เมื่อเข้าฤดูฝน หลาย ๆ คนมักมองหา “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” ที่ในหนึ่งปีจะมีสักครั้ง เห็ดเผาะเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ พบได้ตามภาคเหนือและภาคอีสาน สามารถนำมาประกอบอาหารได้ มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก อุดมด้วยโปรตีน ไขมันตัวดี มีฟอสเฟต แคลเซี่ยม ธาตุเหล็กไนอะซีนและวิตามินซี จึงเป็นอาหารบำรุงร่างกาย ถ้านำมาทำเป็นเมนูเห็ดเผาะของภาคอีสาน ส่วนมากจะนำมาแกงกับหน่อไม้ใส่ย่านาง แต่ถ้าของภาคเหนือจะยิ่งง่าย แค่นำเห็ดเผาะมาต้มกับเกลือ กินคู่กับน้ำพริกข่าหรือน้ำพริกหนุ่ม
เห็ดเผาะเป็นเห็ดที่หายากไม่เหมือนเห็ดทั่วไป จึงทำให้มีราคาสูงตลอดปี ในช่วงฤดูฝนของทุก ๆ ปี ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปในป่าเพื่อหาเห็ดเผาะ โดยจะใช้ตะขอเล็กๆ คุ้ยตามหน้าดิน เพื่อนำเห็ดไปประกอบอาหารกินในครอบครัว และนำไปจำหน่ายสร้างรายได้กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 700-800 บาท
ชาวบ้านหลายคนสังเกตเห็นว่า พื้นที่ใดที่มีไฟป่า และเมื่อฝนมาพื้นที่นั้นจะพบกับเห็ดเผาะได้ง่าย จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า เห็ดเผาะชอบไฟป่า แต่หารู้ไม่ว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยถูกเท่าไรนัก เพราะจริงๆ แล้ว การเกิดไฟป่าครั้งแรก ๆ ในพื้นที่ เป็นเพียงแค่การทำลายเศษใบไม้ที่ปกคลุมผิวดินเท่านั้น ช่วยให้ป่าหายรก เมื่อป่าหายรก ก็จะทำให้เห็นเห็ดเผาะได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน การเกิดไฟป่าบ่อยครั้งได้ทำให้เชื้อของเห็ดเผาะที่อยู่บริเวณใต้ดินถูกทำลายไปด้วย จนทำให้เห็ดเผาะในพื้นที่หายไปในที่สุด ที่สำคัญคือ ปัญหาไฟป่ายังส่งผลกระทบให้เกิดหมอกควัน PM 2.5 ปัญหาสภาพอากาศ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงผลกระทบที่มีต่อดวงตาและผิวหนังอีกด้วย
จากความเชื่อที่ว่า การเกิดไฟป่าทำให้มีเห็ดเผาะ มีงานวิจัยจากอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งได้ร่วมกับคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุทยานแห่งชาติ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า เห็ดเผาะสามารถออกเองได้โดยไม่ต้องเผา ภายใต้โครงการเรื่อง “เพาะเห็ดอย่างไร ไม่เผาป่า” ปัจจุบันนี้ยังคงมีการสนับสนุนโครงการนี้อยู่ และยังได้มีการจัดทำคู่มือ “แนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบนิเวศป่า การพึ่งพาระหว่างเห็ดเผาะกับต้นไม้ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขความเข้าใจผิดในการเผาป่า เพื่อทำให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและฟื้นฟูป่าให้เป็นแหล่งอาหารใกล้ตัวได้ ถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
รูป หนังสือ “แนวทางการเพาะเห็ดเผาะ เห็ดโคน เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน”
(รูปปก) ภาพจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
แหล่งที่มา: