The Prachakorn

Thai Family Matters: กิจกรรมแทรกแซงสำหรับครอบครัวไทยในจังหวะสำคัญ (ตอน 1)


กัญญา อภิพรชัยสกุล

30 เมษายน 2561
569



ครอบครัวเป็นหน่วยที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมีโอกาสใกล้ชิดกับลูกหลานมากที่สุด แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้เกิดปัญหาต่างๆ กับเด็กและเยาวชนในครอบครัว เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม และปัญหาความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น ปัจจัยที่ทำให้ “พ่อแม่ผู้ปกครองในครอบครัวไทย” ไม่พูด ไม่กล้าที่จะคุย หรือ ไม่รู้ที่จะคุยอย่างไร กับลูกหลานในปกครองของตน คือ การขาดความรู้ ขาดทักษะ หรือมีทัศนคติเชิงลบหากจะสอนเรื่องเพศกับลูกหลาน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหาวิธีการหรือแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างให้สถาบันครอบครัวไทยมีความเข้มแข็งขึ้น

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยการประสานงานของศูนย์การสร้างความคุ้มครองทางสังคมในเด็กและเยาวชน (Center for Children’s Social Protection Studies : CSPS) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ได้เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว จึงได้ให้การสนับสนุนแก่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินงานโครงการ “ครอบครัวไทยในจังหวะสำคัญต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน : การพัฒนาปรับปรุงและนำโครงการครอบครัวสำคัญไปประยุกต์ใช้ในระดับประเทศ” โดยใช้กิจกรรมแทรกแซงสำหรับครอบครัว Thai Family Matters เป็นกลไกในการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งการทำกิจกรรมดังกล่าวในครอบครัวจะเปรียบเสมือนเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนในอนาคต

Thai Family Matters (TFM) คืออะไร?

Thai Family Matters (TFM) เป็นกิจกรรมแทรกแซงสำหรับครอบครัว (Family based - intervention program) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวไทย ด้วยวิธีการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว เสริมสร้างทักษะการสื่อสารให้กับพ่อแม่ สร้างความตระหนักให้กับพ่อแม่/ผู้ปกครองถึงพฤติกรรมเสี่ยงของลูก สนับสนุนครอบครัวได้พัฒนากฎระเบียบของครอบครัวเกี่ยวกับการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด และพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมของลูกหลาน รวมถึงพัฒนาทักษะให้พ่อแม่/ผู้ปกครองให้สามารถรับมือกับปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ของลูกหลานเมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นได้ ความเหมาะสมของช่วงอายุลูกหลานที่จะดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ควรอยู่ระหว่าง 13-14 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังสามารถที่จะสื่อสารถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ได้ ซึ่งหากพ้นช่วงอายุนี้ไป การพูดคุยสื่อสารในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ อาจเป็นไปได้ยาก

 

เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม Thai Family Matters (TFM)

ประกอบด้วย คู่มือ 5 เล่ม ที่มีเนื้อหาแตกต่างกันออกไป คู่มือเล่มที่ 1 “ทำไมครอบครัวจึงสำคัญ” คู่มือเล่มนี้จะทำให้ครอบครัวได้ริเริ่มที่จะพูดคุยสื่อสารกัน ช่วยให้เห็นว่าเพราะอะไรครอบครัวจึงมีความสำคัญ คู่มือเล่มที่ 2 “ครอบครัว” จะช่วยให้ครอบครัวได้วางแผนการใช้เวลาว่างร่วมกัน รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง เริ่มทำ.กิจกรรมในการทำความดีต่อกัน คู่มือเล่มที่ 3 “เหล้า ยาเสพติด บุหรี่” จะช่วยให้ครอบครัวได้พูดคุยเกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันเรื่องของสารเสพติดชนิดต่างๆ โดยการตั้งกฎระเบียบของครอบครัวกันขึ้นมาเอง คู่มือเล่มที่ 4 “แฟน เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น” จะช่วยให้ครอบครัวได้พูดคุยเกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันเรื่องของความสัมพันธ์แบบคู่รัก พร้อมทั้งตั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ คู่มือเล่มที่ 5 “อิทธิพลภายนอกที่มีผลต่อครอบครัวไทย” จะช่วยให้ครอบครัวได้พูดคุยเกี่ยวกับแนวทางในการกำจัดอิทธิพลของสื่อ และอิทธิพลของเพื่อน ทำให้ลูกหลานสามารถต้านทานแรงกดดันจากอิทธิพลภายนอกต่างๆ ได้

สำหรับวิธีนำเครื่องมือของ TFM ทั้ง 5 เล่มไปใช้ เป็นอย่างไร ภายหลังจากดำเนินกิจกรรมไปแล้วได้ผลลัพธ์เช่นไร เวทีวิจัยนี้จะได้นำมาเสนอในฉบับต่อไป

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th