The Prachakorn

รับน้องโหด มีประโยชน์บ้างไหม


จรัมพร โห้ลำยอง

09 กันยายน 2567
448



ข่าวการรับน้องโหดมักจะมีออกมาให้พวกเราได้ยินได้อ่านอยู่เป็นระยะ  เรามักจะตกใจกับการกระทำรุนแรงที่คาดไม่ถึงของรุ่นพี่ที่ร่วมกันยำรุ่นน้อง แม้ว่าจะมีข้อห้ามด้านความรุนแรงที่ชัดเจนของสถาบันการศึกษา และกระแสการไม่ยอมรับของสังคม แต่การรับน้องโหดไม่เคยจะหมดไปจากสถานศึกษาไทย

ในความเป็นจริงแล้วการรับน้องโหดเป็นกิจกรรมที่อยู่ร่วมกับมนุษย์มายาวนานหลายศตวรรษ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในสังคมการศึกษาไทย  แต่ที่อื่นก็มี เช่น ในประเทศเยอรมัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เรือนจำ หรือแม้แต่สถานที่ทำงาน ล้วนแต่มีเรื่องเล่าการเจ็บการตายจากการรับน้องมาแล้วทั้งนั้น เช่น ในช่วงสามร้อยกว่าปีที่แล้ว พ.ศ. 2227 นักศึกษาที่อยู่ในกลุ่มปัญญาชนชั้นสูงระดับโลกนามว่า โจเซฟ เว็ป ได้ถูกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ไล่ออก เนื่องจากเขาทุบตีน้องใหม่ และบีบบังคับให้น้องใหม่มาคอยรับใช้1 ความพยายามป้องกันของสถาบันการศึกษาเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดกิจกรรมรับน้องโหดก็มีมานานยิ่งกว่าที่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรมาอย่างยาวนาน ได้แก่ บทบัญญัติในคู่มือนักศึกษาในปี พ.ศ. 2038 ของมหาวิทยาลัยไลฟ์สิช (Leipzig University) ในประเทศเยอรมัน ซึ่งได้กำหนดห้ามการกระทำโหดร้ายในการรับน้อง ได้แก่ ห้ามดูหมิ่น ทรมาน คุกคาม ราดน้ำ ราดปัสสาวะ ทำให้แปดเปื้อนด้วยฝุ่น โยนสิ่งสกปรก ล้อเลียนโดยการเป่านกหวีด ตะโกนใส่ด้วยเสียงน่ากลัว หรือล่วงละเมิดทางร่างกายด้วยความรุนแรง2 แต่ที่น่าเศร้าก็คือ เวลาผ่านมากว่า 500 ปี  การกระทำรุนแรงเหล่านี้ ดูเหมือนจะยังมีอยู่ครบในยุคสมัยปัจจุบัน

ภาพประกอบ “บรรยากาศรับน้องในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด” ภาพสร้างด้วยโปรแกรม AI ภายใต้ บัญชี Canva ของผู้เขียน

 “จะรับน้องให้ได้เลือดไปทำไม?” “เลิกไปเลยได้ไหม?”

ภาพสร้างด้วยโปรแกรม AI ภายใต้ บัญชี Canva ของผู้เขียน

การรับน้องโหดคงจะไม่หายไปโดยง่าย  เพราะมีความต้องการจากทั้งผู้ให้และผู้รับ เรียกได้ว่ามีทั้งอุปสงค์และอุปทานที่ช่วยประคองให้กิจกรรมรับน้องโหดยังคงอยู่เรื่อยมา ในมุมของรุ่นพี่ โดยทางทฤษฎีแล้ว (theory of hazing) ที่ต้องโหดก็เพื่อสร้างความสามัคคี ความมุ่งมั่น สร้างความผูกพันต่อกลุ่ม3 นำวัฒนธรรมเฉพาะของกลุ่มมาช่วยเชื่อมคนต่างรุ่นให้มีความเข้าใจกัน และกำหนดลำดับชั้นให้รู้ว่าใครพี่ใครน้อง4 แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือรุ่นน้อง  ที่แม้จะรู้ว่าอาจจะโดนทำร้าย ทำให้ขายหน้า และจะถูกลิดรอนสิทธิ์ น้องๆ ส่วนใหญ่ก็ยังอยากที่จะเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องโหด เพื่อให้ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม5 อย่างเช่นงานวิจัยของท่านอาจารย์อัญชุลี วงษ์บุญงาม6  ก็พบว่าน้องปีหนึ่งอยากเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง เพราะอยากสร้างความรู้จัก และสร้างความสนิทสนมกับเพื่อนและรุ่นพี่

