The Prachakorn

การประเมินสมรรถนะของผู้เรียน (ตอนที่ 2): ผู้สอนควรให้ความสำคัญกับการประเมิน KSA อย่างไร?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

14 สิงหาคม 2567
130



บทความก่อนหน้านี้ในชื่อเรื่องการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน (ตอนที่ 1) ผู้เขียนได้เล่าถึงการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ หรือ KSA ในบทความนี้ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประเมิน KSA จากการเข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษา หัวข้อการประเมินผู้เรียน

ข้อมูลจากการบรรยายของวิทยากร ได้ยกตัวอย่างนักศึกษาแพทย์ 2 คน ที่เข้าเวรในวอร์ด (ตึกคนไข้) เดียวกัน นักศึกษาคนแรกเป็นคนเรียนเก่งทำข้อสอบได้ 45 คะแนนจากคะแนนเต็ม 50 คะแนน แต่เมื่อเวลาอยู่เวรพยาบาล มักตามตัวยาก และพูดจาไม่ดีทั้งกับคนไข้และเพื่อนร่วมงาน ในขณะที่นักศึกษาคนที่สองทำข้อสอบได้คะแนน 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 50 คะแนน เมื่อเวลาอยู่เวรดูแลเอาใจใส่คนไข้เป็นอย่างดี เป็นที่รักของพยาบาลและเพื่อนร่วมงาน และยังต้องตามตรวจความเรียบร้อยของงาน จากนักศึกษาคนแรกที่ไม่ได้สนใจ (เพราะตามตัวยาก) แต่เมื่อผู้สอนประเมิน SA ร่วมด้วย ผลการประเมินปรากฏว่า นักศึกษาคนแรกได้เกรด A ในขณะที่นักศึกษาคนที่สองได้เกรด B

ผู้อ่านมีความคิดเห็นต่อผลการประเมินสมรรถนะของผู้เรียนสองคนนี้อย่างไร?

คำตอบของผู้เขียนคือ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการประเมินของผู้สอน ที่มุ่งประเมินความรู้มากกว่าทักษะ เพราะจะทำให้ให้ขาดมุมมองด้านทัศนคติ เพราะผู้สอนให้ความสำคัญกับการประเมินความรู้มากกว่าทักษะและทัศนคติของผู้เรียน ที่นี้เรามาทราบเหตุผลของผู้สอนท่านนี้กันว่า เหตุใดเขาถึงให้ความสำคัญกับความรู้มากกว่าทักษะและทัศนคติของผู้เรียน ผู้สอนเชื่อว่า การประเมินนักศึกษาโดยใช้ความรู้เป็นฐาน จะช่วยสร้างโอกาสในการศึกษาต่อ และทำให้นักศึกษาเป็นแพทย์ที่เก่งและมีความสามารถ แต่การกระทำเช่นนี้แสดงว่า ผู้สอนไม่เกรงใจนักศึกษาคนที่สอง ถึงแม้ว่านักศึกษาคนที่สองไม่เก่งเท่านักศึกษาคนแรก แต่นักศึกษาคนที่สองนี้สามารถเป็นแพทย์ที่ดีได้มากกว่านักศึกษาคนแรก1

ผู้เขียนมีอีกกรณีศึกษาหนึ่ง โดยขอใช้ภาพด้านล่างนี้เพื่อเป็นตัวอย่างของการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน หรือประเมิน KSA ซึ่งผู้สอนควรประเมินแต่ละองค์ประกอบแยกจากกันหรือเป็นอิสระต่อกัน ในการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน หากผู้อ่านเป็นผู้สอน ผู้อ่านคิดว่า (1) ผู้เรียนแต่ละคนมีสมรรถนะด้านการเรียนอย่างไร และ (2) ผู้เรียนคนใดที่ผู้สอนควรให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลสะท้อนกลับ เพราะเหตุใด

ที่มา: เพาเวอร์พอยท์ของวิทยากรในการเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษา รุ่นที่ 4 หัวข้อ How to teach assess attitudes รุ่นที่ 1 วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

(1) ผู้เรียนแต่ละคนมีสมรรถนะด้านการเรียนอย่างไร?

จากภาพนักเรียน A มี KSA อยู่ในระดับดี หรือมีสมรรถนะที่ดีโดยเฉพาะด้านทักษะ ในขณะที่นักเรียน B มีทัศนคติที่ดีมากกว่าทักษะและความรู้ สำหรับนักเรียน C มีความรู้ดีมาก มีทักษะปานกลาง แต่กลับมีทัศนคติที่ไม่ดีเป็นอย่างมาก ส่วนนักเรียน D มีสมรรถนะต่ำทั้งด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาทั้งหมด และนักศึกษา E มีทัศนคติที่ดีมาก แต่กลับมีความรู้และทักษะต่ำ

(2) ผู้เรียนคนใดที่ผู้สอนควรให้ความสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลสะท้อนกลับแก่ผู้เรียน เพราะเหตุใด?

ข้อมูลจากภาพ ตามความคิดเห็นของผู้เขียน ผู้เขียนเสนอว่า นักเรียน C D และ E เป็นผู้เรียนที่ผู้สอนควรให้ความสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะหรือข้อมูลสะท้อนกลับ เพื่อให้นักเรียน D และ E ไม่ปฏิบัติตัวเป็นภัยต่อสังคมเมื่อจบการศึกษาแล้ว แต่ผู้สอนต้องพัฒนาทั้งความรู้และทักษะให้นักเรียน  เพื่อสร้างสมรรถนะที่ดีขึ้นได้ สำหรับนักเรียน C หากจบการศึกษาแล้ว เขาอาจเป็นภัยต่อสังคม ขอยกตัวอย่างภาพยนตร์ ตัวร้ายในภาพยนตร์มักเป็นคนเก่งและฉลาด ในขณะที่ตัวพระเอกไม่เก่งและฉลาดเท่ากับตัวร้าย กรณีนักศึกษา C ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้สอนยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทัศนคติของนักเรียนคนนี้ เพื่อให้เขาเป็นทั้งคนเก่งและคนดี

Source of picture: https://www.linkedin.com/pulse/attitude-vs-skill-subhash-iyer
(สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567)

การประเมินสมรรถนะของผู้เรียน ผู้สอนควรประเมินให้ครบถ้วนทุกองค์ประกอบ และผู้สอนไม่ควรให้ความสำคัญเพียงแค่การประเมินความรู้หรือทักษะ แต่ผู้สอนควรให้ความสำคัญกับการประเมินทัศนคติของผู้เรียนร่วมด้วย เมื่อผู้สอนสามารถพัฒนาสมรรนถะทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติของผู้เรียนได้ดี ลองคิดดูสิว่า สังคมไทยจะน่าอยู่และประเทศชาติจะมีความเจริญก้าวหน้ามากเพียงใด เราคงไม่อยากให้คนในสังคมไทยมีแต่คนเก่ง แต่เห็นแก่ตัว หรือนิสัยเสียและจิตใจไม่ดี ใช่หรือไม่


เอกสารอ้างอิง

  1. การบรรยายของวิทยากรในการเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษา รุ่นที่ 4 หัวข้อ How to teach assess attitudes รุ่นที่ 1 วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th