The Prachakorn

เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ใครกันที่เสี่ยงต่อภัยไซเบอร์?


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

05 พฤศจิกายน 2567
119



ภัยไซเบอร์ หรือ ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปัจจุบันมีจำนวนมากและมูลค่าความเสียหายมหาศาล ระหว่าง 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 มิถุนายน 2567 พบว่ามีการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด 575,507 เรื่อง1 คดีที่แจ้งผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสายด่วน 1441 คิดเป็นประมาณ 77% ของคดีทั้งหมด2 มูลค่าความเสียหายคดีออนไลน์รวมกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท1

อาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งข้อความหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นผู้โชคดี แล้วให้แอดไลน์ เพื่อให้เหยื่อส่งข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ดำเนินการในทางที่ผิดแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย การหลอกให้รักแล้วลงทุน (romance scammer) การหลอกให้กดลิงก์หรือติดตั้งแอปดูดเงิน การขโมยรหัสผ่านโดยการหลอกให้กรอกข้อมูลผ่านลิงก์หลอกลวง และการหลอกให้โอนเงินจากความกลัว 

การใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของประชากรไทยมีสัดส่วนสูงมาก จึงถือได้ว่าประชากรไทยเกือบทั้งหมดเป็นประชากรเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ การสำรวจประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ประมาณ 65.9 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 59.0 ล้านคน (89%) ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 62.9 ล้านคน (95%) ไม่แตกต่างมากนักระหว่างในเขตเทศบาล (97%) และนอกเขตเทศบาล (94%) ประชากรไทยใช้สมาร์ทโฟน (smart phone) 96% ในส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปใช้สมาร์ทโฟน 84% และฟีเจอร์โฟน (feature phone) 16%3 การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2565 แสดงให้เห็นว่า ประชากรไทยใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน4 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ประชากรตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 59 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 90% ส่วนผู้สูงอายุเกินกว่าครึ่งใช้อินเทอร์เน็ต (62%)3 ดังแสดงในแผนภูมิ

 
แผนภูมิ: การใช้อินเทอร์เน็ตของประชากร 6 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2567 (ไตรมาส 1) จำแนกตามกลุ่มอายุ
แหล่งข้อมูล: การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2567 (ไตรมาส 1) สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2565 พบว่า 13% มีปัญหาการถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต4 ส่วนมากของเหยื่อคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นผู้หญิงอยู่ในวัยทำงาน (64%)1 ซึ่งอาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ 

นอกจากนี้ คดีผู้ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ระหว่าง พ.ศ. 2565- มิ.ย. 2567 มีจำนวนสูงถึง 279,943 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุวัยเกษียณ (62%) ซึ่งมีเงินเก็บ เช่น เงินบำนาญ กองทุน และเบี้ยผู้สูงอายุ การที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ลำพังคนเดียวในช่วงเวลากลางวันที่ลูกหลานไปทำงานและการติดโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้สูงอายุถูกหลอกลวง เนื่องจากผู้สูงอายุอาจขาดความรู้ทางเทคนิคในการใช้โซเชียลมีเดีย ไว้ใจคนง่าย และอาจจะมีฐานข้อมูลที่มิจฉาชีพเข้าถึงได้ง่าย ผู้สูงอายุจึงตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและสูญเสียทรัพย์สิน5

เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ บทเรียนจากคดีที่เด็กชายอายุ 15 ปี ถูกหลอกลวงให้ลงทุนซื้อสินค้าเพื่อทำยอดส่วนแบ่งรายได้ โดยแอบถอนเงินของพ่อแม่ไปจำนวน 15,000 บาท แต่ผลไม่เป็นไปตามเป้าหมายจนเกิดความเครียดและฆ่าตัวตาย แม้ว่าจำนวนทรัพย์สินที่เสียหายไม่มาก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวไม่อาจประเมินค่าได้ พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ขอให้พ่อแม่และผู้ปกครองสังเกตว่าผู้ไม่หวังดีนั้น “หลอกจะให้เงิน เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้าท้าให้เปิดกล้อง” หากเข้าข่ายนี้เป็นไปได้สูงว่า เด็กและเยาวชนอาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ 

สัดส่วนประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีโทรศัพท์มือถือที่สูงถึงกว่า 90% ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล อาจเป็นตัวชี้วัดเศรษฐฐานะที่ดีขึ้นของประชากร เพราะสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐและบริการต่างๆ ได้สะดวก อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันของประชากรในทุกช่วงวัยทั้ง เด็ก เยาวชน บุรุษ สตรี และผู้สูงอายุ อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์ ดังนั้นการรู้เท่าทันอุบายของมิจฉาชีพผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารเหล่านี้ จึงจะช่วยให้รอดปลอดภัยจากมิจฉาชีพ


เอกสารอ้างอิง

  1. คมชัดลึก. เปิดสถิติ ‘เหยื่อ’ อาชญากรรมไซเบอร์ ผู้หญิง - วัยทำงาน. 2567. https://www. komchadluek.net/news/crime/581174 (เข้าถึงเมื่อ 24 สิงหาคม 2567).
  2. ประชาชาติธุรกิจ. เปิดสถิติแจ้งความออนไลน์ คนไทยสูญเงินรวมกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท. 2567. https://www.prachachat.net/ict/news-1514260 (เข้าถึงเมื่อ 24 สิงหาคม 2567).
  3. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2567 (ไตรมาส 1) นนทบุรี: สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2567.
  4. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. การสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2565. กรุงเทพฯ: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม; 2566. 
  5. Thai PBS. “ผู้สูงอายุ” เป้าหมายใหม่มิจฉาชีพ ช่องโหว่เงินออมเยอะ-อยู่คนเดียว. 2567. https://www.thaipbs.or.th/news/content/341523 (เข้าถึงเมื่อ 24 สิงหาคม 2567).

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th