The Prachakorn

AI กับอนาคตแรงงานไทย


มนสิการ กาญจนะจิตรา

13 สิงหาคม 2567
323



เทคโนโลยีกับแรงงานมีความเกี่ยวพันกันมาช้านาน ตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ถือกำเนิดเครื่องจักร เครื่องยนต์ และการผลิตแบบสายพาน ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มาจนถึงทุกวันนี้ที่เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์อัจฉริยะ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาพลิกโฉมการทำงานอีกครั้ง

เทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังมาแรง และมีศักยภาพในการพลิกผันวิธีการทำงาน รวมถึงโครงสร้างของตลาดแรงงานทั่วโลก คือ AI เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวมีแนวโน้มจะส่งผลต่อลักษณะของงาน อาชีพ และความต้องการแรงงานในอนาคต และยังอาจมีนัยยะเกี่ยวข้องกับการเกิดน้อยและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอีกด้วย ความก้าวหน้าของ AI จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง และวางแผนเพื่อเตรียมตัวตอบรับการเปลี่ยนแปลง

AI ในการทดแทนแรงงานมนุษย์

ความกังวลหลักเกี่ยวกับ AI คือความสามารถในการทดแทนแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะในงานที่มีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เนื่องจาก AI เป็นเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรให้มีคุณลักษณะด้านสติปัญญาและความฉลาดเหมือนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการคิด การกระทำ ผ่านการเรียนรู้ของเครื่องจักร จึงทำให้ AI มีความสามารถในการทดแทนแรงงานมนุษย์ในบางประเภทได้ การศึกษาของ Goldman Sachs พบว่า โดยเฉลี่ยทั่วโลก 18% ของงานอาจถูกทดแทนด้วย AI โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว มีโอกาสที่จะมีการนำ AI มาใช้ทดแทนแรงงานสูงกว่า ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกเล็กน้อยที่ 15% งานที่มีโอกาสโดนทดแทนด้วย AI สูง ได้แก่ งานฝ่ายสนับสนุนในสำนักงาน งานการบริการลูกค้า งานฝ่ายผลิต งานบริการอาหาร และพนักงานคิดเงิน เพราะเป็นงานที่สามารถให้ AI ดำเนินการแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ธุรกิจหลายแห่งปัจจุบันได้นำ chatbot มาใช้ในการตอบคำถามลูกค้าแทนการจ้างคน เพราะสามารถตั้งโปรแกรมให้ตอบคำถามที่ลูกค้าถามบ่อยๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานมนุษย์

AI มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ AI ที่มีลักษณะแบบ generative คือ AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาหรือสื่อใหม่ๆ จากข้อมูลที่มีอยู่ เช่น ChatGPT ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเขียนสรุปเนื้อหาของข้อความ วิเคราะห์ข้อมูล เขียนบทความ และสร้างสื่อต่างๆ AI จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับงานที่มีความซับซ้อน เช่น บุคลากรสาธารณสุขอาจใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์และข้อมูลคนไข้ ทำให้การวินิจฉัยและรักษาโรคเป็นไปได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น หรือนักวิจัยที่ใช้ AI สรุปประเด็นสำคัญของเอกสารและงานวิจัย ช่วยให้ประหยัดเวลากับงานเอกสารและมีเวลาในการทำภารกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น

งานศึกษาพบว่า AI สามารถเพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงานทั่วโลกประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ โดยประเทศพัฒนาแล้วมีโอกาสได้ประโยชน์จาก AI ในการเพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงานในระดับที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่ประเทศไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จาก AI ในการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก คือราว 1 เปอร์เซ็นต์หรืออาจน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของประเทศไทยในการนำ AI มาใช้ในการทำงาน

AI กับการขาดแคลนแรงงานของไทย

จากสถานการณ์การเกิดน้อยและการเป็นสังคมสูงอายุในประเทศไทย อนาคตกำลังแรงงานไทยจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น AI อาจเป็นคำตอบในการรักษาระดับผลิตภาพการทำงานของประเทศ เพื่อให้ในวันที่ขนาดกำลังแรงงานของประเทศลดลง เราจะสามารถใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มความต้องการแรงงานที่ขาดแคลนในบางส่วน และยกระดับผลิตภาพการทำงานของแรงงานที่ยังคงอยู่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

สิ่งสำคัญในการรับมือกับการเข้ามาของ AI ในตลาดแรงงานโลกคือ การวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสำหรับแรงงานที่มีแนวโน้มจะถูกเทคโนโลยีทดแทน เราจะจัดการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือให้แรงงานเหล่านี้สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ส่วนอื่นของตลาดแรงงานได้โดยเร็วรวมถึงการฝึกอบรมและยกระดับทักษะที่จำเป็นให้กับแรงงานในยุค AI ข้อมูลการสำรวจจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ World Economic Forum คาดว่าทักษะสำคัญสำหรับแรงงานในระบบเศรษฐกิจในอนาคต ได้แก่ การมีความรู้เกี่ยวกับ AI และข้อมูลมหัต (big data) การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม และการบริหารจัดการความสามารถ

เทคโนโลยีมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแรงงานของโลกมาโดยตลอด และ AI ก็เช่นกัน การพัฒนาของเทคโนโลยีนำมาทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบ การเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญ เพื่อให้แรงงานไทยสามารถปรับตัวและเติบโตได้ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาพลิกผันโลกอีกครั้ง


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th