The Prachakorn

แรงงานข้ามชาติครูชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทย (2)


ภัสสร มิ่งไธสง

03 กันยายน 2567
376



สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านที่รักของดิฉันทุกท่าน ดิฉันเคยเล่าถึง “แรงงานข้ามชาติครูชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทย” ให้ทุกท่านได้อ่านไปราว ๆ 2-3 ปีที่แล้ว ความเดิมตอนที่แล้วที่กล่าวถึง ค่านิยมการย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทยของชาวฟิลิปปินส์มีจำนวนมากขึ้นทุกปี ซึ่งอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นอาชีพที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมทำมากที่สุด และจำนวนครูฟิลิปปินส์ในประเทศไทยก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี1

ที่มา https://www.freepik.com

นอกจากนี้ โรงเรียนไทยทั้งรัฐและเอกชนมักจ้างครูฟลิปปินส์มากขึ้น เพราะค่าจ้างถูกกว่าครูเจ้าของภาษา ซึ่งครั้งนั้นดิฉันได้ทิ้งข้อสงสัยไว้ว่า “การที่มีครูสอนภาษาอังกฤษเป็นชาวฟิลิปปินส์ที่สามารถสอนภาษาอังกฤษได้เช่นเดียวกับครูภาษาอังกฤษเจ้าของภาษา แต่จ่ายค่าจ้างในราคาที่ถูกกว่าจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา ทำให้สถานศึกษาประหยัดงบประมาณในส่วนการจ้างครูภาษาอังกฤษลง แต่คำถามที่ตามมา คือ แล้วการจ้างครูภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์แทนการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษามาทำงาน ส่งผลต่อการเรียนการสอนของเด็กไทยหรือไม่ อย่างไร…” ดิฉันขอเล่าให้ทุกท่านฟังต่อค่ะ….

แน่นอนว่า…จากประเด็นการศึกษาเรื่อง การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของครูสอนภาษาอังกฤษสัญชาติฟิลิปปินส์ในสถานศึกษาของไทย กรณีศึกษา เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของดิฉันเอง พบว่า…ถึงแม้ว่าบรรทัดฐานของคนไทยและผู้ปกครองเด็กนักเรียนไทย มักจะเชื่อมั่นในคุณภาพการเรียนการสอนของครูเจ้าของภาษามากกว่าครูฟิลิปปินส์ แต่เราพบว่า “กลุ่มครูฟิลิปปินส์มักได้รับความไม่เท่าเทียมทั้งเงินเดือน และถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนโยบายของโรงเรียนที่สนับสนุนครูเจ้าของภาษามากกว่า และด้วยความเชื่อที่ว่าครูเจ้าของภาษานั้นมีประสิทธิภาพการสอนที่ดีกว่าครูสอนภาษาอังกฤษชาติอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ครูเจ้าของภาษาจึงมักมองครูฟิลิปปินส์ไม่ใช่พวกของตน และมีความเชื่อที่ว่าชาวเอเชียด้อยกว่าชาติมหาอำนาจยุโรป และอเมริกา ด้อยค่าเรื่องเชื้อชาติ และเรื่องความสามารถจนทำให้ทั้งครูฟิลิปปินส์และครูชาวเอเชียอื่นๆ รู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าครูเจ้าของภาษาที่มาจากยุโรปหรืออเมริกา แต่ตรงกันข้าม ในสายตาของครูไทยกลับมองว่าครูฟิลิปปินส์ทำหน้าที่ครูได้ดีมากกว่าครูเจ้าของภาษาเสียอีก ทั้งเรื่องการเอาใจใส่การสอน การดูแลนักเรียนในชั้นเรียน และสัมพันธภาพที่มีต่อเพื่อนร่วมงานก็ดีกว่าครูเจ้าของภาษามาก เนื่องด้วย ครูไทยไม่สามารถตักเตือนหรือให้ความเห็นกับครูเจ้าของภาษาได้เลย เพราะจะถูกมองว่าไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะไปตักเตือน หรือแนะนำอะไรได้” 2

หากตอบคำถามที่ว่า…แล้วการจ้างครูภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์แทนการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษามาทำงาน ส่งผลต่อการเรียนการสอนของเด็กไทยหรือไม่ อย่างไร

ในมุมมองของดิฉันมองว่า การที่ครูฟิลิปปินส์ไม่ได้รับความเท่าเทียม ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกด้อยค่าเพียงเพราะไม่ใช่ครูเจ้าของภาษา ส่งผลให้ครูฟิลิปปินส์ต้องปรับตัวทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ภาษาและวัฒนธรรม เพื่อให้ได้รับการยอมรับในจากเพื่อนร่วมงานในด้านความรู้ ความสามารถ ในการทำงานและการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนมากที่สุด แต่ก็เป็นการปรับตัวเพียงฝ่ายเดียว แม้จะปรับตัวอย่างไรก็ยังเกิดความกดดันและความเครียดจากความไม่เป็นตัวของตัวเองในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน3…ถึงแม้ว่าครูฟิลิปปินส์ทำหน้าที่ครูได้ดีมากกว่าครูเจ้าของภาษามากเพียงใดก็ตาม หากครูฟิลิปปินส์ยังได้รับการเลือกปฏิบัติจากครูไทยและครูเจ้าของภาษาเหมือนเดิมคือ ได้รับค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ต่ำกว่าครูไทยและครูเจ้าของภาษา ซึ่งสถานศึกษารัฐ ครูฟิลิปปินส์จะได้ค่าจ้างเพียง 9 เดือนต่อปี เพราะ ช่วงปิดเทอมจะไม่ได้รับค่าจ้าง ต้องสอนพิเศษเพื่อให้มีรายได้เพียงพอในแต่ละเดือน และไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลอีกด้วย สำหรับโรงเรียนเอกชนครูฟิลิปปินส์จะได้รับเงินเดือนครบ 12 เดือน บางที่มีประกันสุขภาพและที่พักฟรี แต่ไม่ใช่สำหรับทุกโรงเรียน เหล่านี้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตครูฟิลิปปินส์ในทุกด้านทั้งเศรฐกิจ สุขภาพจิต ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนและคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย จึงเป็นเหตุผลให้ต้องมีการประเมินการเรียนการสอนของครูฟิลิปปินส์ในทุกๆ ภาคการศึกษา ดังนั้น ดิฉันคิดว่าเพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย เราควรมีนโยบายสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมให้เกิดภายในโรงเรียนเพื่อลดความเลื่อมล้ำให้แก่ครูฟิลิปปินส์ เพราะหากคุณภาพชีวิตของครูดีขึ้นย่อมส่งผลต่อการเรียนการสอน การดูแลเด็กๆ ในทุกๆ ด้านที่ดีกว่าเดิมค่ะ4

แต่ในทางกลับกัน ไม่ว่าจะเป็นครูไทย ครูฟิลิปปินส์หรือครูเจ้าของภาษาก็ตาม หากคุณภาพชีวิตด้านใดด้านหนึ่งเสียหายไป เช่น ปัญหาความเครียด ฯลฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กๆ ในชั้นเรียน ไม่แตกต่างกัน…


อ้างอิง

  1. 1. กระทรวงศึกษาธิการ. (2562). นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563.กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ
  2. ภัสสร มิ่งไธสง. (2566). การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของครูสอนภาษาอังกฤษสัญชาติฟิลิปปินส์ในสถานศึกษาของไทย กรณีศึกษา เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยามหิดล.
  3. เสกสรร ประเสริฐกุล. (2551). รัฐชาติ ชาติพันธุ์ และความทันสมัย เอกสารการประชุมวิชาการ ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรม ดิเอ็มเพรส เชียงใหม่. หน้า 11-98
  4. ภัสสร มิ่งไธสง. (2562). แรงงานข้ามชาติครูชาวฟิลิปปินส์ในประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ 29 สิงหาคม 2567 เข้าถึงจาก https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=215

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th