The Prachakorn

เทรนด์ใหม่มีสัตว์เลี้ยงเป็นลูก สวนกระแสเด็กเกิดน้อย


ศุทธิดา ชวนวัน

31 ตุลาคม 2567
9



ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์เป็นลูกเสมือนคนในครอบครัว หรือ “pet parent” กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แทนที่การเลี้ยงสัตว์แบบ pet lover ที่แค่อยากเลี้ยงเพราะรัก หรืออยากมีแค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น เมื่อค่านิยมของคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนไป ประชากรในวัยทำงานมีแนวโน้มอยู่เป็นโสดและไม่แต่งงานกันมากขึ้น หรือแต่งงานแล้วไม่มีบุตร เมื่อเป็นผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ตามลำพังคนเดียวหรือสองคนต่อไป การอยู่ตามลำพังทำให้เกิดความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรืออาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทางจิตใจ เช่น ความซึมเศร้า ความสิ้นหวัง ความรู้สึกไร้ค่า สถานการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ผู้คนพยายามหาที่พึ่งพิงทางจิตใจ เพื่อมาช่วยบำบัดจิตใจ คลายความเหงา หรืออยู่เป็นเพื่อน จึงทำให้สัตว์เลี้ยงได้เข้ามาเติมเต็ม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโดยไม่รู้ตัว การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (Human-animal interactions: HAI) จึงกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คนจำนวนมากในทุกวัย และสัตว์เลี้ยงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว

การสำรวจประชากรสุนัขและแมวในปี 2566 โดยศูนย์บัญชาการเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์1 พบว่า จำนวนประชากรสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกปี โดยในปี 2566 สุนัขและแมวที่มีเจ้าของมีจำนวนสูงถึง 5.8 ล้านตัว เป็นสุนัข 3.8 ล้านตัว และแมว 2.0 ล้านตัว การมีสัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว เป็นปรากฏการณ์สวนกระแสกับจำนวนเด็กเกิดของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2566 สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 517,934 คนเท่านั้น 

หมาแมว ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

เดี๋ยวนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนมากมองตนเองว่าเป็น “พ่อแม่” ของสัตว์เลี้ยง โดยไม่ใช่แค่ผู้ดูแลหรือเจ้าของเท่านั้นแต่เป็นผู้ที่ให้ความรัก ดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงในแบบเดียวกับการดูแลสมาชิกครอบครัวหรือเด็กคนหนึ่ง พร้อมทุ่มเททั้งเงิน และการเลี้ยงดู จนแทบไม่ต่างไปจากลูกคนหนึ่ง หรือที่เราเรียกว่า “ทาสหมา” “ทาสแมว” นั่นเอง แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแส pet humanization ซึ่งทำให้สัตว์เลี้ยงถูกมองว่าเป็นมากกว่าแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็น “ลูก” หรือสมาชิกครอบครัวที่ต้องการความใส่ใจดูแลเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง ทั้งในด้านสุขภาพ อาหาร การออกกำลังกายอารมณ์ความรู้สึก การท่องเที่ยว และการอยู่อาศัย

pet humanization ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนลูกเท่านั้น แต่เป็นการมองสัตว์เลี้ยงว่ามีส่วนสำคัญในชีวิตของมนุษย์ที่มีผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อการเลี้ยงลูกยุคนี้มีต้นทุนสูง คนหนุ่มสาวต้องการหาประสบการณ์ในชีวิต และให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ดังนั้นจึงทำให้คนรุ่นใหม่อยู่เป็นโสดและหลายคู่อยู่ด้วยกันโดยไม่มีลูก ครอบครัวในลักษณะนี้ส่วนใหญ่เลือกที่จะมีสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นน้องหมาน้องแมว เป็นโซ่ทองคล้องใจทดแทนการมีลูก ซึ่งถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงปัจจุบัน อาจจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็คงไม่เท่ากับการเลี้ยงดูบุตรหนึ่งคนตลอดช่วงชีวิต

USA Today Blueprint ปี 2566 เสนอผลการสำรวจเจ้าของสุนัข 1,000 คนทั่วประเทศในเว็บไซต์ mediapost2 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกันจำนวนมากเลือกที่จะเลี้ยงสุนัขมากกว่าเลี้ยงลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลและเจนซีที่พบสูงถึง 67% ของกลุ่มตัวอย่าง ประชากรกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ผลักดันแนวโน้ม pet humanization มากที่สุด เพราะเลื่อนเวลาการแต่งงานและการมีลูกออกไปจนกว่าจะมีความพร้อม แต่จะหันมาดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นลูกทดแทนเสมือนหนึ่งในสมาชิกครอบครัว นอกจากนี้ผลการสำรวจได้สะท้อนว่า เกือบสามในสี่ (74%) ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเจนซี/คนรุ่นมิลเลนเนียล กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายของการเลี้ยงดูลูก เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เลือกเลี้ยงสุนัขมากกว่า เพราะการดูแลสุนัขเป็นเรื่องง่ายกว่า และมีราคาไม่แพงเท่ากับการดูแลบุตรหนึ่งคน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเลี้ยงสุนัขจะมีราคาถูกกว่า แต่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงสุนัขก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)3 เก็บข้อมูลจากคนไทยจำนวน 1,046 คน อายุระหว่าง 24-41 ปี พบว่า 49% ของกลุ่มตัวอย่าง ต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (pet parent) และ “ค่าใช้จ่าย” ในการเลี้ยงสัตว์แบบทั่วๆ ไปพบว่า 39% ของกลุ่มตัวอย่าง มีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001-2,000 บาท แต่ถ้าในกลุ่มเจ้าของที่ “เลี้ยงสัตว์เป็นลูก” จะยิ่งยอมจ่ายค่าดูแลสัตว์เลี้ยงมากขึ้นเป็นเท่าตัว


