กาลเวลาติดปีกบินผ่านไปอย่างรวดเร็ว วันนี้ย่างเข้าเดือนที่ 9 ของปี 2567 แล้ว เผลออีกแพล็บเดียวก็จะขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2568 ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเด็กตัวจิ๋ว เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษานุ่งกางเกงขาสั้นสีกากี ใส่รองเท้าผ้าใบสีน้ำตาลเดินไปโรงเรียนรัฐบาลประจำหมู่บ้าน เมื่อก่อนกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) จะมีชีวิตอยู่จนมานั่งเขียนบทความเรื่องประชากรในวันนี้
ณ วันนี้ ผมเป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” (อายุ 70-79 ปี) ที่ยังไม่ยอมปลดเกษียณตัวเอง ผมยังสนุกกับการทำงานอยู่ และจะขอทำงานวิชาการต่อไปอีกสักพัก เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจของผมส่งสัญญาณว่าผมควรจะหยุดแล้ว ผมก็พร้อมที่จะหยุดโดยที่จะไม่ฝืนสังขารของตัวเองอย่างแน่นอน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (ประเทศอาเซียนบวกสาม คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) เรื่อง “การเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีด้วยพลวัตครอบครัวและการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างรุ่น เพื่อมุ่งสู่สังคมสำหรับคนทุกวัย” ซึ่งจัดโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประชุมนี้น่าสนใจมากเพราะนำประเด็นเรื่องประชากรในภูมิภาคเอเชียที่กำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาพูดกัน เพื่อหามาตรการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย
ผมสนใจการสูงวัยของประชากรญี่ปุ่นเป็นพิเศษ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงที่สุดในโลก โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด คนญี่ปุ่นมีอายุยืนที่สุดในโลก คือ มีอายุคาดเฉลี่ยนับตั้งแต่เกิดจนตายประมาณ 84 ปี ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีศตวรรษิกชน หรือคนอายุ 100 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก คือมีมากกว่า 6 หมื่นคนในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ยาสุฮิโก ไซโตะ แห่งมหาวิทยาลัยนิฮอน ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง การดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ได้นำเสนอข้อมูลที่ชวนให้คิดหลายประเด็น ถ้าเราดูปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชากรสูงวัยขึ้นซึ่งได้แก่ การที่ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นและการเกิดที่น้อยลงแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าชาวญี่ปุ่นเป็นผู้นำในทั้งสองปัจจัยนี้อย่างครบถ้วน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงวัยมานานแล้วน่าจะเป็นเพราะผู้หญิงญี่ปุ่นมีลูกกันน้อยมากมาตั้งแต่เสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1950 ผู้หญิงญี่ปุ่นมีบุตรโดยเฉลี่ยไม่ถึง 4 คน แล้วลดลงมาเหลือเพียง 2 คนในปี 1960 จากนั้นจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิงญี่ปุ่นก็ลดลงมาจนเหลือเพียง 1.2 คน ในปัจจุบัน
เมื่อประมาณ 15 ปี หลังสงครามโลก ในขณะที่ผู้หญิงญี่ปุ่นมีบุตรเฉลี่ย 2 คน ซึ่งเป็นอัตราเจริญพันธุ์ระดับทดแทนนั้นประเทศอาเซียน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยยังมีอัตราเจริญพันธุ์ที่สูงมาก คือผู้หญิงคนหนึ่งมีบุตรเฉลี่ยประมาณ 5-7 คน
รูป: ผู้สูงอายุญี่ปุ่นหญิงกำลังทำงาน
AI generated
การที่คนญี่ปุ่นมีลูกกันน้อยลง ทำให้บรรทัดฐานการที่ลูกต้องเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ชาวญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมที่ลูกๆ จะต้องแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่เช่นเดียวกับคนเอเชียทั่วๆ ไป แต่เมื่อคนญี่ปุ่นมีลูกกันน้อยลง ครอบครัวก็เล็กลง วัฒนธรรมที่ดีเช่นนั้นก็เปลี่ยนไป ความคาดหวังที่จะพึ่งลูกยามแก่เฒ่าค่อยๆ จางไป ทัศนคติของผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเป็นภาระให้ลูกหลาน เริ่มมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ศาสตราจารย์ไซโตะ ได้นำเสนอกราฟเส้นแสดงแนวโน้มความคาดหวังที่จะพึ่งลูกยามชราที่ลดลงจากเกือบ 70% ในปี 1950 เหลือเพียง 10% ในปี 2004 พร้อมมีข้อความอธิบายสั้นๆ ว่า “ผู้สูงอายุเคยได้รับการดูแลโดยสมาชิกในครอบครัว” ผมก็เติมข้อความนี้ในใจว่า “ต่อไปนี้ก็ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว รวมทั้งในสังคมไทย”
