The Prachakorn

การสะสมทุน อุทกภัย และการเดินทางสู่ความล่มสลาย


ธีรนงค์ สกุลศรี

11 กันยายน 2567
622



ในช่วงวิกฤตการณ์ เรามักจะได้เห็นถึงความเปราะบางด้านระบบนิเวศ และเศรษฐกิจที่เกี่ยวโยงกัน และทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราก็ดูเหมือนจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลายวันที่ผ่านมา หลายท่านคงมีโอกาสได้ติดตามข่าวสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ระหว่างวันที่ 16-27 สิงหาคม 2567 รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช 68 อำเภอ 281 ตำบล 1,529 หมู่บ้าน พบว่า มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 33,597 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยจำนวน 9 ราย ในจังหวัดเชียงราย 2 ราย จังหวัดพะเยา 2 ราย จังหวัดน่าน 3 ราย และจังหวัดแพร่ 2 ราย (ผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง) และเสียชีวิตจากดินถล่ม ภูเก็ต 13 ราย  ผู้บาดเจ็บ 19 ราย บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 10,001 ครัวเรือน (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, 2567)

รูป: มวลน้ำบางส่วนที่ยังตกค้างอยู่ในจังหวัดแพร่ จาก THEOS-2 วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 10:41 น.
ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2567

ในทุกครั้งภายหลังสถานการณ์ หากเราอ่านข่าวจะพบคำกล่าวที่สรุปเป็นบทเรียน   คือ เรามีการเตรียมการ “ยังไม่ดีพอ” “ปริมาณน้ำฝนในปีนี้มากกว่าปกติ” และข้อเสนอในส่วนของการแก้ปัญหา คือ “เราควรมีการวางแผนแก้ไขทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อการวางแผนแก้ไข รับมือและป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก” ทั้งที่เราทุกคนอาจจะทราบกันว่า สาเหตุของการเกิดอุทกภัย นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ปริมาณน้ำฝน จากการที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จากลักษณะภูมิประเทศ เช่น ความสูงและความลาดชันของพื้นที่ จากลักษณะทางธรณีวิทยา เช่น ประเภทหรือลักษณะของดินที่อุ้มน้ำแล้ว ยังมีปัจจัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์   เช่น การตัดไม้ บุกรุกทำลาย เพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และในท้ายที่สุดมักนำไปสู่รูปแบบการสะสมทุนของผู้ที่มีปัจจัยและอำนาจทางเศรษฐกิจในลักษณะของ “ระบบทุนนิยม”

การสะสมทุนในระบบทุนนิยมนี้ เป็นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในกลุ่มนักสังคมศาสตร์ และนักสังคมวิทยามาอย่างยาวนาน โดยนักสังคมวิทยาท่านหนึ่งที่มีความสนใจในการอภิปรายประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติภายใต้การครอบงำของระบบเศรษฐกิจและทุนนิยมที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) นักสังคมวิทยาคนแรกๆ ที่เริ่มสังเกตถึงปรากฏการณ์ของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติภายใต้การครอบงำของระบบเศรษฐกิจและทุนนิยม และกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ ในหนังสือ Capital เล่ม 1 ว่า

"ความก้าวหน้าในเกษตรกรรมทุนนิยมทั้งหมด เป็นความก้าวหน้า ที่ไม่เพียงแต่ปล้นทรัพยากรของแรงงานเท่านั้น แต่ยังปล้นดินด้วย…การผลิตในแบบทุนนิยม พัฒนาเพียงเทคนิคและกระบวนการในการผลิตเท่านั้น แต่ในกระบวนการดังกล่าวนั้น ได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินและแรงงานที่เคยมีอยู่ลงไปอย่างสิ้นเชิง” (Karl Marx,1976)

ในกระบวนการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินและแรงงานตามที่ มาร์กซ์ กล่าวนั้น จะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบถึงกระบวนการทำการเกษตรในวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม ที่ผลผลิตที่ได้ จะเป็นไปเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ภายในชุมชน เศษของผลผลิตที่เหลือ เช่น เปลือกถั่ว วัชพืช จะถูกนำกลับคืนสู่กระบวนการผลิตเพื่อเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ในขณะที่กระบวนการทำการเกษตรในวิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรม ผลผลิตที่ได้จะถูกจำหน่ายออกไปภายนอกชุมชน ไปสู่เมือง เศษวัชพืชที่เคยเป็นธาตุอาหารและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ถูกส่งต่อออกไปยังที่ห่างไกล และกลายเป็นขยะในพื้นที่อื่น ซึ่งในการสร้างความอุดมสมบูรณ์สำหรับกระบวนการผลิตในรอบต่อๆไป จึงต้องใช้ปุ๋ยเคมีเป็นธาตุอาหารให้กับการผลิตพืชในรอบถัดไป โดยไม่สนใจกระบวนการคืนความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ในกระบวนการผลิตที่มนุษย์เข้าไปจัดการวงจรความสัมพันธ์ในรูปแบบหลังนี้ ได้ทำให้วงจรความสัมพันธ์ของกระบวนการสร้างและย่อยสลาย (metabolism) เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ดินที่เคยมีอยู่ตามกระบวนการทางธรรมชาติถูกขัดขวางและเกิดช่องว่าง (metabolic rift) (Clark and Richard, 2005) ซึ่งเราก็จะสังเกตเห็นว่า การทำการเกษตรในปัจจุบัน ยิ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยให้มากขึ้นเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ดินที่จะใช้ในการเพาะปลูกอันเป็นผลจากความเสื่อมโทรมของดิน และในขณะที่ยิ่งต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้น ดินก็ยิ่งเสื่อมโทรมมากขึ้นเช่นกัน

หากกระบวนการผลิตยังคงดำเนินไปบนเส้นทางของการสะสมทุนในลักษณะนี้ มนุษย์ก็ยิ่งจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการ "แก้ไข" วงจรความสัมพันธ์ของกระบวนการสร้างและกระบวนย่อยสลาย (metabolism) เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินซึ่งอาจจะยิ่งเป็นการการสร้างช่องว่างหรือรอยแยกใหม่ของวงจรความสัมพันธ์จนไม่สามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ และสร้างผลกระทบอื่นๆ ตามมาอย่างคาดไม่ถึง

หากกระบวนการผลิตยังคงดำเนินไปบนเส้นทางของการสะสมทุนในลักษณะนี้ วงจรความสัมพันธ์ของกระบวนการสร้างและกระบวนย่อยสลาย (metabolism) ยิ่งจะถูกทำลาย จากช่องว่าง จะกลายเป็น หุบเหวที่ไม่อาจแก้ไขได้ และเป็นเส้นทางที่เร่งนเข้าสู่หนทางแห่งความล่มสลายจนไม่สามารถหวนกลับมา -- "The race to the inferno"


เอกสารอ้างอิง

  1. กระทรวงมหาดไทย ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. (2567). รายงานสถานการณ์สาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. เว็บไซต์ https://www.disaster.go.th/home เข้าถึง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567.
  2. Karl Marx. (1976). Capital: A Critique of Political Economy Volume 1(Harmondsworth: Penguin). pp198, 199, 206, 210, 217, 228. All references to Capital in English are to the Penguin editions.
  3. Clark, Brett, and Richard York. (2005). “Carbon Metabolism: Global Capitalism, Climate Change, and the Biospheric Rift.” Theory and Society 34 (4): 391–428.
  4. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). (2567). ภาพจาก THEOS-2 วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 10:41 น. เห็นมวลน้ำบางส่วนที่ยังตกค้างอยู่ในจังหวัดแพร่. เว็บไซต์ https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=8043&lang=TH เข้าถึง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th