ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งสิ่งดึงดูดใจทางธรรมชาติ สิ่งดึงดูดใจที่มนุษย์สร้างขึ้น ตลอดจนความร่ำรวยทางศิลปะและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ ที่สำคัญคือ เสน่ห์ของชาวไทยที่เป็นมิตรกับนานาประเทศ เปิดกว้างยอมรับในความหลากหลายของนักท่องเที่ยวที่มีความเชื่อและรสนิยมแตกต่างกัน
จากการจัดเก็บข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระหว่าง พ.ศ. 2552 ถึง 2566 (ประมาณการ) ปรากฏนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 5 อันดับแรกที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ดังนี้
นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ด้วยพรมแดนที่ติดกับภาคใต้ของไทยสะดวกต่อการเดินทาง วัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียไม่เคยหล่นจาก 5 อันดับแรกเลยการยกระดับคุณภาพบริการทางการท่องเที่ยว อาจจำเป็นต้องเรียนรู้แนวคิดทางศาสนาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งมอบบริการทางการท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจได้อย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาโรงแรมฮาลาล การปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับการทำพิธีกรรมทางศาสนา
นักท่องเที่ยวชาวจีน มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก พ.ศ. 2552 ที่อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 815,708 คน ทะยานสู่อันดับ 1 อย่างต่อเนื่องในช่วง พ.ศ. 2555 – 2563 ทั้งยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงสุดใน พ.ศ. 2562 ด้วยจำนวน 11,138,658 คน ภายหลังลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่มีแนวโน้มกลับมาทวงคืนอันดับ 1 อีกครั้ง ด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เพียบพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ รสนิยม และการแสดงออกอย่างเหมาะสม
นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และชาวเกาหลีใต้ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวดั้งเดิม นิยมเดินทางท่องเที่ยวแบบอิสระ มักเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ ชื่นชอบวัฒนธรรม อาหาร แหล่งบันเทิง สนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม ตีกอล์ฟ สปา แต่ด้วยมาตรฐานคุณภาพชีวิตของทั้งสองประเทศที่สูง จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพของบริการทางการท่องเที่ยวให้ใกล้มีมาตรฐานเคียงกับประเทศต้นทางให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เพื่อรักษาแรงจูงใจในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง
นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย นิยมท่องเที่ยวแบบพักผ่อนระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด เช่น พัทยา ภูเก็ต มีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง แต่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งผลต่อกำลังซื้อ และความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย นิยมท่องเที่ยวแบบครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ช้อปปิ้ง สถานบันเทิง สนใจการจัดงานแต่งงานและฮันนีมูนในประเทศไทย ด้วยระยะทางที่ใช้เวลาในการเดินทางไม่นานมากนัก จึงเป็นจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวที่สมเหตุสมผลสำหรับนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย แต่การยกระดับคุณภาพบริการทางการท่องเที่ยว จำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรม และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดรับกับคุณลักษณะของชาวอินเดียมากขึ้น
ถึงแม้ว่า นักท่องเที่ยวทั้ง 5 สัญชาติหลักที่เดินทางมายังประเทศไทย จะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากนัก แต่การรักษาสมดุลของแต่ละตลาดที่ไม่พึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป เป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลงได้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย2 ดังนั้น การรักษากลุ่มนักท่องเที่ยวเดิม และการขยายฐานกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ตลอดจนการสร้างสรรค์กิจกรรมทางการท่องเที่ยวควบคู่กับการยกระดับคุณภาพบริการอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
5 อันดับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระหว่าง พ.ศ. 2552 – 2566
หมายเหตุ: ตัวเลขประมาณการของกรมการท่องเที่ยว
ที่มา: รวบรวมข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว1
เอกสารอ้างอิง