ข้อความต่อไปเขียนว่า “ในทศวรรษที่ 1990 ญี่ปุ่นได้เริ่มโครงการสวัสดิการ “แผนทอง” (Golden Plan) เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาวที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก” ผมก็คิดในใจว่า ทุกวันนี้และต่อไปในอนาคตผู้สูงอายุไทยที่ต้องการการดูแลระยะยาวก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากเหมือนกับญี่ปุ่นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนเช่นกัน
ศาสตราจารย์ไซโตะ ได้นำเสนอนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุของญี่ปุ่นที่ได้ปรับตัวให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม “แหล่งบุคลากรและค่าใช้จ่าย” ในการดูแลผู้สูงอายุได้เคลื่อนจาก“ครอบครัว” มาเป็น “สังคม” ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแนวปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุจาก “สวัสดิการสังคม” (social welfare) มาเป็น “การประกันสังคม” (social insurance) ที่ต้องมีการจ่ายเบี้ยประกันและการจ่ายร่วม
นักประดิษฐ์ญี่ปุ่นคิดค้นนวัตกรรมมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และความสุขสบายใจให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น เช่น หมวกนิรภัย (ป้องกันการกระแทกเมื่อหกล้ม) หุ่นยนต์สารพัดประโยชน์
บางครั้งเมื่อฟังเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกแล้ว ผมก็เก็บมาคิดทบทวนว่าคนเราจะมีอายุยืนยาวมากๆ นั้นดีจริงหรือ คนญี่ปุ่นที่มีอายุมากๆ ใช่จะมีความสุขสบายด้วยกันทุกคน ผมเคยได้เห็นข้อมูลว่าคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ไร้ที่อยู่อาศัย และคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเหงาหงอย
เมื่อสองวันก่อน ข่าว BBC ไทยเผยแพร่ตามสื่อสังคมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตายอย่างโดดเดี่ยวของชาวญี่ปุ่น ข่าวว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมของปี 2024 นี้ มีคนญี่ปุ่นตายอย่างโดดเดี่ยว มากถึง 37,221 คน ส่วนมากหรือประมาณ 75% เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ผมไม่เห็นสถิติเกี่ยวกับเพศของคนญี่ปุ่นที่ตายโดดเดี่ยว แต่เข้าใจว่าน่าจะต้องเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชายมาก ผู้หญิงญี่ปุ่นจึงน่าจะอยู่คนเดียวเป็นจำนวนมาก
ตามข่าวนี้ คนที่ตายโดดเดี่ยวมีเพียง 40% ที่พบศพในวันเดียวกับที่เสียชีวิต ที่เหลือใช้เวลานานกว่า 1 วันก่อนที่จะพบศพ มีมากกว่า 4,000 ราย ที่พบศพหลังจากที่เสียชีวิตนานกว่า 1 เดือน และมีถึง 130 ราย ที่พบศพหลังเสียชีวิตแล้วนานเป็นปี
สถิติการตายโดดเดี่ยวของคนญี่ปุ่นนั้นบอกอะไรกับเรา ผมอยากจะให้พวกเราลองนึกถึงภาพคนตายโดดเดี่ยวว่า ก่อนตายเขามีชีวิตอยู่อย่างไร เขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวใช่หรือไม่ ปัจจุบันครอบครัวของชาวญี่ปุ่นเล็กลง ผู้หญิงมีลูกน้อยลง คนญี่ปุ่นที่อยู่คนเดียวหรืออยู่กันตามลำพังสองคนสามีภรรยาน่าจะมีจำนวนและสัดส่วนสูงขึ้น เมื่ออยู่คนเดียวในช่วงสุดท้ายของชีวิต ไม่ได้เข้าไปอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุก็ย่อมไม่มีใครที่จะช่วยดูแล และอาจต้องตายไปโดยไม่มีใครทราบเลย จนหลายวันผ่านไป หรือเป็นเดือน เป็นปี กว่าจะมีคนมาพบศพ
ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยที่อยู่คนเดียว หรืออยู่ลำพังกับคู่สมรสมีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น อีกไม่ช้า สถิติการตายอย่างโดดเดี่ยวของคนไทยก็คงเป็นข่าวดังในสังคมให้คนสังเวชอย่างแน่นอน