The Prachakorn

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน


วิภาพร จารุเรืองไพศาล

02 ตุลาคม 2567
163



หากเรามองไปรอบๆ ตัวเรา จะพบว่า มีอีกหลายต่อหลายคนที่ยังรอให้เกิดความสุขขึ้นในชีวิตของพวกเขาบ้าง เนื่องจากสำหรับบางคนแล้ว คำว่าความสุขก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างง่ายดายนัก1 โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ความสุขอาจมาจากการที่มีคนส่งมอบหรือแบ่งปันมาให้

การมีน้ำใจ คือ มีความจริงใจ เห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทร และพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปัน หรือเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น รวมทั้งเข้าใจและเห็นใจผู้ที่มีความเดือดร้อน2 เราจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือภัยพิบัติต่างๆ จะมีการให้ความช่วยเหลือมากมายจากพี่น้องชาวไทย ดังคำพูดที่ได้ยินและได้เห็นกันบ่อยๆ คือ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ทุกคนยังคงไม่ลืมกัน

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 หรือที่เรียกกันว่า “มหาอุทกภัย” เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท3

เหตุการณ์ “ถ้ำหลวง” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 จากข่าวเด็กติดถ้ำธรรมดา กลายเป็นปฏิบัติการกู้ภัยที่ซับซ้อนและยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในโลก เมื่อทีมกู้ภัยต้องทำงานแข่งกับเวลาท่ามกลางสภาพภายในถ้ำที่มีความซับซ้อน และกระแสน้ำที่มาพร้อมกับพายุฝนที่ทวีความยากของภารกิจครั้งนี้ขึ้นไปอีก จนต้องระดมนักดำน้ำที่เก่งที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล พร้อมทีมงานหมุนเวียนรวมกว่าหมื่นชีวิตที่พยายามต่อสู้กับระดับน้ำภายในถ้ำ ท้ายที่สุดเหตุการณ์ก็จบด้วยรอยยิ้ม เมื่อทีมกู้ภัยสามารถลำเลียงหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้สำเร็จ ปิดฉากภารกิจระดับโลก 17 วันที่คนทั้งโลกเอาใจช่วย4

“สถานการณ์โควิด-19” ที่มีการระบาดไปทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 กว่า 7 ล้านคน ปัจจุบันในประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิดและมีผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีทั้งเจ็บป่วยรุนแรงและไม่รุนแรง รวมทั้งประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบ และผู้ป่วยโควิดบางรายพบอาการหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือที่เรียกว่า ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post Covid-19 Syndrome ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดภาวะลองโควิดที่แน่ชัด และอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม5

“มีน้ำใจ”

จากเหตุการณ์หรือภัยพิบัติต่างๆ ทำให้เราได้เห็นน้ำใจของคนในสังคมที่แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็สามารถส่งมอบความสุขหรือช่วยคลายความทุกข์ให้กับผู้อื่นได้ และในท้ายที่สุด การมีน้ำใจก็จะสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับผู้ให้เช่นกัน น้ำใจดี หรือ Happy Heart จึงเป็นอีกหนึ่งมิติที่ร่วมสะท้อนคุณภาพชีวิตและความสุขของคนในสังคม ศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้สำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขของคนทำงานในสถาบันการศึกษา จำนวน 6,038 คน ในช่วงปี 2565 พบว่า คนทำงานได้ค่าคะแนนเฉลี่ยมิติ “น้ำใจดี (Happy Heart)” อยู่ที่ 72.40 (คะแนนเต็ม 100) โดยมากกว่า 4 ใน 5 (ร้อยละ 85.9) ของกลุ่มตัวอย่าง มีความเต็มใจและยินดีในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ในระดับมากถึงมากที่สุด รองลงมาคือ รู้สึกเอื้ออาทร/ห่วงใยแก่คนรอบข้าง (ร้อยละ 84.0) ให้การช่วยเหลือแก่คนรอบข้าง (ร้อยละ 76.6) ทำกิจกรรมที่สามารถทำได้ด้วยตนเองและมีประโยชน์ต่อสังคม (ร้อยละ 60.8) และเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (ร้อยละ 48.9) (แผนภูมิ 1)

แผนภูมิ 1 ร้อยละของกิจกรรมในมิติการมีน้ำใจดีของคนทำงานในสถาบันการศึกษา

เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า คำตอบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ คนทำงานทั้งเพศชาย เพศหญิง และเพศทางเลือก เต็มใจและยินดีในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมสูงที่สุด (ร้อยละ 79.6, 79.7 และ 79.7 ตามลำดับ) รองลงมา คือ มีความรู้สึกเอื้ออาทร/ห่วงใยแก่คนรอบข้าง ให้การช่วยเหลือแก่คนรอบข้าง ทำกิจกรรมที่สามารถทำได้ด้วยตนเองและมีประโยชน์ต่อสังคม และเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (แผนภูมิ 2)

