The Prachakorn

เที่ยวตุรกี ตามรอยอารยธรรมกรีกและโรมัน


สุภรต์ จรัสสิทธิ์

25 ตุลาคม 2567
177



จุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้ง เพราะมาจากการหลับตาแล้วใช้มือจิ้มไปบนแผนที่โลกเพื่อเลือกประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางครั้งใหม่ และประเทศที่ได้เดินทางไปก็คือ “ตุรกี” หรือ “ทูร์เคีย” นั่นเอง ประเทศนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มากมาย แค่คิดว่าจะได้ไปเห็นอารยธรรมกรีกและโรมันที่ตั้งอยู่รอบนอกกรุงคอนสแตนติโนเปิล หรือเมืองอิสตันบูลในปัจจุบัน ก็รู้สึกตื่นเต้นแล้ว

เมืองกรีกโบราณเอเฟซุส ร่องรอยที่หลงเหลือของอารยธรรมกรีกและโรมัน

ครั้งแรกที่ได้เห็นภาพหอสมุดแห่งเมืองเอเฟซุสก็คิดไว้ว่าจะต้องมาที่แห่งนี้สักครั้ง แม้ว่าหอสมุดจะเคยถูกรุกราน เกิดไฟไหม้และแผ่นดินไหว แต่ส่วนโครงสร้างตึกด้านหน้าของหอสมุดยังคงหลงเหลือลวดลายทั้งบนช่องเพดานหรือรูปปั้นเทพเจ้าที่อยู่ประจำเสาหินอ่อนทั้งสี่ต้น ยังคงตั้งอยู่ให้ผู้คนในโลกปัจจุบันได้ชื่นชม ที่ด้านหน้าหอสมุดมีขั้นบันไดเกือบ 10 ขั้น ยกตัวอาคารจากพื้น ทำให้หอสมุดดูโดดเด่นและใหญ่โต ดังที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหอสมุดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในช่วงยุคโรมัน


รูป: หอสมุดแห่งเมืองเอเฟซุส
รูปโดย: สุภรต์ จรัสสิทธิ์์

สถานที่อีกแห่งคือ โรงละครประจำเมือง (the great theatre) หรือจะเรียก Ephesus amphitheater ก็ไม่ผิด เพราะเป็นโรงละครที่สร้างเป็นลักษณะครึ่งวงกลม รองรับผู้ชมได้ถึง 25,000 ที่นั่งแม้ว่าจะถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยยุคกรีก แต่เมื่อถึงยุคโรมันได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติม ทำให้เป็นโรงละครที่มีวัฒนธรรมผสมผสานทั้งแบบกรีกและโรมัน ผู้เขียนไต่ที่นั่งแต่ละชั้นที่สูงเพื่อขึ้นไปนั่งชั้นบน มองไปที่เวทีและบริเวณโดยรอบทั้งหมด แม้จะมีบางส่วนที่ปรักหักพังไปบ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการสร้างโรงละครบนเนินเขาตามลักษณะโรงละครแบบชาวกรีก

แม้ว่าเมืองโบราณแห่งนี้จะเป็นซากปรักหักพังไปแล้ว แต่หลายจุดก็พอเหลือร่องรอยให้จินตนาการได้ว่า เมืองนี้ในอดีตน่าจะเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ หากโรงละครสามารถจุคนได้มากถึง 25,000 คนแล้ว ประชากรในยุคนั้นก็น่าจะมีจำนวนไม่น้อย มีนักวิชาการหลายคนคาดประมาณว่า จำนวนประชากรในเมือง เอเฟซุสน่าจะมีถึงห้าหมื่นกว่าคน หรือมากไปจนถึงสามแสนคน ขึ้นอยู่กับวิธีการคาดประมาณ อย่างไรก็ตามการสำมะโนประชากรในสมัยนั้นนับเพียงจำนวนผู้จ่ายภาษีเท่านั้น จึงอาจจะทำให้ตัวเลขประชากรที่นับได้ต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ในบางทฤษฎีใช้การคาดประมาณจากจำนวนที่นั่งในโรงละครและให้เพิ่มไปอีก 10 เท่า หากเป็นเช่นนี้แล้ว เมืองเอเฟซุสในยุคโรมัน ก็น่าจะมีจำนวนประชากรอยู่ราว 300,000 คน ก็เป็นได้

