The Prachakorn

คำแนะนำจาก 14 ศตวรรษิกชนทั่วโลก (ตอนจบ)


ศุทธิดา ชวนวัน

30 สิงหาคม 2567
226



ฉบับนี้จะเป็นตอนสุดท้าย ที่ผู้เขียนได้นำคำแนะนำในการดำเนินชีวิตจากอีก 5 ศตวรรษิกชนทั่วโลก ในเดอะวอชิงตันโพสต์ หนังสือพิมพ์รายวันในวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคำแนะนำมายังคนรุ่นใหม่สำหรับเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

10. จงเป็นคนชอบถามคำถาม

เบ็ตตี้ รีด โซสกิน (Betty Reid Soskin) วัย 102 ปี จากเมืองริชมอนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา คุณยายโซสกินเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ.1960 และทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานที่มีอายุมากที่สุดในกรมอุทยานแห่งชาติ

คุณยายโซสกินได้เรียนรู้มากที่สุดในชีวิตจากการตั้งคำถามต่อไปเรื่อยๆ คุณยายกล่าวว่า “มีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้อีกมากมาย เรามีเวลาทั้งชีวิตเพื่อค้นหาว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร และตัวยายเองก็ยังคงเรียนรู้อยู่ แม้อยู่ในวัย 102 ปี แล้ว” นอกจากนี้คุณยายได้กล่าวถึงชีวิตว่า ชีวิตคือการ “ถามคำถามซ้ำไปซ้ำมา และจะยังมีชีวิตอยู่ในวันข้างหน้า”

 รูป 1: คุณยายโซสกินในวัย 21 ปี และในวัย 100 ปี

11. จงมีเมตตา

มาทิลดา “แมตตี้” คลูน (Matilda “Mattie” Clune) วัย 102 ปี จากรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา คุณยายคลูนเป็นศตวรรษิกชนที่มีความเมตตาเสมอ คุณยายเป็นอาสาสมัครในชุมชน เมื่อมีอายุเกือบ 70 ปี ได้อาสาทำงานที่ร้านขายของมือสองของสถานพักฟื้นคนป่วยระยะสุดท้าย

คุณยายคลูนได้กล่าวว่า ไม่ว่าชีวิตจะวุ่นวายแค่ไหน การช่วยเหลือผู้อื่นและการอยู่เคียงข้างคนที่คุณรักเป็นสิ่งสำคัญ คำแนะนำของคุณยายคือ “จงใช้ชีวิตด้วยความเมตตา หากทำได้ให้ช่วยเหลือใครสักคนโดยไม่ต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต แล้วความเมตตาจะกลับมาช่วยเหลือคุณเสมอ” เมื่อไม่นานมานี้ คุณยายคลูนได้กล่าวว่า มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าคุณยายนำ “แสงแดด” ไปทุกที่ที่ไป แต่คุณยายคิดว่าแสงแดดนั้นช่วยทำให้วันของคุณยายสดใสขึ้นด้วย

รูป 2: คุณยายคลูน ในวัย 3 ปี และในวัย 101 ปี

12. ไม่ควรหยุดอ่านหนังสือ

พอล ดัดลีย์ (Paul Dudley) วัย 100 ปี จากเมืองบิกซ์บี้ รัฐโอคลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา คุณตาดัดลีย์ จะบอกตัวเองในวัยหนุ่มว่าอย่าปล่อยให้โอกาสในการศึกษาต่อหลุดลอยไป “การที่ไม่ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ผมเสียใจ” คุณตาดัดลีย์ ซึ่งทำงานที่กรมดับเพลิงเกือบ 40 ปี ก่อนจะเกษียณในตำแหน่งรองหัวหน้าดับเพลิง ในที่สุดก็ได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยจูเนียร์ในฐานะครูสอนวิชาการบริหารงานดับเพลิง คุณตาบอกกับผู้ที่เข้ามาใหม่ว่าอย่ามองข้ามการศึกษา และให้คำแนะนำว่า “จงใช้เวลาอ่านหนังสือวันละหนึ่งชั่วโมง หากไม่สามารถได้รับการศึกษามากพอ แต่ยังมีสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้เสมอ”

รูป 3: คุณตาดัดลีย์ ในวัย 50 ปี และในวัย 100 ปี

13. จงเดินต่อไปข้างหน้า

เทรเชอร์ ซิมเมอร์แมน (Treasure Zimmerman) วัย 103 ปี เมืองโคโรนาโด รัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา คุณยายซิมเมอร์แมนรู้สึกได้ถึงความเป็นอิสระหลังจากแต่งงานกับสามีที่พบกันที่มหาวิทยาลัย ความเป็นอิสระนั้นได้ทำให้คุณยายซิมเมอร์แมนมีพลังในการผจญภัยทุกประเภท เช่น ในวันเกิดปีที่ 95 คุณยายได้ขับรถจากแคลิฟอร์เนียไปแคนซัสซิตีด้วยตัวเองด้วยรถจากัวร์สีแดงเปิดประทุน และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสามีของคุณยายเริ่มขับเครื่องบินเป็นงานอดิเรก คุณยายซิมเมอร์แมนได้เรียนรู้ที่จะขับเครื่องบินด้วยตนเอง ได้แข่งขันขับเครื่องบินข้ามประเทศ และเข้าเส้นชัยได้อันดับที่ 11 จากเครื่องบินจำนวน 60 ลำ

การเคลื่อนไหวอยู่เสมอช่วยให้คุณยายซิมเมอร์แมนมีชีวิตยืนยาว คุณยายยังคงเดินทุกวันกับสุนัขพันธุ์ฮาวานีสชื่อว่า กิกิ คุณยายได้มีคำแนะนำว่า “แม้ว่าคุณจะรู้สึกไม่ดี ก็ให้เดินต่อไป เคลื่อนไหวต่อไป”

รูป 4: คุณยายซิมเมอร์แมนในวัย 43 ปี และในวัย 103 ปี

14. จงมีความมุ่งมั่น

วอลเตอร์ อัลเฟรด (Walter Alfred) วัย 102 ปี จากเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย คุณตาอัลเฟรดมีความฝันอยากเป็นนักข่าว และได้เริ่มต้นทำงานในหน่วยงานข่าวแห่งหนึ่งในมุมไบด้วยความมุ่งมั่นล้วนๆ เพราะไม่มีพี่เลี้ยง จึงต้องทำงานหนักมากๆ จากนั้นคุณตาอัลเฟรดได้กลายเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้กับสำนักข่าวชั้นนำของประเทศ

คุณตาอัลเฟรดเสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2023 ก่อนวันเกิดหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่คุณตาจะเสียชีวิต ได้ให้คำแนะนำว่า “จงยืนหยัดผ่านสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย ผมมีชีวิตอยู่มานานขนาดนี้เพราะความตั้งใจและการทำงานหนัก มีความยืดหยุ่นเสมอ ไม่เคยหวาดกลัว”

รูป 5: คุณตาอัลเฟรดในวัย 20 ปี และในวัย 102 ปี

จากคำแนะนำในการใช้ชีวิตของ 14 ศตวรรษิกชนทั่วโลก พวกเราคงได้เรียนรู้ คำสอน และคำแนะนำจากศตวรรษิกชนทั่วโลก เพื่อเป็นตัวอย่างในการมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข


ที่มา: https://www.washingtonpost.com/wellness/2024/02/02/100-year-old-advice-life-centenarians/ สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th