น สูติบัตร พาสปอร์ต ใบขับขี่) นอกจากนั้น ยังหมายรวมถึงตัวตนภายในที่บุคคลรู้สึกได้ว่าตนเองคือใคร มีเพศภาวะแบบไหน รวมทั้งหมายถึงสิ่งที่บุคคลแสดงออกมาภายนอกผ่านกริยา ท่าทาง การแต่งตัว สไตล์เสื้อผ้า การแต่งหน้า แต่งทรงผม ที่อาจจะตรงกับลักษณะเฉพาะของเพศภาวะใดเพศภาวะหนึ่ง ขณะที่บางคนอาจจะไม่ยึดโยงกับเพศภาวะใดเลยก็ได้

คำว่า เพศภาวะ หรือ gender ที่ถูกนำมาใช้ในภาษาไทย มีการแปลกันไว้หลายคำ เช่น เพศภาวะ เพศสภาพ เพศสถานะ ซึ่งไม่มีศัพท์คำใดผิด และไม่มีศัพท์คำใดถูกต้องกว่ากัน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การนำไปใช้ในความหมายที่ถูกต้องไม่สับสนกับคำอื่นโดยเฉพาะคำว่า เพศ (sex) Judith Butler นักปรัชญาและนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังชาวอเมริกัน มีผลงานที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสาขาวิชาต่างๆ เช่น ปรัชญา ทฤษฎีทางเพศ สตรีศึกษา การศึกษาเกย์และเลสเบี้ยน และทฤษฎีวัฒนธรรม อธิบาย gender ไว้ในหนังสือของเธอเรื่อง Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity (1990) ว่า gender หรือเพศภาวะ คือ การแสดง มันไม่ใช่สิ่งที่บุคคล “เป็น” แต่คือสิ่งที่บุคคล “ทำ” เป็นการกระทำ หรือการแสดงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสรุป เพศภาวะคือ ตัวตนเพศ หรือ อัตลักษณ์ทางเพศของเรา ซึ่งได้มาทีหลัง เกิดจากการเรียนรู้ การปลูกฝัง จดจำ ปฏิบัติ แสดงซ้ำ ตลอดช่วงชีวิต โดยรู้ตัวและโดยอัตโนมัติเพราะเคยชิน เป็นเสมือนการแสดงของเรา ที่เราคิดว่าเราสามารถเลือกหรือปรารถนาที่จะแสดงแบบไหนก็ได้ ถ้าเราคิดตาม Judith Butler ที่ย้ำว่า เพศภาวะคือการแสดง การจะมีเพศภาวะแบบใด ย่อมไม่ยึดติดกับเพศที่เกิดมา จะแสดงเป็นหญิงแต่ร่างกายเกิดมาเป็นชายก็ย่อมได้ หรือจะแสดงเป็นชายแต่ร่างกายเกิดมาเป็นหญิงก็ไม่แปลก

ประเทศไทยมีประชากร LGBTIQN+ อยู่เท่าไหร่? เป็นคำถามที่ถามกันมานานกว่า 2-3 ทศวรรษ การรวมข้อมูล LGBTIQN+ ไว้ในรายงานสำมะโนประชากร ย่อมเป็นการปูทางไปสู่การสร้างนโยบายที่ครอบคลุมและเท่าเทียมมากขึ้น และยังช่วยให้มั่นใจว่าความท้าทายเฉพาะ ที่ LGBTIQN+ เผชิญนั้นได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม เป็นการส่งเสริมสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนถูกนับรวมและถูกให้คุณค่า อย่าทำให้การเพิ่มคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศในแบบฟอร์มสำรวจสำมะโนประชากรไทย มีความสำคัญเพียงแค่เพื่อการมีข้อมูลที่อยากรู้เท่านั้น แต่ควรเป็นการสร้างพื้นที่ให้ LGBTIQN+ รู้สึกมีตัวตนและได้รับการยอมรับในประเทศนี้ อย่างน้อยที่สุดการแจงนับ  LGBTIQN+  น่าจะถูกใช้เป็นกุศโลบายที่ช่วยสลายความเหลื่อมล้ำจากระบบสองเพศให้อ่อนแรงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย


อ้างอิง

  1. ในการสำรวจสำมะโนประชากรนี้ของประเทศแคนาดา เขาให้ผู้ตอบแบบสำรวจ เป็นสมาชิกในครัวเรือนที่ทราบข้อมูลของสมาชิกในครัวเรือนดีที่สุด สามารถให้ข้อมูลของสมาชิกในครัวเรือนอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ ดังนั้น การถามเรื่องเพศภาวะของบุคคล จึงอาจจะไม่ใช่เป็นถามจากเจ้าตัวโดยตรง ความคลาดเคลื่อนของข้อมูลน่าจะมีอยู่พอสมควร เช่น จำนวนประชากรกลุ่มนี้ที่สำรวจได้อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าตัวปิดบังอัตลักษณ์ทางเพศภาวะของตนกับสมาชิกในครอบครัว และในสังคม เพราะกังวลที่จะถูกเกลียดชัง ถูกดูถูก หรือถูกเลือกปฏิบัติ
  2. Table 13-10-0875-01  Socioeconomic characteristics of the transgender and non-binary population, 2019 to 2021, DOI: https://doi.org/10.25318/1310087501-eng

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th