The Prachakorn

แม่วัยใส: ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น


นงเยาว์ บุญเจริญ

28 สิงหาคม 2567
252



ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพที่ดีขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดจำนวนผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปีในประเทศไทยจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งที่ในวัยนี้ควรอยู่ในช่วงของการศึกษาเล่าเรียน สาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น ครอบครัว บริบททางสังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม และที่สำคัญคือการเข้าไม่ถึงความรู้และบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ทำให้วัยรุ่นหลายคนไม่สามารถรับมือและป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ จึงขาดความตระหนักและไม่รู้ว่าตนเองต้องการความรู้ บริการและการช่วยเหลือทางสังคมและสุขภาพอย่างไร ทำให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ส่วนหนึ่งตัดสินใจทำแท้ง และอีกส่วนหนึ่งเลือกตั้งครรภ์และกลายเป็น “แม่วัยใส” อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นยังเป็นวัยที่ไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และเป็นแม่ จึงถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม นอกจากนี้ การเปลี่ยนบทบาทจากวัยรุ่นเป็นแม่วัยใสทำให้เสียโอกาสที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เกิดเป็นผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

รูป: ภาพปกหนังสือ “แม่วัยใส: ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง เช่น การที่เด็กหรือวัยรุ่นบางกลุ่มไม่ได้รับการศึกษาเรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสมกับวัย และการตั้งครรภ์เนื่องจากถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กที่พึงได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention of the Rights of the Child หรือ CRC) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญานี้เมื่อ ค.ศ.1992 ระบุว่า ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีถือว่าเป็น “เด็ก” และต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐหลายประการ รวมถึงการคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เช่น การคุ้มครองสิทธิทางการศึกษา และการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านอนามัยการเจริญพันธุ์

หนังสือ “แม่วัยใส: ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” เป็นรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย มีประเด็นสำคัญนำเสนอได้แก่ การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รากฐานเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ขนาดและแนวโน้มการตั้งครรภ์/การคลอดในวัยรุ่น หลากปัจจัยสู่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มุมสังคมมองการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผลกระทบการตั้งครรภ์วัยรุ่นในมิติต่างๆ และมาตรการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ที่ผ่านมา มาตรการที่ทุกหน่วยงานพยายามผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ล้วนแล้วแต่มุ่งไปที่ปลายเหตุหรือการเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่น โดยมองข้ามสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา นั่นก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ โอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ความบกพร่องในการปกป้องสิทธิของวัยรุ่น บทบาทของผู้ปกครอง โรงเรียน ชุมชน สังคมและผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย หนังสือเล่มนี้จึงนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเฉพาะกรณี อาทิ การเข้าถึงกลุ่มเด็กผู้หญิงอายุ 10-14 ปี ที่จะเติบโตเป็นวัยรุ่นซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้าม การลดการตั้งครรภ์และคลอดซ้ำในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยการให้ความรู้ความเข้าใจกับหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคู่ครองเรื่องการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิดที่เหมาะสม การให้การศึกษาที่มีคุณภาพกับเด็กทุกคนที่อยู่ในวัยของการศึกษาภาคบังคับ การคุ้มครองความปลอดภัยด้านที่พักอาศัยแก่เด็กนักเรียนที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง การสนับสนุนการเข้าถึงความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน และในกรณีที่ตั้งครรภ์ เด็กวัยรุ่นต้องได้เรียนหนังสือต่อจนจบ โดยไม่ถูกกีดกันหรือออกจากระบบการศึกษากลางคัน นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีอิทธิพลทางความคิด นายจ้าง สื่อมวลชน ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน ต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ข้อเสนอแนะเพื่อการทำงานเชิงบูรณาการ ได้แก่ การจัดตั้งกลไกการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน การวางแผนปฏิบัติงานระดับประเทศและระดับจังหวัดที่มีความเป็นเอกภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของประเทศ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติอนามัยการเจริญพันธุ์ให้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา การจัดสรรงบประมาณและกำลังคนให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ และการใช้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการกำหนดนโยบาย การดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล


ที่มา: กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย. (2558). แม่วัยใส: ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th