The Prachakorn

Lifelong learning: ให้ Life ได้ลอง Learning (Thailand edition)


ธีรนันท์ ธีรเสนี

17 กันยายน 2567
282



คำว่า “การเรียน” ทำให้คุณคิดถึงอะไร?
ห้องเรียน
สถานศึกษา
กองตำรา
วิชาต่างๆ

หรือว่า “หนึ่งในความสามารถอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์” กันนะ

“การเรียน” นับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เริ่มจำความได้ก็ว่าได้ เมื่อสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก มักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า ชีวิตวัยเรียนนั้นเป็นชีวิตที่สบายที่สุดแล้ว หากแต่ในขณะนั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้เท่าใดนัก เนื่องจากทุกครั้งที่คิดถึงคำว่าการเรียน คำที่มักจะพ่วงตามมาด้วยกันนั้นมักจะเป็น “ความเหนื่อย” “ความยาก” หรือ “ความเบื่อหน่าย” กลายเป็นว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปในแง่ลบเสียมากกว่า

คำกล่าวนี้ยังทำให้ตัวผู้เขียนเองเกิดแนวคิดที่ว่าชีวิตคนเรานั้นแบ่งแยกเป็นช่วงเป็นตอนอย่างชัดเจน เกิดมาในวัยเด็ก ต่อมาเป็นวัยเรียน เรียนจบเข้าสู่วัยทำงาน และเปลี่ยนเป็นวัยเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งแนวคิดนี้ส่งผลให้ผู้เขียนเกิดความเข้าใจไปเองอีกว่าพอหมดวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงานแล้ว เราก็คงจะไม่ต้องเรียนแล้วแหละ ชีวิตการศึกษาก็น่าจะจบลงได้สักที (เย่)

และขอขอบคุณทุกๆ อย่างที่ทำให้ความคิดนี้ของผู้เขียนได้ถูกกำจัดทิ้งไป ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยินคำว่า ”Lifelong learning” หรือ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” นั้น เกิดความรู้สึกสงสัยที่มีความตื่นเต้นปนอยู่ด้วย เหมือนชุดความเชื่อเดิมค่อยๆ ถูกลบออกไป และทดแทนด้วยแนวคิดใหม่นี้ เราต่างรู้ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ และคำว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” นั้นก็เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้เราไม่ลืมพลังวิเศษในการเรียนรู้นี้ไป ทั้งยังทำให้เราตระหนักได้ว่า การเรียนนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนหรือวัยเรียนเพียงเท่านั้น และนั่นเหมือนกับการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบ

บทความนี้จึงขอพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับคำนี้ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งแนวทางและสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อส่งเสริม การเรียนรู้ ให้อยู่ใน ตลอดช่วงชีวิต โดยจะเน้นไปที่บริบทของประเทศไทยเป็นหลัก

ในช่วงหลังมานี้ คำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ปรากฏมากขึ้น จากความสำคัญที่ส่งผลต่อทั้งในแง่การพัฒนาด้านตัวบุคคล และความสำคัญจนอาจจะถึงขั้นจำเป็นต่อสังคมและประเทศชาติในภาพรวม ที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ รวมถึงในด้านประชากรเอง จะมีช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตไปมากกว่า ณ ปัจจุบัน ที่เด็กที่เกิดใหม่จะมีอายุยืนยาวขึ้น บวกกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ก็มากขึ้นด้วย หากเราจะหยุดการเรียนรู้ไว้อยู่แค่นิยามของคำว่าวัยเรียน ก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในหลายๆ มิติเป็นอย่างมาก การเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รูป 1: SDG 4: Quality Education
ที่มา: https://www.linkedin.com/pulse/how-technology-can-help-drive-sdg-4-quality-education-talal-gedeon/

สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 25421 มาตรา 4 ได้ให้ความหมายของ “การศึกษา” ว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

จะเห็นได้ว่าแค่ความหมายของ “การศึกษา” ที่อยู่ในพระราชบัญญัติฯ นั้นก็กว้างและดึงเราออกมาจากบริบทในห้องเรียนไปแล้ว

นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติฯ ยังได้ให้ความหมายของ “การศึกษาตลอดชีวิต" ไว้ว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่าง การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ผู้เขียนเห็นด้วยกับการผสมผสานทั้ง 3 รูปแบบการศึกษาอันได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย แต่เหมือนกับว่า ณ ปัจจุบันสังคมไทยของเรา ยังเทน้ำหนักไปที่การศึกษาในระบบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเองนั้นเข้าใจได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นความพยายามของหลายภาคส่วนในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ ในบทความนี้จะขอนำเสนอ 4 ตัวอย่างของการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย

ตัวอย่างที่ 1 ด้านกฎหมาย มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 25662 แทนพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนให้กลายเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต มีลักษณะเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล 2) การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง มีลักษณะเป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ 3) การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ มีลักษณะเป็นการเรียนตามระบบการศึกษานอกโรงเรียนที่นำมาเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานได้3

ตัวอย่างที่ 2 ด้านเครือข่ายความร่วมมือ เมื่อช่วงต้นปี 2567 นี้ กรุงเทพมหานคร ได้รับคัดเลือกเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC ภายใต้แนวคิด "Learning for Life, Opportunities for All" (การเรียนรู้เพื่อชีวิต โอกาสสำหรับทุกคน) และวิสัยทัศน์ในการสร้าง “เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน” ที่ประกอบไปด้วยแนวทางการดูแลตั้งแต่เด็กปฐมวัย พัฒนาการศึกษาภาคบังคับ พัฒนาทักษะอาชีพ ไปจนถึงผู้สูงอายุ และมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน4

ตัวอย่างที่ 3 ด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ Thai MOOC (Thailand Massive Open Online Course) โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานให้กับประชาชนไทย โดยสามารถเรียนฟรีและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนไทยเกิด “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning)5

ตัวอย่างที่ 4 ด้านการตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา วัดทองบน กรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากความตั้งใจจะสานฝันการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้สูงวัยในชุมชน ของ ลิขิต ลิ้มรสรวย (ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘โรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย’ หรือโรงเรียนผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหลักสูตรการเรียนรู้ของโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาจะแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ 1) มิติสุขภาพ 2) มิติการเรียนรู้เรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวัน (‘วิชาชีวิต’) 3) มิติวิชาชีพ (เน้นในเชิงสันทนาการเพื่อเป็นงานอดิเรก) ผสานไปกับมิติวิชาการเกี่ยวกับสิทธิและกฎหมายต่างๆ 4) มิติวัฒนธรรมและประเพณี และ 5) มิติเทคโนโลยี6

รูปที่ 2: โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา
ที่มา: https://www.eef.or.th/ปริญญาชีวิต-บัณฑิตปัจฉิ/

จากทั้ง 4 ตัวอย่างนี้ จึงกล่าวว่าสังคมไทยได้ก้าวสู่เส้นทางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว แม้อาจจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังมีอีกหลากหลายปัจจัยอันจำเป็นที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นการเดินทางในระยะยาว และหากเราเชื่อในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเดินทางในการสร้าง สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต นี้ก็คงจะไม่มีเส้นชัยที่เป็นจุดจบ เพราะถนนแห่งการเรียนรู้นี้สามารถขยายต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แล้วคุณล่ะ พร้อมแพ็คกระเป๋าออกเดินทางไปด้วยกันหรือยัง :)


อ้างอิง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. (2563, 12 ตุลาคม). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ฉบับอัพเดท). เข้าถึงได้จาก https://www.moe.go.th/backend/wp-content/uploads/2020/10/1.-พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ-พ.ศ.2542-ฉ.อัพเดท.pdf
  2. พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566. (2566, 19 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 140 ตอนที่ 20 ก, หน้า 60-72.
  3. The Kommon. (2567, 8 พฤษภาคม). ประเทศไทยไต่บันไดวาระโลก… แบบไหนถึงเรียกว่า ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’?. เข้าถึงได้จาก https://www.thekommon.co/lifelong-learning-thailand/
  4. สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร. (2567, 3 เมษายน). กทม. ได้เป็น UNESCO Learning city แล้วทำอย่างไรต่อ??. เข้าถึงได้จาก https://pr-bangkok.com/?p=371892
  5. THE STANDARD. (2564, 22 พฤศจิกายน). รู้จัก ‘Thai MOOC’ แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ของไทย ตอบโจทย์ ‘Lifelong Learning’ เทรนด์การเรียนรู้ตลอดชีวิต [ADVERTORIAL]. เข้าถึงได้จาก https://thestandard.co/thai-mooc/
  6. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2566, 23 สิงหาคม). ปริญญาชีวิต-บัณฑิตปัจฉิมวัย: ‘โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา’ คลาสเรียนวิชาชีวิตของผู้สูงวัยไฟแรง. เข้าถึงได้จาก https://www.eef.or.th/ปริญญาชีวิต-บัณฑิตปัจฉิ/

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th