The Prachakorn

ชวนส่องพฤติกรรมสุขภาพนักศึกษาไทย: บริโภคหวาน มัน เค็ม เต็มพิกัด


ปรียา พลอยระย้า

30 สิงหาคม 2567
351



ผ่านครึ่งปีแรกกันไปด้วยข่าวที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย ที่เมนูอาหารไทยอร่อยติดใจคนทั่วโลก อย่าง ผัดกะเพรา ข้าวซอย และพะแนงที่คว้า Top 10 จากการจัดอันดับอาหาร 100 เมนูที่ดีที่สุดในโลก ปี 2024 โดย TasteAtlas สมกับเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัตถุดิบและรสชาติที่จัดจ้าน ซึ่งแม้กระแสรักสุขภาพและการรับประทานเพื่อสุขภาพจะเป็นเทรนด์มาแรงในช่วงหลายปีมานี้ การเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และการหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกลับกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักศึกษาไทย หลายคนยังคงติดกับการบริโภคอาหารที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ แม้จะมีความรู้และการรับรู้ถึงผลกระทบที่อาหารเหล่านี้มีต่อสุขภาพ แต่นักศึกษาก็ยังคงเลือกที่จะบริโภคอาหารเหล่านี้อย่างไม่ระมัดระวัง บทความนี้จะพาทุกท่านไปสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน และวิเคราะห์ผลกระทบที่ตามมาจากพฤติกรรมการบริโภคเหล่านี้

ข้อมูลการสำรวจสุขภาวะและความอยู่ดีมีสุข (Health & Wellness) ของนักศึกษาไทย จากภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุขทั่วประเทศ จำนวน 14,167 คน โดยโครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ชวนให้เห็นถึง พฤติกรรมสุขภาพของนักศึกษาไทยไม่ว่า เรื่องการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย สุขภาพจิต การสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีความน่าเป็นห่วง และบทความนี้ จะหยิบยกประเด็นแรกที่จะออกมาพูดถึง “การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม จัดเต็มพิกัด” ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต

หวาน มัน เค็ม การบริโภคแบบไหนที่น่าเป็นห่วง

ส่องพฤติกรรมการบริโภคอาหารรสจัดของ นักศึกษาไทย พบว่า นักศึกษาไทยมีพฤติกรรมบริโภคหวานจัดมากที่สุดในบรรดารสชาติต่าง ๆ โดยมากกว่าครึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.3 มีความถี่ในการบริโภคอาหารรสชาติหวานจัดอยู่ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด คือ บริโภคหวานเป็นประจำ โดยเฉพาะขนมหวาน ๆ และเครื่องดื่มรสหวานเย็น ๆ เน้นสโลแกนที่ว่า “ต้องบริโภคหวานร้อยเพราะหวานน้อยไม่อร่อย” ที่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่อาจหักห้ามใจได้ พลังงานจากน้ำตาลเหล่านี้ จะอยู่กับร่างกายได้ไม่นานและแฝงไปด้วยความอันตราย นอกจากจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจ การตื่นตัวต่อความสำคัญของการลดน้ำตาลในอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็น

รองลงมาคือ บริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด หมูกระทะ อาหารฟาสต์ฟู้ด ตามด้วยการบริโภคอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด เช่น อาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารตากแห้งหมักดอง อยู่ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 56.3 และ 54.3 เป็นที่น่าตกใจว่า ตัวเลขไม่ได้ต่างกันมากนัก สามารถบ่งบอกได้ว่า นิสิตและนักศึกษาไทยบริโภคอาหารที่มีความหวานจัด มันจัด และเค็มจัดกันเป็นประจำ แต่ก็เป็นที่น่าพอใจที่พบว่า มากกว่า 3 ใน 4 ของนักศึกษาไทย มีพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำ อยู่ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 77.4


เปิดสถิติโรค NCDs ผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม

รสชาติที่ถูกปากกับสุขภาพที่ถูกใจมักจะไปด้วยกันไม่ได้ วันนี้จะลองชวนทุกคนมารู้จักกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs: Noncommunicable diseases) ที่ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและประเทศไทย ทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรค โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า เด็กทั่วโลกมีแนวโน้มบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาวะโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปี 2020 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 39 ล้านคนทั่วโลกที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นสถิติที่ตกใจเพราะ ประเทศไทยเยาวชนมีทิศทางของพฤติกรรมการบริโภคที่สอดคล้องกับบริบทของโลก โดยในปี 2022 กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เด็กไทย มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนถึง 13% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เช่น ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้

และข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ปี 2019 ชี้ให้เห็นสถานการณ์โรค NCDs ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป พบว่า โรคไม่ติดต่อยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประชาชนไทยทั้งในแง่ภาระโรคและอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยมีสถานการณ์โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไม่ติดต่อมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดภาวะที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น ภาวะอ้วน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง และระดับความดันโลหิตสูง ถ้าหากไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัจจัยเสี่ยงและควบคุมสภาวะโรคตั้งแต่อายุยังน้อยอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

บทสรุป

หากใช้ “อายุเริ่มต้น” ของการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพด้านต่าง ๆ เป็นตัวชี้วัด จะเห็นได้ว่า นักศึกษาไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งข้อมูลดังกล่าว เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้ท้าทาย นักเรียน-นักศึกษา สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อมกับการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้กับน้อง ๆ นักศึกษา ได้ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย สภาพแวดล้อม และบริบทของมหาวิทยาลัย เพราะนักศึกษา เป็นอนาคตสำคัญที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานและขับเคลื่อนประเทศไทย การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ฟันเฟืองของประเทศขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ที่มา:

  1. 100 Best Dishes in the World  https://www.tasteatlas.com/best/dishes
  2. กรมควบคุมโรค กองโรคไม่ติดต่อ. (2562). รายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562.  https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1035820201005073556.pdf
  3. รายงานการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะและความอยู่ดีมีสุข (Health and Wellness) ของนิสิต-นักศึกษาไทย ปี 2565. โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th