รูป 1: น้องลูกหมีกับคุณตาของลูกหมี
รูปโดย: ศุทธิดา ชวนวัน

สัตว์เลี้ยงช่วยคลายเหงา รับแนวโน้มสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว และอยู่ตามลำพังเฉพาะคู่สมรสมากขึ้น แน่นอนว่า “การอยู่ตามลำพัง” อาจทำให้รู้สึกถึงความเหงา เปล่าเปลี่ยว หรือมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางด้านจิตใจ หนึ่งในวิธีช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงา ได้บำบัด และกลับมามีชีวิตชีวาอีก คือ การเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน หรือเลี้ยงสัตว์เป็นลูก มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับสัตว์เลี้ยงที่ช่วยบำบัดและเยียวยาทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย หรือเรียกว่า “animal therapy” คือ การนำสัตว์มาร่วมในโปรแกรมการบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และฟื้นฟูสภาพจิตใจ 

 
แผนภูมิ: สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียวกับอยู่กับคู่สมรสเท่านั้น
แหล่งข้อมูล: วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย
พ.ศ. 2537, 2545, 2550, 2554, 2557, 2560, และ 2564, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ปัจจุบันมีข้อมูลสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับสัตว์เลี้ยงทำให้เกิดการสนับสนุนทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ต่อผู้สูงอายุ ดังเช่น สัตว์เลี้ยงสามารถลดความเหงา ความกังวล ช่วยเพิ่มพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น การเดินและการออกกำลังกายอื่นๆ รวมถึงเป็นผู้ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนทางด้านจิตใจ เมื่อผู้สูงอายุต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป และที่สำคัญที่สุดสัตว์เลี้ยงยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพ
ชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย4

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ในโอลิมปิก 2024 ที่ตอบรับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยง ดังเช่น สมาคมยิมนาสติกสหรัฐฯ (USAG) ได้นำ “น้องบีคอน” สุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ วัย 4 ขวบ ทำหน้าที่มอบความรัก คอยปลอบโยนจิตใจ คลายความเครียด ความกังวลให้กับเหล่านักกีฬายิมนาสติกในระหว่างการฝึกซ้อม และการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน จากผลดังกล่าวได้ทำให้สหรัฐฯ คว้าเหรียญทองยิมนาสติกมาได้หลายรายการ (ดูรูป 2)


รูป 2: “น้องบีคอน” สุนัขบำบัดนักกีฬายิมนาสติก สหรัฐอเมริกา ในกีฬาโอลิมปิก 2024

pet marketing ธุรกิจสัตว์เลี้ยงกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ปัจจุบันธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อแนวโน้มของคนยุคนี้นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนลูกกันมากขึ้น มีสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากมาย และหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อหาตามกำลังทรัพย์ ทำให้สัตว์เลี้ยงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของมนุษย์ ดังเช่น ธุรกิจอาหารสัตว์ อุปกรณ์การเลี้ยงดู ของเล่น คลินิก-โรงพยาบาลรักษาสัตว์ โรงแรม คอนโดมิเนียม หรือร้านอาหารคาเฟ่ ที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปใช้บริการได้ นอกจากนี้สัตว์เลี้ยงยังช่วยสร้างรายได้ให้กับมนุษย์ ผ่านการให้ความบันเทิงที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรักสัตว์เลี้ยง เช่น ยูทูบเบอร์สายสัตว์เลี้ยง ส่วนภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์เลี้ยงและสินค้าอยู่ในโฆษณาสินค้าส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้นๆ และที่น่าสนใจคือ มีธุรกิจการทำประกันชีวิตสัตว์เลี้ยง และการดูดวงให้สัตว์เลี้ยง ถือว่าเป็นการตอบโจทย์พ่อแม่ยุคใหม่ที่มีลูกเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางจิตใจ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันสัตว์เลี้ยงได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น เมื่อสังคมไทยเราเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว หากผู้สูงอายุมีน้องหมาหรือน้องแมวสักตัวให้ได้คอยดูแล ได้รับความรักความผูกพันจากสัตว์เลี้ยง และเลี้ยงดูเสมือนเป็นลูกหลานอีกคน ก็น่าจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่อยากมีชีวิตยืนยาว มีกำลังใจดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีต่อไป


เอกสารอ้างอิง

  1. ศูนย์บัญชาการเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2567). ข้อมูลสำรวจประชากรสุนัขและแมว. http://www.online.rabiesonedata.ku.ac.th/ สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2567
  2. Mediapost. (2023). 67% Gen Z, Young Millennials Choose Pets Over Kids https:// www.mediapost.com/publications/article/391965/67-gen-z-young-millennials- choose-pets-over-kids.html สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2567
  3. กรุงเทพธุรกิจ. (2023). หมดยุคคนอยากมีลูก? ผลสำรวจชี้ คนไทยกว่า 49% เลือกเลี้ยง “สัตว์เลี้ยง” แทนลูก. https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1048207 สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 25674.
  4. Gee NR, Mueller MK, Curl AL. Human-Animal Interaction and Older Adults: An Overview. Front Psychol. 2017 Aug 21;8:1416. doi: 10.3389/fpsyg.2017.01416. PMID: 28878713; PMCID: PMC5573436.
     

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th