โรงละคร Aspendos ที่ยังคงสมบูรณ์ที่สุดแห่งเมือง Antalya

ประมาณ 400 กว่ากิโลเมตรจากเมืองเอเฟซุส จะพบกับโรงละครอีกหนึ่งแห่งที่มีความสมบูรณ์ถึงขนาดถูกใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงาน The 31st International Aspendos Opera and Ballet Festival เมื่อเดือนกันยายน 2567 โรงละครนี้ตั้งอยู่ในเมือง Antalya เมืองเก่าชายทะเลเมดิเตอเรเนียน โดยโรงละคร Aspendos ถูกสร้างขึ้นในยุคโรมัน รองรับผู้ชมได้ประมาณ 15,000 คน มีความสมบูรณ์ทางโครงสร้างตั้งแต่ประตูทางเข้าไปจนถึงกำแพงชั้นบนสุดของที่นั่ง ชั้นบนสุดของโรงละครมีแนวเสาหินแบบกรีก และเป็นทางเดินแบบซุ้มเพดานโค้ง มีความสมบูรณ์และสวยงามกว่าที่อื่นมาก ตามที่กล่าวกันว่าเป็นโรงละครโบราณที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด


ภาพ: โรงละคร Aspendos ที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์
ภาพโดย สุภรต์ จรัสสิทธิ์

Pamukale ปราสาทปุยฝ้าย มหัศจรรย์ธรรมชาติที่ไม่ได้นุ่มเหมือนชื่อ

Pamukale เป็นภาษาตุรกี แปลว่า ปราสาทปุยฝ้าย ทางเดินขึ้นเนินเขามีลักษณะเป็นร่องแอ่งน้ำแร่สีฟ้าบนหินปูนสีขาว ข้างบนเนินเขาจะมีทั้ง Hierapolis theater โรงละครอีกหนึ่งแห่งที่มีลักษณะแตกต่างกับที่อื่น และยังมี Cleopatra’s antiquepool ซึ่งเชื่อกันว่าครั้งหนึ่งพระนางคลีโอพัตราเคยมาแช่น้ำแร่ในที่แห่งนี้ การมาชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาตินี้ มีทางเข้าที่มาจากเนินเขาด้านบนปราสาทปุยฝ้าย หรือจะเลือกมาจากด้านล่างเนินเขา และจะต้องเดินขึ้นเขาด้วยเท้าเปล่ากว่า 3 กิโลเมตร เนื่องจากที่นี่ไม่อนุญาตให้ใส่รองเท้าเดินขึ้นบนเขาได้ ผู้เขียนตั้งใจแล้วที่จะเดินตามเส้นทางนี้ จึงเลือกเวลาช่วงเย็นที่จะไม่ร้อนเกินไป โดยระหว่างทางต้องเดินลุยน้ำตามแอ่ง บางจุดอาจจะลื่นบ้าง บางจุดหินเป็นชะง่อนแหลมบ้าง ซึ่งก็อาจจะทำให้เจ็บเท้าได้ หากใครไม่นิยมเส้นทางนี้ อาจเลือกเส้นทางที่สามารถใช้รถเดินทางไปถึงทางเข้าบนเนินเขาด้านบนได้


ภาพ: เส้นทางเดินเท้าเปล่าบนเนินเขาหินปูน Pamukale
ภาพโดย สุภรต์ จรัสสิทธิ์

ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะเล่าถึงอารยธรรมยุคออตโตมัน หลังกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกตีแตก มีสถานที่น่าสนใจในตุรกีอีกหลายแห่งทีเดียว

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th