The Prachakorn

ขยะอิเล็กทรอนิกส์: เศษซากจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี


กัญญา อภิพรชัยสกุล

05 กรกฎาคม 2567
287



ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจนคนเราแทบจะตามไม่ทัน  การพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นอีกด้วย ในยุคดิจิทัลอุปกรณ์อัจฉริยะเกิดขึ้นมากมาย และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยโดยไม่รู้ตัว และที่น่าสนใจคือ สามารถอำนวยความสะดวกการการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง หม้อหุงข้าว นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ อีก เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นด้วย

ขยะอิเล็กทรอนิกส์  (Electronic Waste หรือ E-waste) คือ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งาน หรือใกล้หมดอายุที่เจ้าของไม่ต้องการอีกต่อไป1 จะตกไปอยู่ร้านขายของเก่าเพื่อแยกชิ้นส่วน หรือ โรงงานรีไซเคิล การที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นนี้ ก่อให้เกิดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มีส่วนประกอบของสารปรอท ดีบุก ตะกั่ว หากนำไปฝังกลบสารเคมีต่างๆ จะปนเปื้อนลงในดินและแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต หากนำไปเผาจะเกิดก๊าซที่เป็นมลพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอีกด้วย

ข้อมูลจากรายงานประจำปี Thailand Digital Outlook ประจำปี 25662  โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ3 หรือ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกของ OECD มีทั้งหมด 38 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกประเทศ OECD   ที่มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งถือว่าดี โดยประเทศที่มีอิเล็กทรอนิกส์น้อยที่สุด คือ ประเทศอินเดีย

แผนภูมิ: ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ (หน่วย: กิโลกรัมต่อประชากร)
ที่มาภาพ: รายงานประจำปี Thailand Digital Outlook ประจำปี 2566, หน้า 178  
สำนัักงานคณะกรรมการดิิจิิทััลเพื่่อเศรษฐกิิจและสัังคมแห่่งชาติิ กระทรวงดิิจิิทััลเพื่่อเศรษฐกิิจและสัังคม.

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมาพิจารณาเฉพาะประเทศไทยแล้ว จากรายงานสถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชน ปี พ.ศ. 2564-25654  โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าประเทศเรากำลังจะมีแนวโน้มมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เป็นต้น

ตาราง ปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ประเภทผลิตภัณฑ์ ปริมาณซากผลิตภัณฑ์ (ตัน/ปี)
ปี 2564 ปี 2565
โทรทัศน์ 90,010 96,190
เครื่องปรับอากาศ 75,918 91,685
ตู้เย็น 32,681 30,295
เครื่องซักผ้า 85,715 95,453
คอมพิวเตอร์ 53,629 49,909
โทรศัพท์ 25,020 3,116
พัดลม 59,980 59,494
หม้อหุงข้าว 8,741 8,032
ไมโครเวฟ 3,491 3,043
รวม 435,185 437,217

ที่มา : รายงานสถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชน ปี พ.ศ. 2564-2565, กรมควบคลุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย ดังนั้นควรมีการรณรงค์ในเรื่องของพฤติกรรมการใช้ประโยชน์ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยให้มีการใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่า ไม่เปลี่ยนอุปกรณ์บ่อยๆ เปลี่ยนเมื่อเสื่อมสภาพการทำงานเท่านั้น ผู้เกี่ยวข้องในด้านการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ควรมีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ภาครัฐควรมีการจัดหาจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชน พร้อมกับควรมีการรณรงค์ให้ทราบว่ามีจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใดบ้าง เพื่อประชาชนจะได้มีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกวิธี 


อ้างอิง

  1. ไทยรัฐออนไลน์ (2566, 14 กันยายน). E-waste : ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร เทคโนโลยีเปลี่ยน สร้างปริมาณขยะพิษ. https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2724981
  2. สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม.รายงานประจำปี Thailand Digital Outlook ประจำปี 2566, กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม.
  3. INNOVATION TECHNOLOGY. (2566, 28 กุมภาพันธ์). OECD คืออะไร? ทำไมถึงมีบทบาทสำคัญต่อโลก. https://inno.co.th/oecd-คืออะไร/
  4. รายงานสถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชน ปี พ.ศ. 2564-2565, กรมควบคลุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

 

ภาพประกอบ freepik.com (premium license)

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th