เมื่อพูดถึง “ย่านเยาวราช” เชื่อว่าผู้อ่านจำนวนมากมีภาพจำว่าเป็นพื้นที่การค้าสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน และเป็นพื้นที่หลอมรวมทางวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลายเชื้อชาติที่มีมายาวนานมากกว่า 200 ปี แต่ภาพจำดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน อันเป็นผลจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนา และความต้องการด้านแรงงานที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ จึงส่งผลต่อวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชาชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ลดทอนความสัมพันธ์ของบุคคลในระดับชุมชน และเกิดการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรดั้งเดิมในย่านเยาวราช ไปยังที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ที่มีความสะดวกสบายมากกว่า มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ย่านเยาวราชกลายเป็นพื้นที่การค้า 24 ชั่วโมง อาคารพาณิชย์เดิมถูกดัดแปลงกลายเป็นห้องเช่าขนาดเล็กสำหรับอยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่มีความฝันและความหวังว่าการได้ทำงานในย่านเยาวราชจะช่วยสร้างรายได้มากกว่าพื้นที่อื่น ส่งผลให้ย่านดังกล่าวกลายเป็นตลาดแรงงานใหญ่ของต่างชาติในกรุงเทพฯ
เรื่องเล่าเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติในเยาวราช เกิดขึ้นจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้เชิงลึกในพื้นที่กับทางบริษัทปั้นเมือง จำกัด (ผู้เขียนขอใช้คำแทนว่ากลุ่มปั้นเมือง) ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปนิกและนักสังคมศาสตร์ที่มีความสนใจเรื่องการฟื้นฟูเมือง ภูมิทัศน์ผังเมืองกายภาพและสิ่งแวดล้อม และได้จัดทำโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูย่านเก่าเขตสัมพันธวงศ์ หรือไชน่าทาวน์ ด้วยกระบวนการสร้างพื้นที่สุขภาวะอย่างมีส่วนร่วมจากชุมชน เพื่อให้ชุมชนและเมืองสามารถเติบโตด้วยกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน จากการดำเนินการของกลุ่มปั้นเมืองพบว่าเยาวราชในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากย่านที่อยู่อาศัยและการค้าของชาวจีน กลายเป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติท เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ด้วยความเป็นพื้นที่ธุรกิจการค้าตลอด 24 ชั่วโมง และมีความต้องการด้านแรงงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เยาวราชกลายเป็นย่านการค้าแรงงานต่างชาติขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ชวนเชิญแรงงานจากต่างแดน ที่มีความเชื่อว่าการทำงานในไทยจะช่วยสานฝันและเปลี่ยนแปลงชีวิต ให้สามารถสร้างฐานะที่ดียิ่งขึ้นมากกว่าการทำงานในประเทศต้นทางของตน ดังนั้น ย่านเยาวราชจึงเปรียบดังพื้นที่สร้างงานและสานฝันของแรงงานต่างชาติ
แรงงานต่างชาติเมียนมาจำนวนหนึ่งเลือกมาทำงานในไทย เพราะต้องการหลบหนี้ภัยสงครามและความขัดแย้ง อันส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในบ้านเกิด อีกทั้งความแตกต่างด้านรายได้ของการทำงานในไทยที่ได้รับค่าแรงสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต้นทาง (แม้ว่าแรงงานต่างชาติดังกล่าวจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าแรงที่ได้พบว่าน้อยกว่าการทำงานรับจ้างในไทย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในย่านเยาวราช พวกเขาสามารถทำงานในหลากหลายด้าน เช่น ร้านอาหาร ตลาดสด โรงงานผลิตขนาดเล็ก ก่อสร้าง และรับจ้างประเภทต่าง ๆ ได้กลายเป็นโอกาสให้กับแรงงานต่างชาติในการทำงานสร้างรายได้ที่มากกว่าการทำงานในพื้นที่อื่น
ในความเป็นจริงสภาพการทำงานที่แรงงานต่างชาติต้องเผชิญในชีวิตประจำวันไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักในสภาพแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ การไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการแรงงานที่เหมาะสม เนื่องมาจากไม่ได้เป็นแรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้รับค่าแรงในราคาถูก รวมถึง การถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างชาติเหล่านี้ไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องมุ่งมั่นทำงาน เพื่อส่งเงินกลับประเทศให้ครอบครัว
