เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2530 เป็นวันที่ประชากรของโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านคน ทำให้ประชาชนโลกต่างให้ความสนใจต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรในอนาคต ดังนั้น ในปี 2532 คณะมนตรีประศาสน์การของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนา (Governing Council of the United Nations Development Programme) จึงได้กำหนดให้ วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันประชากรโลก (World Population Day) เพื่อให้สังคมโลกตระหนักในประเด็นปัญหาของประชากรโลก อาทิ การส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้เรื่องสิทธิพื้นฐานในการวางแผนครอบครัวซึ่งจะนำไปสู่การมีประชากรโลกที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ข้อมูลตามการคาดประมาณของสหประชาชาติ พบว่าในปี 2567 (เมื่อกลางปี คือ 1 กรกฎาคม) โลกของเรามีประชากร 8,119 ล้านคน มีอายุมัธยฐานอยู่ที่ 30.7 ปี ซึ่งถือได้ว่าประชากรโลกเป็นประชากรสูงอายุแล้ว อัตราเกิด 16.6 ต่อประชากรพันคน อัตราตาย 7.5 ต่อประชากรพันคน ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะครบ 10,000 ล้านคน ในปี 2601 นั่นคือในอีก 34 ปีข้างหน้า
อินเดียมีประชากรมากที่สุดในโลกที่ 1,442 ล้านคน แซงหน้าจีนที่มีประชากร 1,425 ล้านคน ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแทนที่แชมป์เก่าอย่างจีนไปได้
หลายประเทศประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดลดน้อยลง ในขณะที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้หลายประเทศกลายเป็นสังคมสูงวัยไปแล้ว แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งที่หลายๆ ประเทศต้องวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ในอนาคต
ที่มา: United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division (2022). World Population Prospects 2022, Online Edition.
ภาพประกอบ freepik.com (premium license)