The Prachakorn

ยุทธศาสตร์จีน: พลวัตใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอนจบ)


บุรเทพ โชคธนานุกูล

27 กันยายน 2567
119



ความเดิมตอนที่ 2 ผู้เขียนได้นำเสนอการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้วยรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนและลาว อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในหลวงพระบาง และนำเสนอบทวิเคราะห์ตอนท้ายบทว่า ด้วยบริบทของลาวในเวทีระหว่างประเทศไม่มีอำนาจการต่อรองกับจีนมากนัก แม้ว่าในลาวจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางทรัพยากรของลาวก็ตาม แต่ลาวก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอของจีน

ในตอนที่ 3 (ตอนจบ) ผู้เขียนขอนำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจังหวัดปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา Xishuangbanna (ผู้เขียนขอใช้คำแทนว่า สิบสองปันนา) อันเป็นผลมาจากการเปิดใช้บริการรถไฟความเร็วสูง ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยการพาผู้อ่านทำความรู้จักกับสิบสองปันนา สิบสองปันนาตั้งอยู่ทางใต้สุดของจีนในมณฑลยูนนาน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชาติไตและอยู่ร่วมกับชาติพันธุ์ที่หลากหลายมากถึง 45 กลุ่ม (Zhang, Kono et al. 2015) ในอดีตดินแดนแห่งนี้เคยเป็นอาณาจักรเชียงรุ่งและประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นชนชาติที่มีภาษา ประเพณี ความเชื่อทางศาสนาพุทธ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม ที่มีหลักฐานเชิงวิชาการและเชื่อได้ว่าไทลื้อเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน. 2566)

ในอดีตการท่องเที่ยวสิบสองปันนาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยความหลากหลายทั้งจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งการเรียนรู้ทางชาติพันธุ์ มรดกทางวัฒนธรรม ประเพณีและเทศกาลสำคัญ กอปรกับสิบสองปันนาได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยว ทั้งทางอากาศผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติกาซาสิบสองปันนา (Xishuangbanna Gasa Airport) และจุดที่ผู้เขียนต้องการเน้นคือการเชื่อมต่อทางบกด้วยรถไฟความเร็วสูง ซึ่งได้เปิดให้บริการสถานีรถไฟความเร็วสูงสิบสองปันนา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2021 และเป็นรูปแบบการเดินทางที่สำคัญในการเชื่อมต่อสิบสองปันนากับเมืองอื่น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และเกิดการขนส่งสินค้าได้อย่างรวมเร็ว สร้างการเติบโตด้านเศรษฐกิจให้กับสิบสองปันนาเป็นอย่างมาก

รูป 1 และ 2: สถานีรถไฟความเร็วสูงสิบสองปันนา
รูปโดย: คณะดูงานสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่)

กล่าวได้ว่าการเดินทางและการขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูง สร้างความสะดวกสบาย ระยะเวลารวดเร็ว และราคาค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการเดินทางทางอากาศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติให้ความนิยมในการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงสู่สิบสองปันนา สิ่งดังกล่าวได้ส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวของไทย ด้วยนักท่องเที่ยวจีนจำนวนหนึ่งที่มีความตั้งใจว่าอยากจะเดินทางมาท่องเที่ยวที่เมืองไทย ได้เปลี่ยนจุดหมายปลายทางมาเป็นสิบสองปันนาแทน ด้วยลักษณะสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม (China Odyssey Tours. 2023) และวิถีชีวิตของกลุ่มคนไทลื้อมีลักษณะคล้ายกับการเดินทางมาเที่ยวทางเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ แต่การเดินทางมายังสิบสองปันนานั้นทำได้สะดวกมากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางระหว่างประเทศ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการสื่อสารที่สะดวกด้วยการใช้ภาษาจีนเป็นหลัก

รูป 3 และ 4: หมู่บ้านไทลื้อ และวัดป่าเชต์มหาราชฐาน
รูปโดย: คณะดูงานสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่)

จากการที่สิบสองปันนามีความคล้ายคลึงกันกับไทยและลาว จึงเป็นช่องทางสำคัญให้สิบสองปันนามีแนวคิดในการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร และรูปแบบอื่น ๆ ที่คล้ายกับไทย เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวไทย เข้าสู่สิบสองปันนาดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยผู้เขียนพบว่ามีกลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่นชาวจีนจำนวนมาก ให้ความนิยมในการท่องเที่ยวที่หมู่บ้านไทลื้อ และแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย อีกทั้ง ยังได้ถ่ายภาพและลงสื่อออนไลน์ของตน รวมถึง การมีป้ายสัญลักษณ์ สิ่งปลูกสร้าง อาคารสถานที่ และร้านค้า ในลักษณะเดียวกับไทย เช่น เจดีย์ทองคําใหญ่ ตลาดเก้าจอมสิบสองเชียง ซึ่งมีคนขายอาหารและผลไม้ไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ขายของประจำร้านได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไทย และป้ายสัญลักษณ์ที่กำกับด้วยภาษาไทย สิ่งดังกล่าวได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของสิบสองปันนา และดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของสิบสองปันนา สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นคำตอบสำคัญให้กับไทยว่า เหตุใดนักท่องเที่ยวจีนจึงให้ความนิยมเดินทางมาเที่ยวในไทยลดลงในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา


รูป 5, 6, 7: เจดีย์ทองคําใหญ่ และป้าย สิ่งปลูกสร้างที่มีภาษาไทย
รูปโดย: คณะดูงานสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่)

ผู้เขียนขอปิดท้ายตอนจบของงานเขียนชุดนี้ ด้วยการชวนผู้อ่านตั้งคำถามถึงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่างจีนและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์หลักของชาติคู่สัญญาปลายทางหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วโครงการดังกล่าวเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ของจีนในการครอบงำประเทศอื่น ๆ ภายใต้การใช้วาทกรรม “เชื่อมโยง และสร้างการพัฒนาร่วมกัน”


เอกสารอ้างอิง

  • Zhang, L., et al. (2015). "The expansion of smallholder rubber farming in Xishuangbanna, China: A case study of two Dai villages." Land Use Policy 42: 628-634.
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน. ไทลื้อ. เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2567. เข้าถึงได้จากhttps://ethnicity.sac.or.th/database-ethnic/183/.
  • China Odyssey Tours. Xishuangbanna Travel Guide: Lost Gem of Yunnan. เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2567. เข้าถึงได้จาก https://www.chinaodysseytours.com/yunnan/xishuangbanna.html.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th