The Prachakorn

ยุทธศาสตร์จีน: พลวัตใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอนที่ 1)


บุรเทพ โชคธนานุกูล

02 กันยายน 2567
261



ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หัวข้อ Economic and Cultural Diversity Field Visit in the People's Republic of China ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน การเดินทางในครั้งนี้ได้สร้างประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นและการเรียนรู้ตลอดเส้นทาง ทั้งจากการพูดคุยกับประชาชน การสังเกตุสภาพเมืองและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่ทุกท่านผ่านบทความสั้น และเพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน ผู้เขียนได้แบ่งออกเป็นตอน ๆ โดยในตอนที่ 1 ขอนำเสนอให้เห็นถึงภาพรวมที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีน (ผู้เขียนขอใช้คำว่า จีน) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อพูดถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่คนไทยนิยมเรียกติดปากว่า “จีน” หลายคนย่อมนึงถึงความยิ่งใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์อันยาวนาน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และประเด็นสำคัญ คือ บทบาทของจีนในมิติต่าง ๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจีนมียุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมต่อมณฑลยูนนาน (พื้นที่ทางตอนใต้ของจีน) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อโครงการชื่อ One Belt One Road (OBOR) ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายเชื่อมโลกขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ส่งผลในมิติต่าง ๆ ทั้งในระดับปัจเจก ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

รูป 1: แผนที่เส้นทางการรถไฟภายในประเทศจีน จัดแสดงใน Yunnan Railway Museum
รูปโดย: บุรเทพ โชคธนานุกูล

โครงการ One Belt One Road (OBOR) เป็นแนวคิดสำคัญในยุคการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Xí Jìnpíng (สี จิ้นผิง) ริเริ่มโครงการในปี ค.ศ. 2013 และนับว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของจีน เพื่อการเชื่อมจีนและโลกเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยสองโครงการหลัก ได้แก่ 1) One Belt คือ เส้นทางสายไหมเศรษฐกิจ เชื่อมโยง จีน ยุโรป อ่าวเปอร์เซีย เมดิเตอร์เรเนียน และมหาสมุทรอินเดีย และ 2) One Road คือ เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นการใช้เส้นทางทะเลเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยโครงการ OBOR ถูกพัฒนามาจากเส้นทางการค้าผ้าไหมดั้งเดิมของจีน ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ในอดีตอันยาวนานกว่า 2,000 ปี และถูกนำมาปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟและถนน (Sarker, Hossin et al. 2018)

รูป 2: แผนที่เส้นทางการรถไฟจีนเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงใน Yunnan Railway Museum
รูปโดย: บุรเทพ โชคธนานุกูล

เมื่อวิเคราะห์โครงการ OBOR กล่าวได้ว่าไม่เพียงแต่เป็นการดำเนินโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และตอบสนองต่อนโยบาย Go West ของรัฐบาลจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึง การสร้างความร่วมมือในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนมีหุ้นส่วนสำคัญทางการค้า รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั่วโลก (Haiquan 2017)

อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้าน ในอีกทางหนึ่ง การดำเนินโครงการดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์ว่าเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ของจีนในการ “ครอบงำ” ประเทศอื่น ๆ ภายใต้การใช้วาทกรรมที่ว่า “เชื่อมโยง” และ “สร้างการพัฒนาร่วมกัน” เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญในการก้าวขึ้นสู่ประเทศมหาอำนาจโลกของจีนในอนาคต

ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะขอนำเสนอความกระแสเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อชีวิตคนลาวที่เกิดขึ้นในหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันเนื่องมาจากการเชื่อมโยงกับจีนผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โปรดติดตามตอนต่อไปครับ  


อ้างอิง

  • Haiquan, L. (2017). "The Security Challenges of the “One Belt, One Road” Initiative and China’s Choices." Croatian International Relations Review 23: 129-147.
  • Sarker, M. N. I., et al. (2018). "One Belt One Road Initiative of China: Implication for Future of Global Development." Modern Economy 9: 623-638.

    

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th