The Prachakorn

หัวอกแม่ที่ (ยัง) ไม่มีลูก


ดวงวิไล ไทยแท้

13 กันยายน 2567
359



ประเทศไทยก้าวสู่ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 เหตุเพราะเรามีประชากรสูงวัย (อายุเกิน 60 ปี) มากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด และอีกสาเหตุหนึ่งก็มาจากหญิงไทยมีลูกกันน้อยลงหรือไม่มีเลย ... แน่นอนว่าผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น

หากการมีลูกน้อยหรือไม่มีลูกเลยเป็นความผิด คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความผิด

การลดลงของอัตราเกิดของไทยเป็นการปฏิวัติขนาดของครอบครัวไทยครั้งใหญ่ ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2514 ประเทศไทยมีเด็กเกิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 1.2 ล้านคน1  50 ปี ต่อมา (พ.ศ. 2564) มีเด็กเกิดเพียง 5.4 แสนคน เฉพาะที่มีการจดทะเบียน นั่นคือในอดีตคนไทยมีลูกกันมาก เมื่อ 50 ปีก่อน ผู้หญิงไทยมีลูก 5-6 คนโดยเฉลี่ย แต่ทุกวันนี้กลับลดลงเหลือ 1.5 คนโดยเฉลี่ยเท่านั้น2

แล้วทำไมหญิงไทยมีลูกกันน้อยลงหรือไม่มีเลย

เมื่อจำนวนคนเกิดน้อย หนุ่มสาววัยเจริญพันธุ์ก็มีจำนวนน้อยลง ผู้หญิงไทยปัจจุบันนิยมเป็นโสดมากขึ้น แต่งงานน้อยลง บ้างมีความสัมพันธ์แบบต่างคนต่างอยู่ ถึงจำนวนมากจะแต่งงานอยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ยึดค่านิยม “ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง” เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในยุคนี้มองว่าการมีลูกคือภาระ ยุคสมัยเปลี่ยนไป คนวัยทำงานต่างตั้งหน้าตั้งตาทำงาน การมีลูกจึงเสมือนเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก เพราะต้องผูกพันไปตลอดชีวิต การเลี้ยงลูกหนึ่งคนต้องใช้ทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังใจเพื่อให้เด็กที่เกิดมาเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ

เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2566) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล3 ทำการสำรวจว่าเพราะเหตุใดคนไทยจึงไม่อยากมีลูก พบว่าส่วนใหญ่ไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 38.32) ตามมาติด ๆ คือ ไม่ต้องการมีภาระที่ต้องดูแล (ร้อยละ 37.72) ยังต้องการใช้ชีวิตอิสระ (ร้อยละ 33.23) กลัวจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดีพอ (ร้อยละ 17.66) และอยากให้เวลากับการทำงาน (ร้อยละ 13.77) จากสองเหตุผลสุดท้ายสะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่ผู้หญิงไม่อยากมีลูก แต่ด้วยปัจจัยอื่น ทำให้การมีลูกไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่หากถามใหม่ว่า “คุณอยากมีลูกหรือไม่” ปรากฏว่าเกินครึ่งบอกว่าอยากมีลูก (ร้อยละ 53.89) จากคำตอบนี้ ทำให้มีความ เอ๊ะ! ขึ้นมาว่า ผู้หญิงไทยก็อยากจะมีลูกกันนี่นะ แต่ว่าขอมีเมื่อพร้อมใช่หรือไม่ แล้วที่ว่าพร้อมคือเมื่อไหร่

หากคิดถึงเฉพาะความต้องการโดยไม่นึกถึงปัจจัยอื่นใด ผู้เขียนเองก็อยากมีลูก แต่ด้วยความไม่พร้อมและปัจจัยต่าง ๆ การมีลูกเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองคงไม่ใช่คำตอบ ณ เวลานี้

ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่มีลูก แต่มีหลานที่อยู่ในวัยน่ารัก สดใส ถึง 2 คน ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจความรู้สึกของปู่ยาตายายที่อยากให้มีเด็กเล็ก ๆ  มาเป็นแก้วตาดวงใจ แน่นอนที่ผู้เขียนตกหลุมรักเด็กน้อยสองคนนี้ และทุ่มเทความรักให้เสมือนเป็นลูกตัวเองเท่าที่พอจะทำได้ ซึ่งเชื่อว่ามีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่เป็นเช่นเดียวกัน คือ “ไม่มีลูก แต่รักหลานเหมือนลูก” จนบางครั้งดูเหมือนจะเกินหน้าเกินตาพ่อกับแม่ตัวจริงไปเสียอีก

การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู โดยเฉพาะด้านการศึกษา ช่วยให้เด็กมีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ทั้งนี้ เพื่ออนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ว่าบทบาทของแม่ที่ยังไม่มีลูกอาจไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ แต่ล้วนเกิดจากความรักและเต็มใจ และรู้สึกภูมิใจเมื่อเห็นพัฒนาการของเด็กดีขึ้น

หากกลับมาถามใหม่ เมื่อรักขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่มีเสียเอง ก็คงให้คำตอบเดิมนั่นคือ ยังไม่พร้อม

อัตราเกิดต่ำกลายเป็นวาระแห่งชาติและขยายเป็นวาระแห่งโลก ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมเพียง 1.0 ซึ่งต่ำกว่าญี่ปุ่น (1.21) และมีแนวโน้มที่อัตราเจริญพันธุ์รวมจะต่ำลงเช่นเดียวกับสิงคโปร์ (0.94) และเกาหลีใต้ (0.72) รัฐบาลไทยจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด จากผลสำรวจที่เล่าไปตอนต้นว่าปัญหาใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อรัฐทราบที่มาของปัญหา แล้วจะแก้ไขอย่างไร

เมื่อปลายปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ พิจารณาส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติใน 3 มิติ คือ ส่งเสริมให้มีความพร้อมที่จะมีบุตร พัฒนาปัจจัยสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ดีที่จะช่วยให้คนมีลูกเพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังรู้สึกว่ายังไม่สามารถโน้มน้าวให้คนเปลี่ยนใจมามีลูกเพิ่มได้

ถึงแม้ว่ารัฐจะมีนโยบายเอื้อต่อการมีลูกเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การตัดสินใจก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ความไม่พร้อมอาจเป็นเพียงข้ออ้างในการที่จะไม่มีลูก ซึ่งความท้าทายของรัฐคือ จะทำอย่างไรให้เหตุผลของความไม่พร้อมนั้น กลายเป็นความพร้อมจึงจะทำให้นโยบายส่งเสริมการมีบุตรนั้นสำเร็จได้

รูป เด็กชายหญิง (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้ปกครองแล้ว)


อ้างอิง

  1. ปราโมทย์ ประสาทกุล. (2565). เด็กเกิดน้อยลง ครอบครัวไทยก็เล็กลง. สืบค้นจาก https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=681
  2. ปราโมทย์ ประสาทกุล. (ม.ป.ป.). เด็กไทยเกิดน้อย แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี. สืบค้นจาก https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=36
  3. ไทยรัฐออนไลน์. (2566). วิกฤติคนไทยไม่อยากมีลูกเป็นปัญหาวาระแห่งชาติ ทำไมรัฐบาลที่ชอบคิดใหญ่ถึงยังไม่ลงมือทำ. สืบค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104112

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th