รับน้องโหดได้ประโยชน์อย่างที่กล่าวอ้างไหม

โครงการ Happy University  ช่วยตอบให้ได้ ผลการสำรวจความสุขและคุณภาพชีวิตของนักศึกษา ใน 18 มหาวิทยาลัยไทย ในช่วงปี 2566- 25677 จำนวน 10,548 คน พบว่า ร้อยละ 91.5 เข้าร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์ เช่น รับน้อง โดยเฉพาะน้องใหม่ปีหนึ่ง พบว่า แทบจะทุกคนเข้าร่วมกิจกรรม (ร้อยละ 94.5)

1. รุ่นน้องได้สร้างความสนิทสนมกับเพื่อนจริงไหม
ผลการสำรวจชี้ว่าน้องปีหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องมีความสนิทสนมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม (76.5%)  แต่น้องปีหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์8 มีสัดส่วนผู้ที่สนิทสนมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัย (91.5%) มากกว่ากลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องโหด9 (90.7%) (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ร้อยละของนักศึกษาปีหนึ่งที่สนิทกับเพื่อนในมหาวิทยาลัย จำแนกการตามเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องในแต่ละประเภท  (n=4,437)

2. เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมเฉพาะของกลุ่มจริงไหม
ผลการสำรวจชี้ว่านักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง ทั้งรุ่นพี่ และรุ่นน้อง รู้สึกว่ามีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกลุ่มในสถาบันการศึกษา มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม  (65.6%) แต่นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์มีสัดส่วนผู้ที่รู้สึกว่ามีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกลุ่ม (86.2%) มากกว่ากลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องโหด (85.5%) (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ร้อยละของนักศึกษาที่รู้สึกว่ามีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกลุ่ม จำแนกตามการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องในแต่ละประเภท  (n=10,548)

3. เกิดการช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนกัน จริงไหม
ผลการสำรวจชี้ว่านักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง ทั้งรุ่นพี่ และรุ่นน้อง ได้พูดคุย ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความรู้สึก มากกว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม  (78.9%) แต่นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์มีสัดส่วนผู้ที่รู้สึกว่ามีการ ช่วยเหลือ พูดคุย ปรึกษาหารือ (91.0%) มากกว่ากลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องโหด (89.7%) (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ร้อยละของนักศึกษาที่ได้พูดคุย ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความรู้สึก ในรั้วมหาวิทยาลัย จำแนกตามการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องในแต่ละประเภท  (n=10,548)

ผลไม่พึงประสงค์จากการรับน้อง

1.    นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องโหดถูกบูลลี่บ่อยครั้งหรือเป็นประจำในสัดส่วนสูงที่สุด
ร้อยละ 70.7 ของนักศึกษากลุ่มตัวอย่างล้วนมีประสบการณ์เคยถูกบูลลี่ด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมก้าวร้าว จนทำให้รู้สึกอับอาย และ ร้อยละ 8.6ของกลุ่มตัวอย่างเน้นย้ำว่าถูกบูลลี่บ่อยครั้งหรือเป็นประจำ ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง พบว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องโหดถูกบูลลี่บ่อยครั้งหรือเป็นประจำในสัดส่วนสูงที่สุด (11.5%)  (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 ร้อยละของนักศึกษาที่ถูกบูลลี่ (bully) บ่อยครั้งหรือเป็นประจำ จำแนกตามการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องในแต่ละประเภท  (n=10,548)