รูป 1: การรับจ้างจัดร้านขายของ ของแรงงานต่างชาติย่านเยาวราช
รูปโดย: คณะดูงานสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่)
การทำงานของแรงงานต่างชาติย่านเยาวราชเต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเริ่มจากในช่วงเช้ามืดแรงงานต่างชาติจะทำการรับจ้างขนสินค้าและจัดเรียงสินค้าในตลาดสด จากนั้นในช่วงสายของวันจะไปทำงานในร้านอาหาร หรือรับจ้างประเภทอื่น ๆ โดยการทำงานในร้านอาหารเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากจะได้รับประทานอาหารฟรีพร้อมกับได้รับค่าจ้าง การมีอาหารกลางวันฟรีสามารถช่วยประหยัดค่าครองชีพให้กับแรงงานต่างชาติได้อย่างมาก ต่อด้วยในช่วงค่ำยาวจนถึงรุ่งเช้าของวัน แรงงานต่างชาติจะทำงานรับจ้างขนย้ายสินค้าและการจัดเรียงร้านสินค้าในร้านค้า เพื่อเตรียมขายของในช่วงรุ่งเช้า จากลักษณะการทำงานดังกล่าวทำให้เกิดการจ้างงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจากการทำงานในพื้นที่ของกลุ่มปั้นเมือง พบว่าแรงงานต่างชาติหนึ่งคนสามารถทำงานเป็นระยะเวลา 12-18 ชั่วโมงต่อวัน และสร้างรายได้ประมาณเดือนละ 20,000-25,000 บาท
รูป 2: ห้องเช่า ที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติย่านเยาวราช
รูปโดย: คณะดูงานสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่)
ในช่วงเวลาที่ว่างจากการทำงาน เช่น วันหยุด หรือเทศกาลสำคัญ แรงงานต่างชาติจะพบปะสังสรรค์ร่วมกันกลุ่มเล็ก ๆ ในห้องเช่าของอาคารพาณิชย์ (ดูรูป 2) โดยกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ได้แก่ การทำอาหารบ้านเกิด หรือการฉลองเทศกาลตามวัฒนธรรมของตน เช่น เทศกาลสงกรานต์ หรือลอยกระทง นับเป็นการผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน และการได้แบ่งปันเรื่องราวร่วมกันของเพื่อนที่มาจากเชื้อชาติเดียวกัน ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเหงาที่เกิดขึ้นจากการทำงานต่างถิ่น ในขณะเดียวกัน แรงงานต่างชาติยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรม โดยพวกเขาไม่เพียงแต่เรียนรู้วัฒนธรรมไทย แต่ยังนำเอาวัฒนธรรมของตนเองมาแลกเปลี่ยน เช่น การแต่งกาย ความเชื่อทางศาสนา ดนตรีพื้นบ้าน และการทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทยที่อาศัยในชุมชนดั้งเดิมและแรงงานต่างชาติที่ย้ายเข้ามาอาศัยใหม่
แม้ว่าในช่วงเวลาการทำงาน แรงงานต่างชาติจะต้องเผชิญกับความยากลำบากและอุปสรรคเป็นจำนวนมาก แต่แรงงานต่างชาติในเยาวราชยังคงมีความหวังและความฝันในอนาคต ว่าพวกเขาจะนำเงินเก็บออมจากการทำงานและรอวันที่จะกลับบ้านเกิด โดยนำเงินดังกล่าวกลับไปใช้สร้างบ้านอยู่อาศัย หรือเปิดธุรกิจเล็ก ๆ ตามประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานในไทย เพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข ดังนั้น แรงงานต่างชาติจึงมีความมุ่งมั่น มีความอดทนในการทำงาน และเก็บออมเงินที่ได้รับจากการทำงาน อีกทั้งแรงงานต่างชาติจำนวนหนึ่งได้มีการเรียนรู้และฝึกฝนการใช้ภาษาไทย หรือทักษะอาชีพด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสและค่าจ้างในการทำงาน ผู้เขียนพบว่า แรงงานต่างชาติจำนวนหนึ่งสามารถเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารและมีธุรกิจเป็นของตนเองในไทย
“ฝันข้ามแดน” ของแรงงานต่างชาติในเยาวราช จึงไม่เป็นเพียงแค่การเดินทางในมิติทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเดินทางในมิติทางความคิดและจิตใจ ซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยความหวังและความมุ่งมั่น แม้จะเผชิญกับความยากลำบากจากการทำงาน แต่แรงงานต่างชาติยังคงสู้อย่างไม่ย่อท้อ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับตนเองและครอบครัว ย่านเยาวราชจึงเปรียบเสมือนกับเวทีแห่งความฝันของแรงงานชาติในไทย
ขอขอบคุณ: บริษัทปั้นเมือง จำกัด ในการอนุเคราะห์นำพาผู้เขียนเข้าศึกษาเชิงลึกในพื้นที่ย่านตลาดน้อย ย่านเยาวราช และย่านสำเพ็ง รวมถึง การสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มแรงงานต่างชาติในพื้นที่