แผนภูมิ 2 ร้อยละของกิจกรรมในมิติการมีน้ำใจดีของคนทำงานในสถาบันการศึกษา จำแนกตามเพศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามเจเนอเรชัน (Generation) ในแต่ละกิจกรรม พบว่า ร้อยละ 81.9 ของคนทำงาน Gen BB เต็มใจและยินดีในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมสูงที่สุด เช่นเดียวกัน คนทำงาน Gen X (ร้อยละ 80.8) และคนทำงาน Gen Y (ร้อยละ 78.8) ในขณะที่ คนทำงาน Gen Z รู้สึกเอื้ออาทรและห่วงใยคนรอบข้างมากที่สุด (ร้อยละ 78.6) นอกจากนี้ ผลการสำรวจฯ ยังพบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้คะแนนน้อยที่สุดในทุกกลุ่มเจเนอเรชัน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะคนทำงานไม่สะดวกในการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมที่อยู่ไกลหรือกิจกรรมที่ตรงกับเวลาทำงาน จึงทำให้คนออกไปร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมีน้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ (แผนภูมิ 3)

แผนภูมิ 3 ร้อยละของกิจกรรมในมิติการมีน้ำใจดีของคนทำงานในสถาบันการศึกษา จำแนกตามเจเนอเรชัน

การแบ่งปันน้ำใจสามารถทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับโอกาสของแต่ละคน เช่น การให้ความช่วยเหลือพาคนชรา คนพิการหรือคนตาบอดข้ามถนน การเป็นจิตอาสาในกิจกรรมต่างๆ การแบ่งปันหรือบริจาคสิ่งของ การมีน้ำใจยังสร้างความสุขที่ไม่มีข้อจำกัดทางเชื้อชาติหรือภาษา ดังตัวอย่างที่เราเห็นได้ในข่าวมากมายเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่ได้พบเจอคนไทยที่มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือจนทำให้เขารักประเทศไทยและชื่นชมน้ำใจของคนไทยอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจด้านมิติการมีน้ำใจดีของคนทำงานฯ ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยภาพรวมและรายกิจกรรมที่เห็นได้ว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง บ่งบอกได้ถึงความมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน ให้ความช่วยเหลือ แบ่งปันน้ำใจ เต็มใจและยินดีที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและสังคม

ความมีน้ำใจดีของคนไทยสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในสถานการณ์น้ำท่วมของประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ซึ่งขณะที่เขียนบทความนี้ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคกลาง6 และยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องสำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุลูกใหม่ เมื่อเราได้ติดตามข่าวจากสื่อโซเชียลช่องทางต่างๆ จะเห็นได้ว่า มีองค์กรและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งจิตอาสา และบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย ได้แสดงน้ำใจเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ดารา นักร้อง อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) และยูทูบเบอร์ (YouTuber) ต่างร่วมอาสาเป็นสะพานบุญ เปิดรับการระดมทุนและรับบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องอุปโภค-บริโภค และของใช้ที่จำเป็นต่อความต้องการของผู้ประสบภัย เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ไฟฉาย

รูปภาพ น้ำท่วมเชียงราย
ที่มา: https://thestandard.co/chiang-rai-flooding-10000-affected/

บทความที่เขียนขึ้นมานี้เป็นมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เมื่อเข้าไปในโลกโซเชียลและได้พบข่าวเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ผู้เขียนได้เห็นการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความมีน้ำใจดีของคนไทย จึงอยากส่งต่อให้ทุกคนได้เห็นว่า ในช่วงวิกฤตหรือภัยพิบัติต่างๆ ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ออกมาช่วยเหลือกัน เพียงแค่แบ่งปันน้ำใจให้กันก็สามารถทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นอีกมากเลย ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ขอให้ยิ้มสู้ไปด้วยกัน ผู้เขียนขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนและเชื่อว่าคนไทยไม่ทิ้งกันแน่นอน ขอให้ทุกคนก้าวผ่านเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปได้นะคะ


เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). (ออนไลน์). การมีน้ำใจเริ่มต้นได้ทุกที่ทุกเวลา. สืบค้นจาก https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/74d39e9e-3af7-ec11-80fa-00155db45613# เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567
  2. ไทยรัฐ. (2561). (ออนไลน์). มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ เท่ากับมีเมตตาต่อผู้อื่น. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1457478 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567
  3. วิกิพีเดีย. (2567). (ออนไลน์). อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ.2554. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2554#cite_note-2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567
  4. THE STANDARD TEAM. (2565). (ออนไลน์). เหตุการณ์ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง. สืบค้นจาก https://thestandard.co/onthisday23062561/ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567
  5. World Health Organization. (2567). (ออนไลน์). สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย: 7 กุมภาพันธ์ 2567. สืบค้นจาก https://www.who.int/thailand/news/detail/07-02-2024-update-on-covid-19-in-thailand--7-february-2024-THA  เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567
  6. ไทยโพสต์. (2567). (ออนไลน์). อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม 10 จังหวัด เร่งระดมกำลังช่วยผู้ประสบภัย. สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/hi-light/658689/ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th