2.    นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องถูกละเมิดสิทธิ์ ข่มขู่ หรือคุกคามทางเพศ (Harassment)
หนึ่งในสามของนักศึกษากลุ่มตัวอย่างล้วนมีประสบการณ์เคยถูกละเมิดสิทธิ์   ข่มขู่ หรือคุกคามทางเพศ ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง พบว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง ถูกละเมิดสิทธิ์ในสัดส่วนสูงกว่าคนที่ไม่ได้เข้าร่วม โดยกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์ถูกละเมิดสิทธิ์ในสัดส่วนสูงที่สุด  (37.7%)   รองลงมาคือกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องโหด (35.5%) (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5 ร้อยละของนักศึกษาที่เคยถูกละเมิดสิทธิ์ ข่มขู่ หรือคุกคามทางเพศ (Harassment) จำแนกตามการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องในแต่ละประเภท  (n=10,548)

ข้อสรุปจากผลการสำรวจของโครงการ Happy University

การรับน้องมีความสัมพันธ์กับการสร้างความสนิทสนมกับเพื่อนในกลุ่มรุ่นน้องปีที่ 1 และการถ่ายทอดวัฒนธรรมกลุ่ม รวมถึงการช่วยเหลือ ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มนักศึกษา  แต่การรับน้องโหดไม่ได้มีจุดเด่นในการสร้างความสนิทสนม การช่วยเหลือเกื้อกูล หรือการถ่ายทอดวัฒนธรรมกลุ่ม

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าการรับน้องเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้นักศึกษาได้ดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน และสามารถเป็นช่องทางเฝ้าระวังป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษาได้ เช่น ปัญหาซึมเศร้า ความเครียด และปัญหาการเรียน เป็นต้น  อย่างไรก็ตามการรับน้องมักจะมีการตะโกน ตะคอก บังคับให้ทำกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกัน แม้จะไม่มีกิจกรรมที่โหดร้ายรุนแรงที่ทำให้บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายทางร่างกาย  แต่คำพูดก็สามารถสร้างประสบการณ์ในการถูกละเมิดสิทธิ์ ข่มขู่ คุกคาม และถูกบูลลี่ในกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ ดังนั้น ในการดำเนินกิจกรรมรับน้อง จึงควรระมัดระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงทั้งทางกายและใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม


อ้างอิง

  1. Ruth Sterner, The History of Hazing in American Higher Education, OREGON STATE UNIVERSITY, https://ruthsterner.files.wordpress.com/2008/05/histpdf.pdf
  2. "Ask the Past: How to Treat the Freshmen [sic], 1495". Ask the Past. 2013-08-26., https://askthepast.net/how-to-treat-freshmen-1495/
  3. Cimino, A. (2011). The evolution of hazing: Motivational mechanisms and the abuse of newcomers. Journal of Cognition and Culture, Vol. 11, 241–267
  4. Keating, C., Pomerantz, J., Pommer, S., Ritt, S., Miller, L., & McCormick, J. (2005). Going to college and unpacking hazing: A functional approach to decrypting initiation practices among undergraduates. Group Dynamics: Theory, Research, and Practice, Vol. 9(2), 104–126.
  5. Kalucki, E. (2024). Brotherhood or Bloodshed?: The Deprivation of Human Rights Through Hazing Rituals. Immigration and Human Rights Law Review, 5(2), 1.
  6. อัญชุลี วงษ์บุญ งาม. (2564). รูปแบบการรับน้องสร้างสรรค์และการสร้างภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร. วารสาร เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร. พระนคร, 6(1), 75-84.
  7. โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  8. กิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์ จำแนกตามสถาบัน / คณะ ที่ประกาศนโยบายรับน้องสร้างสรรค์ในระยะ 5 ปีก่อนการสำรวจ
  9. กิจกรรมรับน้องโหด จำแนกตามสสถาบัน / คณะ ที่มีข่าวความรุนแรงในระยะ 5 ปีก่อนการสำรวจ

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th