ความเดิมตอนที่ 1 ผู้เขียนได้นำเสนอภาพรวมโครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างจีนและประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งดำเนินการเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการในส่วนของรถไฟความเร็วสูงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ต่อไปผู้เขียนขอใช้แทนว่า ลาว) นอกจากนี้ ผู้เขียนได้วิเคราะห์ปิดท้ายในตอนที่ 1 ว่าโครงการดังกล่าวเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ของจีนในการเข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีนานาชาติ และถูกมองว่าเป็นการครอบงำประเทศอื่น ๆ ผ่านวาทกรรม “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน”
ในตอนที่ 2 ก่อนที่ผู้เขียนจะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลวงพระบาง อันเป็นผลมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน (Laos-China Railway-LCR) ผู้เขียนขอกล่าวถึงรายละเอียดภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงในลาวก่อน กล่าวได้ว่าลาวเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สนใจและเข้าร่วมโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับจีน และได้ลงนามความร่วมมือในระดับรัฐบาล มีสัดส่วนการถือหุ้นส่วนเป็นบริษัทรถไฟลาว 30% และบริษัทรถไฟจีน 70% ด้วยงบประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงมาตรฐานสายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สร้างด้วยทุนสนับสนุนของจีน ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น ได้เชื่อมโยงลาวเข้ากับเมืองทางตอนใต้สุดของจีน คือ สิบสองปันนา และสามารถเชื่อมต่อไปถึงคุนหมิง (เมืองเอกของมณฑลยูนนาน) และได้เปิดใช้งานเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นคำพูดของชาวลาวที่เรียกโครงการนี้ว่า “รถไฟแห่งความฝัน” เชื่อมโยงลาวสู่ประเทศอื่น ๆ และลาวมีแผนขยายโครงการสู่การเป็นศูนย์กลางทางบกของเอเชียในอนาคต (Cho and Park 2013)
รูป 1: แผนที่นครคุนหมิง มฑณลมณฑลยูนนาน
รูปโดย: อ้างอิงจากเว็บไซต์ China Discovery (China Discovery)
รูป 2, 3: เส้นทางรถไฟความเร็วสูงในเมืองหลวงพระบางของลาวเชื่อมโยงสู่จีน และสถานีรถไฟความเร็วสูงหลวงพระบาง
รูปโดย: คณะดูงานสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่)
จากการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ช่วยให้การเดินทางข้ามพรมแดนและการขนส่งสินค้าระหว่างลาว-จีน เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว เช่นเดียวกับประชาชนที่อาศัยในหลวงพระบาง ด้วยรถไฟความเร็วสูงนี้ช่วยให้การเดินทางจากหลวงพระบางถึงสิบสองปันนา ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง และใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง 30 นาที ในการเดินทางถึงคุนหมิง เส้นทางดังกล่าวได้กลายเป็นตัวเลือกหลักของประชาชนและการขนส่งสินค้า อีกทั้ง ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในหลวงพระบาง ทั้งจากนักท่องเที่ยวจีนและประเทศอื่น ๆ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน สร้างงานและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
รูป 4, 5, 6: วัดเชียงทองโบราณสถานที่สำคัญ อาคารสิ่งก่อสร้างร่วมสมัย และร้านค้าในตลาดหลวงพระบาง
รูปโดย: คณะดูงานสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่)
อย่างไรก็ตาม รถไฟความเร็วสูงไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาในด้านบวกเท่านั้น แต่ยังสร้างความกังวลใจแก่ประชาชนหลวงพระบาง โดยมีนายทุนจีนให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม เกิดการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นผลให้เศรษฐกิจของหลวงพระบางพึ่งพาจีนเป็นอย่างมาก และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในสกุลเงิน โดยประชาชนให้ความนิยมในการใช้จ่ายด้วยสกุลเงินหยวนมากกว่าสกุลเงินกีบ อีกทั้ง มีการใช้ภาษาจีนเป็นหลักในการติดต่อทางการค้าและการทำธุรกิจ ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และวัฒนธรรมดั้งเดิมของหลวงพระบาง โดยนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้วิเคราะห์และคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวทั้งมิติทางด้านการเงิน ความสัมพันธ์ภาคประชาชน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนของหลวงพระบางในอนาคต และได้วิพากษ์ว่าลาวได้นำความยั่งยืนทางการเกษตรของประเทศไปแลกเปลี่ยนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงของจีน (Cheng-Chwee Kuik and Rosli 2023) เมื่อวิเคราะห์ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวได้ว่าลาวไม่มีอำนาจการต่อรองกับจีน เป็นรองทั้งทางด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น การแสดงออกของลาวว่าตนเป็นพันธมิตรที่จริงใจ จึงอาจเป็นเพียงทางเลือกเดียวของลาว
ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะขอนำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนาของจีน ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทย และรถไฟความเร็วสูงส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสิบสองปันนาในลักษณะใด โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
เอกสารอ้างอิง