บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงกตัญญุตาจิตต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ผู้ทรงริเริ่มระบบข้อมูลประชากรของสยามประเทศ บทความนี้ใช้วิธีการวิจัยเอกสารโดยค้นคว้า รวบรวม และประมวลข้อมูลจากบันทึกและสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อสืบค้นความเป็นมาของการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสมัยใหม่ของประเทศไทย กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ได้ทรงเริ่มวางแผนและขั้นตอนการทำสำมะโนครัว (ประชากร) และบัญชีคนเกิด คนตาย คนย้ายที่อยู่ไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๓๒ แต่ได้ทูลเกล้าฯ เสนอความเห็นต่อรัชกาลที่ ๕ ในอีก ๒ ปีต่อมาคือในปี ๒๔๓๔ การแจงนับประชากรทั่วทั้งพระราชอาณาจักรและการจดทะเบียนคนเกิด คนตาย ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๔๓๕ เป็นต้นมา พร้อมๆ กับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินจากการปกครองแบบหัวเมืองมาเป็นระบบเทศาภิบาลที่รวบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง อุปสรรคสำคัญของการเก็บข้อมูลประชากร ได้แก่ การปฏิรูปงานบริหารราชการแผ่นดินยังไม่เรียบร้อย และความไม่รู้หนังสือของบุคลากรเก็บข้อมูลภาคสนาม การทำสำมะโนประชากรและการจดทะเบียนชีพที่ครอบคุมทั่วพระราชอาณาจักรเป็นงานใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูลที่รวมถึงการเก็บข้อมูลภาคสนาม การประมวลผล การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอผล สำมะโนประชากรครั้งแรกของสยามที่ครอบคลุมทั้ง ๑๖ มณฑลทั่วพระราชอาณาจักรทำสำเร็จในปี ๒๔๕๒-๒๔๕๓
Watch Later at https://fb.watch/sUZZt3gFqF/